พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ผนึกกำลังพาณิชย์จังหวัดกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างตลาดการค้าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” คัดสรรสินค้า GI อีสาน 18 แห่ง สู่สากล

นางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ในนามสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดำเนินแผนงานประชาสัมพันธ์หนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีสานสู่สากล เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า สินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้า GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งสินค้า GI เหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครและกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาด มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล

พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ยังให้ข้อมูลว่า สินค้า GI ที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วยสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ ได้แก่ ทุเรียน ปากช่องเขาใหญ่ GI จ.นครราชสีมา, ทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ GI จ.ศรีสะเกษ, สับปะรดท่าอุเทน GI จ.นครพนม ผ้าหมักโคลนหนองสูง GI จ.มุกดาหาร, ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ GI จ.กาฬสินธุ์, น้ำหมากเม่าสกลนคร GI จ. สกลนคร, ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร GI จ.สกลนคร, เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI จ.อุดรธานี, กล้วยตากสังคม GI จ.หนองคาย, ส้มโอทองดีบ้านแท่น GI จ.ชัยภูมิ, ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI จ.ขอนแก่น, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI วิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์บ้านสระแคน จ.มหาสารคาม, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม จ.ยโสธร, ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี GI จ.อุบลราชธานี, ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI จ.สุรินทร์, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI กลุ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้อำเภอเกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง GI ศรีสะเกษ และ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ GI จ.บุรีรัมย์

“เพื่อให้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพ จึงร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกลุ่มภาคอีสาน และกลุ่มผู้ประกอบการสินค้า GI ที่โดดเด่น 18 แห่ง เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค เชื่อมโยงทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเพื่อเผยแพร่ความโดดเด่นที่สินค้า GI อีสานไม่เหมือนใคร ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างจะทำให้สินค้า GI อีสานเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นว่า เรามีความพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่ระดับสากล” คุณเกศินี กล่าว