แนวทางการบริโภคผักพื้นบ้านตามฤดูกาล

คนตะวันออกเชื่อว่าการรับประทานอาหารอย่างสอดคล้องกับฤดูกาลเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทำให้สุขภาพสมดุลและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับในสังคมไทย

ทัศนะการแพทย์แผนไทย แผนดั้งเดิมเชื่อว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยธาตุ 4 (มหาภูติรูป 4) ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุแต่ละอย่างมีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างกัน และธาตุทั้ง 4 ยังเป็นแหล่งกำเนิดของโรค โรคจะบังเกิดกับธาตุใดธาตุหนึ่งจะต้องมีธรรมชาติภายนอกมากระทบหรือมูลเหตุอื่นๆ เช่น อาหาร อิริยาบถ อารมณ์ ฯลฯ ทำให้เสียสมดุล จึงเกิดโรคธรรมชาติภายนอกที่สำคัญคือ ธรรมชาติของความร้อน ความเย็น ความหนาว เมื่อธรรมชาติภายนอก มากระทบธาตุ 4 ภายใน หากร่างกายต้านทานไม่ไหวจะทำให้เจ็บป่วยได้หรือธรรมชาติภายนอกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหรือรุนแรงมากไป จนธรรมชาติภายในเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็จะเจ็บป่วยได้ เมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ดังนี้ เราควรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ จะทำให้หลีกเลี่ยงหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย การเลือกรับประทานอาหารหรือผักพื้นบ้าน ควรคำนึงถึงกฎเกณฑ์ดังกล่าว การรับประทานผักพื้นบ้านควรพิจารณาให้สอดคล้องกับฤดูกาลใน 3 ฤดูกาล

 ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม)

ในฤดูร้อนหรือปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน ความร้อนในธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น ความร้อนจากธรรมชาติภายนอกจึงมากระทบร่างกายและมักเป็นมูลเหตุที่ทำให้ธาตุไฟภายในร่างกายกำเริบขึ้น และหากกำเริบมาก อาจส่งผลต่อธาตุน้ำและธาตุดินตามลำดับ ความร้อนส่งผลให้ร่างกายมีอาการตัวร้อน ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย คอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะน้อยและสีเหลืองจัด หรืออาจเกิดเป็นเม็ดผดขึ้นตามร่างกาย อาการดังกล่าวสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยอาหารรสขมเย็น รสเปรี้ยว รสจืด อาหารเหล่านี้จะทำให้ความร้อนผ่อนคลายลงหรือช่วยลดความร้อน

ผักพื้นบ้านที่ควรรับประทานในฤดูร้อน เช่น มะระขี้นก ฮ้วนหมู ผักเฮือด ส้มป่อย ผักกูด ผักปลัง ตำลึง ผักบุ้ง ชะอม มะขาม ผักหวาน ไม่ควรรับประทานอาหารรสร้อน รสเผ็ดจัด รสมัน เพราะจะเป็นธาตุไฟในร่างกาย เป็นผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ลำไย ขนุน ทุเรียน เป็นต้น สำหรับเครื่องดื่มที่เหมาะสม ฤดูร้อน คือ ผลไม้รสเปรี้ยวเย็นคั้นและเติมเกลือเล็กน้อย จะช่วยคลายร้อนได้ ตัวอย่าง เช่น แตงโม ส้ม สับปะรด เป็นต้น

 ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-กันยายน)

เมื่อฤดูฝนย่างกรายเข้ามาความเย็นอันเป็นธรรมชาติของฤดูฝนเพิ่มมากขึ้น สำหรับภายในร่างกาย ธาตุลมอันเป็นธาตุที่มีลักษณะเคลื่อนไหวและมีธรรมชาติเย็นจะถูกกระทำโทษได้ง่าย ร่างกายจึงมักจะมีการเจ็บป่วยโดยมีมูลเหตุเป็นสำคัญ ความเย็นที่มีมากเกินไปจะกระทำธาตุลมให้เกิดอาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้หวัดได้ อาการดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยอาหารรสสุขุม รสเผ็ดร้อน ผักพื้นบ้านที่มีรสเผ็ดร้อน คือ ยอดพริก โหระพา ยี่หร่า แมงลัก กะเพรา หูเสือ ผักไผ่ พลูคาว ขิง ข่า ผักคาด กระทือ กระเจียว ผักแพว เอื้อง เป็นต้น

 ฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-มกราคม)

ความหนาวอันเป็นธรรมชาติของฤดูหนาว จะกระทบต่อร่างกาย หากร่างกายไม่อาจต้านทานได้ จะเกิดความเจ็บป่วย ความหนาวจะส่งอิทธิพลต่อธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยได้มากกว่าธาตุอื่น และจะทำให้มีอาการผิวแห้ง มึนศีรษะ น้ำมูกไหล ขัดยอก ขยับเขยื้อนร่างกายไม่สะดวก ท้องอืด อาหารที่เหมาะกับอากาศในช่วงฤดูหนาว คือ อาหารรสขมร้อน รสเผ็ด และรสเปรี้ยว ผักพื้นบ้านที่เหมาะสมในการรับประทานหน้าหนาวคล้ายกับผักพื้นบ้านที่รับประทานหน้าฝน ตัวอย่างเช่น ข่าอ่อน กระชาย พริกไทย ยอดพริก ขมิ้น ผักไผ่ ผักแพว และผักที่มีรสเผ็ดร้อนทุกชนิด

ผักพื้นบ้านที่แนะนำให้รับประทานตามฤดูกาลเหล่านี้มักจะออกยอดออกส่วนของพืชที่รับประทานได้ในฤดูกาลนั้นเช่นกัน เช่น ผักเฮือด ผักกูด มะระขี้นก บวบ มีในหน้าร้อน กระเจียว ผักไผ่ หูเสือ มีในฤดูฝน เป็นต้น จึงนับเป็นความสะดวกของผู้บริโภคที่สามารถเลือกผักบริโภคได้ตามฤดูกาลและยังเป็นผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

 

แนวทางการบริโภคผักพื้นบ้านตามธาตุเจ้าเรือน

การที่ชาวตะวันออกอยู่ใกล้ชิดและพึ่งพิงธรรมชาติรอบตัว ทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ประกอบการณ์ที่ยาวนานสะท้อนออกชัดเจนเกี่ยวกับอาหาร กลายเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการเลือกรับประทานที่สอดคล้องกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล คำกล่าวที่ว่า “ฉันชอบแตงโม กินแล้วรู้สึกสบาย แต่ไม่ชอบขนุน” หรือว่าข้อห้ามมีอาการเจ็บคอ คือห้ามรับประทานของที่มีน้ำมัน ของทอด เพราะเป็นของแสลง และเป็นฝีห้ามรับประทานข้าวเหนียว ลักษณะเช่นนี้มักพบอยู่ทั่วไป คนไทยสมัยก่อนมักสังเกตอาหารที่รับประทานให้เหมาะสมกับสุขภาพของตนเองหรือความชอบของตนเอง แม้ยามที่สุขภาพปกติก็ใช่ว่าทุกคนจะมีภาวะธาตุที่เหมือนกัน หรือมีสัดส่วนของธาตุแต่ละธาตุที่เท่ากันเสมอไป แต่ละบุคคลจะแสดงลักษณะเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หรืออาจเรียกได้ว่า “ธาตุเจ้าเรือน”

ทัศนะการแพทย์แผนไทยอันมีรากฐานในสายวัฒนธรรมการแพทย์แบบอายุรเวท (Ayurvedic Medicine) มีหลักการว่า ธาตุ 4 หรือธาตุ 5 เป็นองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ภายในองค์ประกอบดังกล่าว ธาตุที่มักเป็นต้นเหตุแห่งการแปรปรวนของร่างกายคือ ตรีธาตุ ตรีธาตุหมายถึง ปิตตะ วาตะ เสมหะ (ท่านที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้ศึกษาได้จากทฤษฎีการแพทย์แผนไทย) บุคคลแต่ละคนจะมีธาตุหนึ่งธาตุใดในตรีธาตุเด่นออกมา และจะแสดงออกเป็นบุคลิก นิสัยใจคออารมณ์ท่วงที ลีลาและพฤติกรรม รวมทั้งโรคและแนวโน้มการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น การแพทย์แบบอายุรเวทจำแนกลักษณะปกติของบุคคลเป็น 3 ลักษณะ คือ

  1. บุคคลที่มีปิตตะ (ธาตุไฟ) เด่น
  2. บุคคลที่มีวาตะ (ธาตุลม) เด่น
  3. บุคคลที่มีเสมหะหรือกผะ (ธาตุน้ำ) เด่น

เมื่อทราบธาตุเจ้าเรือนแล้ว การรับประทานอาหาร รวมถึงผักด้วย ควรคำนึงถึงรสของอาหารเพื่อช่วย

ป้องกันความเจ็บป่วย หลักการนี้สามารถใช้เลือกรสของผักพื้นบ้านที่เหมาะสมกับตัว โดยพิจารณาจากธาตุเจ้าเรือนและเลือกรสอาหาร รสของผักพื้นบ้าน ที่เหมาะสม ดังนี้

– ธาตุดินเป็นธาตุเจ้าเรือน ควรรับประทานอาหาร รสฝาด รสเค็ม รสหวาน รสมัน

– ธาตุน้ำเป็นธาตุเจ้าเรือน ควรรับประทานอาหาร รสเปรี้ยว รสขม

– ธาตุลมเป็นธาตุเจ้าเรือน ควรรับประทานอาหาร รสสุขุม รสเผ็ดร้อน

– ธาตุไฟเป็นธาตุเจ้าเรือน ควรรับประทานอาหาร รสขม รสเย็น รสจืด

 

การจำแนกรสของผักพื้นบ้าน

ชาวตะวันออกให้ความสำคัญกับรสของอาหารเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะรสของอาหารจะสะท้อนถึงคุณลักษณะเฉพาะของอาหารที่มีต่อร่างกาย ดังนั้น อาหาร รวมทั้งผักพื้นบ้าน สามารถจำแนกเป็น 9 รส ดังนี้

            ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรสของอาหารและสรรพคุณของอาหาร

รส สรรพคุณของอาหาร
รสฝาด ฝาดสมาน ปิดธาตุ หากรับประทานมากไปทำให้มีอาการฝืดคอ ท้องอืด ท้องผูก
รสหวาน ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง หากรับประทานมากไปทำให้ลมกำเริบ ง่วงนอน เกียจคร้าน
รสขม แก้โลหิตเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง หากรับประทานมากไปทำให้กำลังตก อ่อนเพลีย
รสเมาเบื่อ แก้พิษ ฆ่าพยาธิผิวหนัง
รสเผ็ดร้อน แก้โรคกองลม ลมจุกเสียด ปวดท้อง ลมแน่น ลมป่อง หากรับประทานมากไปทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและเผ็ดร้อน
รสมัน แก้เส้นเอ็นพิการ ปวดเสียว ขัดยอก กระตุก
รสหอมเย็น แก้ลมมืดหน้าตาลาย ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ
รสเค็ม สรรพคุณซึมซาบไปตามผิวหนัง ประดง ชา คัน หากรับประทานมากไปทำให้มีอาการกระหายน้ำ ร้อนใน
รสเปรี้ยว แก้เสมหะพิการ กัดฟอกเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย เจริญอาหาร หากรับประทานมากไปทำให้ท้องอืด แสลงแผล ร้อนใน

 

 รายการผักพื้นบ้านที่จำแนกตามรส

ผักพื้นบ้านจะมีลักษณะ รสชาติ กลิ่นที่มีความเฉพาะเจาะจง ผักพื้นบ้านแต่ละชนิดมักมี รสชาติใดเด่นรสชาติหนึ่งและมีรสอื่นแทรกมา มักจะไม่มีรสเดียว ดังนี้การจำแนกจึงสามารถบอกได้ในแง่รสชาติหลักของผักพื้นบ้าน

รสฝาด เช่น เนียงอ่อน ยอดจิก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ผักเม็ก ผักกระโดน ยอดฝรั่ง กล้วยดิบ ผลมะตูมอ่อน มะเดื่ออุทุมพร

รสหวาน เช่น ยอดพร้าว ยอดเต่ารั้ง ผักหวานป่า ผักเหมียง ผักหวานบ้าน กะหล่ำปลี ผักกาด ยอดโกศล มะเขือเครือ ผักพาย ผักปลัง บวบ แตง แค เห็ด ย่านาง ขิง

รสขม เช่น ฝักเพกา กุ่ม สะเดา มะระขี้นก ยอดหวาย (อมหวาน) ยอดกะพ้อ ดอกขี้เหล็ก ผักเพลี้ยฟาน ยอดมะเฟือง ผักแปม ยอดทับทิม ยอดฟักข้าว มะแว้งเครือ ผักฮ้วนหมู มะเขือขื่น ใบยอ ผักโขม ผักคะนองม้า ใบยอ/ลูก

รสเผ็ดร้อน เช่น พริก พริกไทย ดีปลี โหระพา ยี่หร่า กระเทียม แมงลัก กะเพรา สะระแหน่ หูเสือ ผักไผ่ ผักชี ฝรั่ง พลูคาว ใบจันทน์ ขิง ข่า ไพล กระชาย ขมิ้น กระพังโหม ผักคราดหัวแหวน กระทือ กระเจียว ชะพลู ผักแพว ผักแขยง เอื้อง

รสมัน เช่น สะตอ เนียง หมุย ทัมมัง กระพังโหม ผักกาด นกเขา บัวบก อมร เหรียง ยอดกุหลาบ ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง ผักกระเฉด หัวปลี ผักติ้ว ไข่ผำ มัน กระถิน กลอย ผักลืมชู้ จิก (อมฝาด) มันปู รากบัวหลวง ถั่วพื้นเมือง ชะอม

รสหอมเย็น (สุขุม) เช่น เตยหอม บัว โกศ เทียน

รสเปรี้ยว เช่น ส้มกบ ยอดแต้ว ส้มมุด (ดิบ) ส้มกุ้ง ส้มลม ออบแอบ สมอ (อมฝาด) ส้มเสี้ยว ยอดมะกอก (อมฝาด) ผักเสี้ยนดอง ผักหนามดอง ยอดส้มป่อย มะเขือส้ม ยอดมะขาม มะขามอ่อน มะกรูด มะนาว มะเฟือง ยอด กระเจี๊ยบแดง ผักเฮือด ลูกมะยม ยอดชะมวง มะดัน มะอึก

รสจืด เช่น เล็บครุฑ เกี๋ยงพาใย แตง แตงโมอ่อน น้ำเต้า ฟัก ผักกูด (อมฝาด) ผักหนาม ผักบุ้ง ตำลึง มะละกอ ผักแว่น ผักอีฮิน แพงพวยน้ำ แหนเทา ผักตบ ผักโฮบแฮบ ผักปลัง

ผักพื้นบ้านไทยนับเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งของชาวไทย เพราะเหตุที่เอกลักษณ์ของผักพื้นบ้านที่เป็นไม้พื้นเมือง และเป็นสายพันธุ์ทางพันธุกรรมพืชที่มีความแข็งแรง เหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของเมืองไทย คนไทยผูกพันกับวงจรอาหารธรรมชาติและสะสมบทเรียนการบริโภคที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งยังช่วยสร้างความสมดุลให้กับองค์ประกอบธาตุ 4 ของร่างกาย นับเป็นภูมิปัญญาไทยของบรรพชนที่สืบเนื่องถึงปัจจุบันสมัย คนไทยรุ่นใหม่สมควรจะเรียนรู้และเก็บรับประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรผักพื้นบ้านไทยอย่างเหมาะสม และส่งผลดีต่อวัฒนธรรม นิเวศวิทยา และสุขภาวะของชาวไทย

อ้างอิงข้อมูลจาก คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย

จัดทำข้อมูลโดย กลุ่มงานวิชาการเภสัชกรรมแผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย