อัพมูลค่าให้ “เปลือกมังคุด” สังเคราะห์ สู่ “วัสดุนาโนสีเขียว” ใช้ประโยชน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์ Zero Waste

ด้วยความที่ “เมืองไทย” มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด ส่งผลให้เกิดของเหลือทิ้งที่เป็นวัสดุเกษตร (Agricultural Waste) เช่น ซังข้าวโพด ยอดอ้อย ฟางข้าว ต้นข้าวฟ่าง ใบมันสำปะหลัง ใบและต้นสับปะรด เปลือกผลไม้ เยอะขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดสร้างมูลค่าให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การใช้นวัตกรรมจัดการ “เปลือกข้าวโพด” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), หรือการนำใยมะพร้าว แกลบ เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว หญ้าเนเปียร์ เยื่อกล้วย ชานอ้อย ผักตบชวา และไผ่ มาผลิตเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมถึงการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น

ซึ่งล่าสุดมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์กับ “มังคุด” ในบ้านเรา ซึ่งแต่ละปีมีผลผลิตกว่า 3 แสนตัน จำนวนนี้เป็นมังคุดเพื่อการส่งออกถึง 70% และขายในประเทศอีก 30% และเมื่อรับประทานเสร็จแล้วเปลือกจะถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ดังนั้น จึงควรมีการนำมังคุดไปใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น

1. แก้อาการท้องเดิน-ท้องเสีย

2. ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากเปลือกผลมังคุดจะมีสาร “แทนนิน” เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์สำหรับการสมานแผล-ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี อาทิ เชื้อที่ทำให้เกิดหนองและมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบลงได้ดี เมื่อนำเปลือกตากแห้งต้มกับน้ำปูนใสจะช่วยแก้อาการดังกล่าวได้

หรือจะฝนกับน้ำดื่ม เพื่อแก้อาการเป็นบิด (ปวดเบ่ง มีมูก และอาจมีเลือดออก) โดยใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้วดื่มทุกชั่วโมง

และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคนให้ความสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวคิดการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเป็นหนึ่งในแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมกับลดปัญหาขยะ ตอบโจทย์ Zero Waste ดังนั้น ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์วิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (ASESS) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ ได้เปิดเผยว่า ศูนย์ ASESS นำแนวคิดการนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่าถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ด้วยวิธีการนำมาสังเคราะห์เป็น “วัสดุนาโนสีเขียว (Green Nano Material)” เพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งทางด้านการแพทย์ เกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์

เปิดแนวคิดเปลี่ยนเปลือกมังคุด สู่ “วัสดุนาโนสีเขียว”

ศูนย์ ASESS ได้รับโจทย์จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) เรื่องการพิสูจน์หลักฐานรอยนิ้วมือในที่เกิดเหตุในพื้นที่เกิดเหตุต่างๆ รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในปัจจุบันคือ “ผงฝุ่น” มีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพกพา (เนื่องจากต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงต้องนำกลับมาตรวจที่ห้องแล็บเท่านั้น) ระยะเวลาในการพิสูจน์หลักฐานอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ตลอดจนความคลาดเคลื่อนจากการตรวจ

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.เขมฤทัย อธิบายว่า เนื่องจากร่างกายของมนุษย์จะมีสารคัดหลั่ง เมื่อนิ้วมือไปสัมผัสบนพื้นผิวต่างๆ สารคัดหลั่งจะไปติดกับพื้นผิวของวัตถุพยานผิวทำให้เกิด “รอยนิ้วมือ” โดยวิธีการตรวจที่ใช้ในปัจจุบันคือนำผงฝุ่นไปปัดให้รอยนิ้วมือปรากฏ แต่ในบางกรณีหรือบางพื้นผิวจะมีรอยนิ้วมือแฝงที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางศูนย์วิจัยฯ จึงหาวิธีการใหม่ที่ทำให้พิสูจน์ลายนิ้วมือได้ในทุกสถานการณ์

ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

จากโจทย์ข้างต้นนำไปสู่การพัฒนา “วัสดุนาโนสีเขียว” เพื่อยกระดับการค้นหาคำตอบให้สังคม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ ASESS, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผ่านประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่

1. นวัตกรรมด้านสังคม

โดยนำวัสดุนาโนมาพัฒนาเป็นเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝง ตรวจการปลอมแปลงเอกสาร และตรวจพิสูจน์สารระเบิด ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสามารถในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจของประชาชนต่อกระบวนการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ลดค่าใช้จ่ายจากที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์หรือสารเคมีราคาแพงจากต่างประเทศ

2. นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข

เช่น การผลิตผ้าก๊อซปิดแผลดูดซับสูงและต้านเชื้อแบคทีเรีย (Beyond Gauze) พัฒนาจากวัสดุนาโนสามารถดูดซับสารคัดหลั่งที่ออกมาจากบาดแผลได้มาก และมีราคาถูกกว่าท้องตลาด, สายสวนปัสสาวะป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยนำเอาวัสดุนาโนที่มีสมบัติมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไปใช้เคลือบพื้นผิวสายสวนปัสสาวะ เนื่องจากพบว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนเป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากเป็นลำดับต้นๆ และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด

3. นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และการเกษตร

โดยพัฒนาเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Salmonella ที่ปนเปื้อนอยู่ในไก่ โดยใช้วิธีการตรวจวัดแบบรวดเร็วเพื่อช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นของกระบวนการผลิต เซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง นอกจากนั้น ยังมีการทำสเปรย์อินทรีย์เคลือบกันน้ำ

สำหรับเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นมังคุด ผศ.ดร.เขมฤทัย เผยว่า เนื่องจากตอนแกะเปลือกมังคุดแล้วเปื้อนมือ จึงเกิดความสงสัยคิดว่ามีสารสำคัญบางอย่าง เพราะถ้าเปื้อนมือได้ ก็ต้องติดบนพื้นผิวที่มาจากสารคัดหลั่งบนวัตถุพยาน จนทางศูนย์ได้ทดลองแล้วพบว่า ผงจากเปลือกมังคุดสามารถใช้ตรวจหาลายนิ้วมือได้ทุกประเภท แถมลดการใช้สารเคมี และใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 10 วินาที ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสิ่งแวดล้อม

ผงเปลือก “มังคุด” ทำไม? ช่วยลดขั้นตอนตรวจรอยนิ้วมือได้

สำหรับด้านการทำงาน ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงอย่างรวดเร็วโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ในการกลิ้ง ภาชนะบรรจุผงเปลือกมังคุด อุปกรณ์กดทับวัตถุพยาน สามารถใช้งานได้ 2 วิธี

วิธีที่ 1 โรยผงเปลือกมังคุดลงในภาชนะ นำกระดาษหรือวัตถุพยานวางตามลงไป จากนั้นนำอุปกรณ์กดทับวางทับลงบนวัตถุพยาน เพียง 10 วินาที ยกอุปกรณ์ออก เป่าหรือเคาะผงส่วนเกินที่ติดอยู่ออกจากกระดาษหรือวัตถุพยานออก จะปรากฏลายนิ้วที่มีสีน้ำตาลขึ้น หากต้องการให้ลายนิ้วมือชัดมากขึ้นก็มากลับเป็นสีขาวดำได้

วิธีที่ 2 การใช้อุปกรณ์ลูกกลิ้ง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานที่เคลื่อนไม่ได้ เช่น ประตู กระจก หรือวัตถุอื่นๆ เช่น ขวด กระป๋อง ก็สามารถตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงได้เช่นกัน

ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงได้มาก และถ้าเทียบระหว่างผงเปลือกมังคุด กับการใช้สารละลายนินไฮดริน (Ninhydrin) ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวสารละลายนี้ปกติจะไม่ทำในที่เกิดเหตุ ต้องนำหลักฐานกลับไปทำในห้องแล็บเท่านั้น โดยใช้วิธีการพ่นหรือจุ่มแช่ลงในสารละลายนินไฮดรินแล้วนำขึ้นมาตากไว้ข้ามวัน ขณะที่ผงเปลือกมังคุดใช้เวลาเพียง 10 วินาที หรือแม้จะใช้ผงฝุ่นดำก็สามารถใช้ได้แค่พื้นผิวที่ไม่มีรูพรุนเท่านั้น

ทั้งนี้ ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ได้มีการทดสอบร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานและได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง หลังจากนี้ทางศูนย์พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการหรือ SME ที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างเช่น การนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นผงตรวจรอยนิ้วมือ ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียของคนไทยที่น่าสนับสนุน ในการร่วมกันพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างเป็นธุรกิจ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทยต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งตอบโจทย์กระแส Zero Waste ซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง :

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/335/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C/

https://www.naewna.com/local/658459

https://www.nia.or.th/-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3.html

https://mgronline.com/science/detail/9650000027788

https://www.arda.or.th/kasetinfo/south/mangosteen/used/01-02.php

________________________________________

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ

สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกหรือสายด่วน 1333