เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ชูนวัตกรรมพร้อมสร้างต้นแบบ Green Farm ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

มองเป็นเห็นโอกาส Bangkok Bank SME ขอพาไปเจาะลึกแนวคิดการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและส่งคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ของ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ของภาคเหนือ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งการทำตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพที่ดีและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด จะมีประเด็นใดที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการและ SME ได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ปรับใช้ในองค์กรได้บ้าง ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์นี้กันได้เลย

“เชียงใหม่เฟรชมิลค์” ปักธงฟาร์มโคนมท้องถิ่นภาคเหนือ

คุณวีรพล ยศศักดา หรือ คุณตุ๊ก กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า ธุรกิจนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2535 โดย ดร.บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ประธานกรรมการบริหาร และ คุณดาราวรรณ ทิพย์เนตร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ได้เริ่มก่อร่างสร้างโรงงานเล็กๆ เพื่อรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ โดยปริมาณที่รับซื้อขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 ตันต่อวัน

ช่วงแรกเริ่ม ใช้การผลิตด้วยการต้มน้ำนมที่รับซื้อจากเกษตรกรในหม้อต้ม เพื่อเป็นการพาสเจอไรซ์ แม้จะเป็นโรงงานที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการทำธุรกิจที่มาถูกทางในระดับหนึ่ง การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี จนมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด เริ่มขยับขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2540 จากการที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน

ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทยจากเกษตรกรในประเทศ โดยทางบริษัทได้เข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียนในรูปแบบของนมพาสเจอไรซ์ จัดส่งนมให้กับ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย สันป่าตอง จอมทอง และฮอด คิดเป็นสัดส่วนยอดขายอยู่ 70-80% ของภาพรวมรายได้ที่มีกว่า 1 พันล้านบาท

ธุรกิจโรงงาน เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมเสริมทัพด้วย “ฟาร์มโคนม”

การเติบโตจากที่กล่าวมา นำมาสู่การขยายธุรกิจเพิ่มเติม โดยเชียงใหม่เฟรชมิลค์ มีการสร้างอาคารสำหรับผลิตนมพาสเจอไรซ์ขึ้นในปี 2544 เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่ขยายตัว อีกทั้งมีการเพิ่มไลน์การผลิตและติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT ในปี 2546 ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถบรรจุได้ทั้งนมพาสเจอไรซ์และ UHT

จากนั้นในปี 2550 ทางผู้บริหารได้เล็งเห็นว่าเมื่อประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมแก่กลุ่มเกษตรกรที่ส่งน้ำนมดิบมาให้ทางโรงงาน ประกอบกับทางโรงงานมีพื้นที่แปลงหนึ่งเล็กๆ ว่างอยู่ จึงได้ทำโรงเลี้ยงโคนมแห่งแรก เริ่มจากนำวัวพันธุ์นมจำนวน 10-20 ตัว มาศึกษาข้อมูล พัฒนาการเลี้ยงอย่างถูกวิธี ซึ่งนั่นทำให้เกิด Know-How สูตรสำเร็จที่พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปรับเปลี่ยนวิถีจากเดิมที่เป็นการเลี้ยงแบบรุ่นสู่รุ่น มาเป็นการถ่ายทอดข้อมูลใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

หลังจากทดลองเลี้ยงโคนมในฟาร์มประมาณ 2 ปี เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จึงเริ่มมีการขยายธุรกิจฟาร์มโคนมภายใต้ชื่อ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม (CHIANG MAI FRESHMILK FARM) ที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ และเริ่มมีการทำธุรกิจฟาร์มโคนมอย่างเต็มรูปแบบในปี 2553 เพื่อจุดหมายในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโคนมมากขึ้น ปัจจุบันที่ฟาร์มแห่งใหม่มีโคนมกว่า 2,000 ตัว

ความโดดเด่นที่น่าสนใจ คือการใช้หลักการบริหารจัดการในลักษณะของฟาร์ม Zero Waste หรือการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่สร้างขยะเลย (0%) รวมถึงหันมาใช้ ไบโอแก๊ส (Biogas) ซึ่งเป็นแก๊สที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ และมีการปรับปรุงก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนสำหรับใช้งานในฟาร์ม

“Sustainable Organization” ปั้นองค์กรที่ยั่งยืน

หลักในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ การสร้างความสมดุล 3 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Sociality) และ สิ่งแวดล้อม (Environmental) เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จึงยึดแนวทางการสร้าง Green Farm ผ่าน 3 ปัจจัย และให้ความสำคัญกับระบบการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณวีรพล เผยว่า “ฟาร์มเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ถือเป็น Green Farm ที่มีการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศครบวงจร โดยเราวางระบบหมุนเวียนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น นำมูลโคทั้งหมดภายในโรงเรือน มาผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas และ ก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ สำหรับใช้เป็นพลังงานในรถยนต์ เครื่องจักรการเกษตร และปั่นไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ส่วนกากตะกอนที่ได้สามารถนำไปผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอีกด้วย

“นวัตกรรม” ต่อยอดมูลค่า-เพิ่มคุณภาพน้ำนม

จากจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มเล็กๆ ที่เลี้ยงโคนม 20-30 ตัวในช่วงแรก พร้อมการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการดูงานในต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการทำฟาร์มโคนม เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป และนำมาปรับปรุงการใช้งานให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยได้ใช้การออกแบบตามหลักวิศวกรรม มีชายคาสูง 4 เมตร ติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อให้มีลมเข้าออก

พร้อมทั้งมีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอนที่ทำจากยางพาราแบบแผ่น เพื่อให้วัวนอนพักผ่อนและหลับอย่างสบาย และระบบ Happy Cow ซึ่งเป็นเครื่องนวดสร้างความผ่อนคลายให้กับวัวและช่วยทำความสะอาดวัวนม ทำให้ไม่มีสิ่งสกปรกไปตกค้างที่เต้าของวัว

นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบรีดอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งเป็นระบบปิดอัตโนมัติแบบพาราเรล สามารถรีดนมวัวได้พร้อมกันถึงครั้งละ 64 ตัว ใช้เวลารีดนมเพียง 10-15 นาที รวมทั้งยังใช้เทคโนโลยีอย่าง ชิป (chip) ฝังไว้ที่วัว เพื่อทราบปริมาณน้ำนมวัวแต่ละตัว รวมถึงบันทึกข้อมูลต่างๆ ทำให้รู้ว่าวัวตัวไหนเกิดปัญหา เช่น ให้นมน้อยลง สัตวบาลก็จะหาสาเหตุได้จากข้อมูลที่บันทึกไว้ เป็นต้น

“เราเน้นเรื่องการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้ได้รู้ว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศที่บ้านเขาเป็นเมืองหนาว ส่วนใหญ่จึงเลี้ยงแบบระบบปิด ช่วงไหนที่อากาศอุ่นก็จะปล่อยวัวออกมากินหญ้าตามธรรมชาติ แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนต้องประยุกต์และปรับใช้บางอย่างเพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพมากที่สุด อาทิ โรงเลี้ยงต้องออกแบบให้เป็นอาคารสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงการวางทิศทางในการออกแบบต้องคำนึงถึงสภาพอากาศด้วย เช่น หากหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แสงอาทิตย์จะผ่านอาคารเข้ามาทำให้วัวร้อน รวมถึงอากาศที่ไม่ถ่ายเทก็จะให้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพเพียงพอ การวางโครงสร้างของฟาร์มจึงต้องปรับให้ทุกเรื่องสอดคล้องกันได้ทั้งหมด”

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญในทุกๆ เรื่อง รวมไปถึงพื้นที่ตั้งของฟาร์ม จึงเป็นเหตุผลที่เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม สร้างขึ้นที่จังหวัดลำพูน ไม่ใช่เชียงใหม่ เพราะเนื่องจากความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ “ยิ่งสูง ยิ่งดี” ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตที่ได้

โจทย์ใหญ่ สร้าง Brand Royalty รักษาฐานลูกค้าได้ทุก GEN

จากการที่ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียน ซึ่งเป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาลเพื่อให้เด็กได้ดื่มนมฟรีจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 สิ่งที่ทางบริษัทต้องตีโจทย์ต่อคือ ช่วงหลังจากนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กที่จะกลายเป็นวัยมัธยมฯ เหล่านั้นยังคงเป็นลูกค้าที่ทานนมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต่อไป จึงนำมาสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแดรี่ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ เช่น ครีม เนย นมรสชาติต่างๆ

ซึ่งหนึ่งในไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจคือ แนวคิดที่ว่า เด็กที่ทานนมส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อยู่ในท้องถิ่น ควรมีร้านที่มีผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ จึงได้เริ่มแตกไลน์ธุรกิจ สู่รูปแบบของคาเฟ่ เฟรชแอนด์มายด์ (Fresh&Mild) ซึ่งสาขาแรกเปิดที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยคุณวีรพลเผยว่า “ต้องมองให้ออกว่าก่อนที่เราจะเปิดร้านข้างนอก ลูกค้าส่วนใหญ่มองเราเป็นแบบไหน เห็นสินค้าเราเป็นยังไง ร้านแห่งแรกที่นี่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเลือกซื้อสินค้าดี ที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่จะทำสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ

จากผลตอบรับที่ผ่านมาถือว่าร้านของเราสอบผ่านในระดับที่ดี มีการบอกต่อและแนะนำกันในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าไป จากนั้น เราจึงเริ่มขยายสาขา เริ่มจากในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือคณะพยาบาลศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และศูนย์อาหาร เริ่มขยับเข้าไปในกลุ่มสถานศึกษา โดยเพิ่มสาขาในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังได้เพิ่มหมวดหมู่สินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ชูจุดแข็ง “น้ำนมคุณภาพดี” เสริมแกร่งผลิตภัณฑ์

หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เชียงใหม่เฟรชมิลค์ มีจุดแข็งคือสามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ จึงต้องคิดแผนระยะต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น

“โจทย์คือ หากจะเพิ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มร้านกาแฟ ที่มีนมเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนใหญ่เราก็จะมีการพัฒนาสูตรเหมือนบาริสต้าชง คือให้ตอบโจทย์ลูกค้า เช่น บางร้านที่มีเมนูลาเต้ จะใช้นมข้นหวานหรือนมข้นจืด ส่วนของร้านเราจะใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ เพราะไขมันในนมมีส่วนสำคัญที่ทำให้รสชาติอร่อยขึ้น รวมถึงขณะนี้เรายังมีนมที่เป็นแล็กโทสฟรี (Lactose free) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่แพ้นมวัวอีกด้วย”

นอกจากนี้ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ยังได้เพิ่มกลยุทธ์จับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ และขยายช่องทางการขาย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนมที่เป็นส่วนประกอบในเมนูประเภทเบเกอรี่ เช่น ร่วมกับแบรนด์ผึ้งน้อย ร้านเบเกอรี่ท้องถิ่นชื่อดังของเชียงใหม่ผลิตขนม หลังจากนั้นจะนำมาวางจำหน่ายในร้านคาเฟ่เฟรชแอนด์มายด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกทางหนึ่ง

“นอกจากการจับมือคู่ค้า ล่าสุดเรากำลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นนมอัดเม็ด ที่ใช้น้ำนมดิบสดจากเกษตรกรส่งเข้าโรงงาน สู่กระบวนการทำให้แห้ง จากนั้นก็ทำการอัดเม็ดในโรงงานพร้อมจำหน่าย ซึ่งต่างจากแบรนด์อื่นที่นำนมผงจากต่างประเทศมาผลิตซึ่งใช้เวลาขนส่งนานกว่า”

“นมคุณภาพสูงล้านนา” สร้าง Value Added

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากจากลูกค้าของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ นั่นคือ “นมคุณภาพสูงล้านนา” ที่เน้นความพรีเมี่ยม คุณภาพสูง เริ่มตั้งแต่การใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถันก่อนนำเข้ามาในโรงงาน ซึ่งนมทั่วไปจะมีกำหนดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ไม่เกินกว่า 500,000 ตัว แต่นมคุณภาพสูงล้านนาจะกำหนดว่าไม่เกิน 200,000 ตัว

ขณะที่น้ำนมดิบจากเกษตรกรจะอยู่ที่ไม่เกิน 90,000 ตัว เพื่อให้ได้รสชาติของนมดีขึ้น รวมทั้งการจัดเก็บจะเก็บได้นานกว่านมทั่วไป นอกจากนั้น ยังกำหนดปริมาณของไขมัน ซึ่งนมทั่วไปจะกำหนดให้ไม่เกิน 3.2 แต่ล้านนามิลค์จะต้องไม่เกิน 3.6 ด้วยมุมมองว่าทุกปัจจัยมีผลต่อรสชาติและคุณภาพ

เน้นออฟไลน์ พร้อมขยับช่องทางขายออนไลน์

“เราได้รับคำแนะนำจากกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยเริ่มนำสินค้าขายที่แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ลาซาด้า, ช้อปปี้ เริ่มนำสินค้าไปจำหน่ายผ่านเพจเฟซบุ๊กด้วย ขณะที่ตลาดออฟไลน์ เราได้รับการสนับสนุนจากโมเดิร์นเทรดท้องถิ่น อย่าง “ริมปิง” ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผูกพันกับชาวเชียงใหม่มานาน รวมไปถึงร้านแจ่มฟ้าเซฟมาร์ท และล่าสุดยังจับมือกับทางเบทาโกรช้อป โดยนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย

เฉพาะ Contact Farming ที่เป็นของเราเอง มีอยู่ประมาณ 200 กว่าฟาร์ม ส่วนที่เป็นเกษตรกรที่เรารับซื้อผ่านทางสหกรณ์การเกษตรมีประมาณ 700-800 ฟาร์ม รวมทั้งหมดประมาณพันกว่าฟาร์ม เรามองว่าการที่เรามีฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP ไม่ใช่แค่ฟาร์มเราเองแต่จะพยายามให้มาตรฐานขยับไปถึงกลุ่มสหกรณ์การเกษตรด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า”

นอกจากนี้ ในปี 2556 บริษัทได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบของ OEM โดยรับผลิตผลิตภัณฑ์นมให้กับประเทศเมียนมา ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ PEP อีกด้วย

SME ต้องคืนกำไรให้สังคม

สินค้าโคนม นับเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ (Top 4) ของจังหวัดเชียงใหม่ การทำธุรกิจที่มีช่องทางการตลาดเปิดกว้าง ท่ามกลางคู่แข่งขันและก้าวสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสิ่งที่ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ได้ให้ข้อคิดดีๆ สำหรับ SME รุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญความท้าทายในเวทีการค้าว่า วันหนึ่งเมื่อคุณทำธุรกิจจนได้สินค้าที่ดี มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับแล้ว ลองมองย้อนกลับไปที่ต้นทาง หากคุณมีโอกาสให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพหรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต้องซัปพอร์ตซึ่งกันและกัน คุณต้องยอมจ่าย เพราะการทำธุรกิจ หวังจะได้อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องคืนกลับไปด้วย โดยเฉพาะคืนคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นไปด้วยกัน” คุณวีรพล ทิ้งท้าย

รู้จัก “บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด” เพิ่มเติมได้ที่

http://www.cmfreshmilk.com/

https://www.facebook.com/CMFreshmilk/

________________________________________

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ

สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกหรือสายด่วน 1333