ตอบโจทย์ Sustainability! “ฟาร์มระพีพัฒน์” ฟาร์มไก่ไข่สร้าง Mindset เพื่อลด Cost เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด “ฟาร์มสีเขียว”

“ไข่ไก่” วัตถุดิบรังสรรค์หลากหลายเมนูอาหารที่ทุกบ้านคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งในเมืองไทยมีฟาร์มไก่ไข่ผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากมาย จึงนำมาสู่อีกหนึ่ง Case Study ที่น่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่งว่า บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด ฟาร์มไก่ไข่ชื่อดัง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา บริหารธุรกิจอย่างไร? จึงสามารถฟันฝ่าวิกฤต-อุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จอยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันอันแสนดุเดือด เป็นแนวคิดสร้างไอเดียให้กับผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา นำไป Business Transformation ประยุกต์ปรับใช้สู้ศึกการทำธุรกิจห้วงเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน

นำวิชาที่มี สร้างธุรกิจที่ตนเองถนัด

คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด เล่าย้อนความหลังว่า “ฟาร์มระพีพัฒน์” ก่อตั้งเมื่อปี 2521 โดยเริ่มต้นบริษัทมีการเลี้ยงทั้งไก่ไข่ ไก่เนื้อ และหมู ต่อมาในปี 2530 ได้หันเลี้ยงไก่ไข่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไก่เนื้อและหมูมีการแข่งขันกับรายใหญ่สูงมาก ประกอบกับต้องอาศัยโรงเชือดซึ่งบริษัทไม่มี จึงทำให้กำหนดราคาไม่ได้เมื่อเทียบกับรายใหญ่ซึ่งมีโรงเชือดของตัวเอง

คนซ้าย : คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด

โดยก่อนที่คุณสุพัฒน์ก่อตั้งบริษัท ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ก่อนทำธุรกิจควบคู่กับการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อด้วยย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยสยาม หลังจากนั้นเริ่มเห็นขีดจำกัดว่าธุรกิจอาหารสัตว์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรามีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งหาก “ฟาร์มระพีพัฒน์” เลี้ยงเฉพาะไก่ไข่อย่างเดียว ในขณะที่บริษัทรายใหญ่จำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงครบวงจร เช่น มีลูกไก่ ยาสำหรับสัตว์ อาหารสัตว์ รวมถึงเลี้ยงไก่ไข่ด้วย

จากการที่คุณสุพัฒน์รู้ว่าธุรกิจการเกษตรมีวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ราคามีขึ้นมีลงตลอดเวลา ซึ่งในตลาดที่ผู้บริโภคไปซื้อสินค้าอาจไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง ดังนั้น คุณสุพัฒน์จึงเกิดแนวคิดว่าจะแก้ไขวัฏจักรดังกล่าวอย่างไร ด้วยการหาวิธีช่วยการบริหารต้นทุน (Cost Management) ทำให้ต้นทุนต่ำลง กลายเป็นจุดเปลี่ยนว่าหาก “ฟาร์มระพีพัฒน์” ทำแบบนี้แล้วต้นทุนสูงกว่าบริษัทใหญ่หรือรายอื่นๆ จะอยู่ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้หลังจากบริษัทเลี้ยงไก่ไข่สักระยะหนึ่ง (มีการพัฒนาจากโรงเรือนเปิดมาเป็นโรงเรือนปิด เพื่อทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่เปลี่ยนแปลง ไก่อยู่สบายขึ้น ไม่เป็นโรค ผลผลิตดี) จึงเริ่มหันมาทำครบวงจรเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากเลี้ยงไก่ไข่และเลี้ยงลูกไก่ด้วย (ซื้อลูกไก่มาเลี้ยงให้เป็นไก่สาว) รวมถึงการผลิตอาหารสัตว์ หลังจากบริษัทขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สามารถช่วยให้ต้นทุนต่ำลงได้ และยังสามารถควบคุมคุณภาพต่างๆ ของไข่ไก่ได้ด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามหาทางลดต้นทุนอื่นๆ ด้วย เช่น การผลิตวัตถุดิบ การสต๊อกวัตถุดิบ เป็นต้น

“ต้นทุนเป็นอะไรที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องคิดคำนึงถึงให้มากๆ เพราะหากไม่ควบคุมเราจะแข่งขันกับรายอื่นๆ ไม่ได้ เนื่องจากการประหยัดทางขนาดของธุรกิจ (Economic of Scale) เราน้อยกว่า”

วิธีคิด…เพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจแข่งขันได้

คุณสุพัฒน์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจบ้านเรามักคำนึงถึงราคาสินค้าในตลาดเป็นเกณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ดังนั้น เรื่องต้นทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ประกอบการและ SME จะอยู่รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ต้นทุน จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนเพราะหากต้นทุนต่ำเวลาขาดทุนก็ขาดทุนน้อยแต่เวลากำไรจะได้กำไรมาก เพราะฉะนั้นตัวนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ สู่แนวคิดจะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้ามีราคาที่เหมาะสม

ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์ของบริษัทจึงทำให้มีการหมุนเวียน เช่น การเลี้ยงไก่ไข่จะมีการจัดระบบ ไม่ได้เลี้ยงตามใคร หรือตามราคาดี บริษัทจะวางแผนการเลี้ยง จัดตารางหมุนเวียนเข้า-ออกไก่ หากมีไก่เข้าใหม่ทุก 2 เดือน ก็ต้องมีไก่ออกเช่นกัน จัดการโรงเรือนให้เป็นระบบปิด ให้ไก่อยู่สบาย เน้นดูแลและเลี้ยงไก่ให้ได้ผลผลิตไข่ที่ดี บริหารปริมาณสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและตลาด ไม่ทำมากเกินไปหรือน้อยเกินไปในทุกช่วงสภาวการณ์ ต้องคำนวณต้นทุนอยู่สม่ำเสมอและจัดการต้นทุนให้ต่ำลง เท่านี้เราก็จะอยู่ได้โดยไม่กังวลถึงราคาขายของสินค้าที่ปรับขึ้นปรับลงตามสภาวะความต้องการของตลาด

“หัวใจของผู้ประกอบการและ SME รายเล็กก็คือจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำ เพราะหากต้นทุนต่ำเราก็จะอยู่รอดได้ อย่าไปมองที่ราคาเป็นหลัก แล้วหันมามองว่าจะทำอย่างไรในการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้มีผลผลิตที่ดี อีกเรื่องหนึ่งก็คือส่วนใหญ่มักจะดูราคาเป็นเกณฑ์ พอราคาดีก็ขยายมากขึ้น แต่สินค้าเกษตรตอนราคาดี เช่น หากเลี้ยงไก่ ณ วันนี้ พรุ่งนี้ยังไม่สามารถออกไข่จำหน่ายได้เลย ต้องใช้เวลาถึง 18 สัปดาห์ไก่จึงจะเริ่มออกไข่ ดังนั้น หากอยู่ในช่วงราคาดีแล้วเราขยายกำลังการผลิต พอราคาต่ำลงจะมีปัญหา ต้องคิดตรงข้ามตอนราคาตกมากๆ ให้ขยายตอนนั้น เนื่องจากอีก 3-6 เดือนราคาก็จะเริ่มปรับสูงขึ้นตาม Timing”

เรื่องสำคัญอีกอย่างสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยก็คือ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการตลาด (Marketing) เพื่อดูวัฏจักรของวงจรธุรกิจของตนเอง คนทำธุรกิจจะต้องรู้ว่าช่วงไหนตกต่ำช่วงไหนขาขึ้น แล้วต้องทำอะไรเพื่อให้กิจการอยู่รอดซึ่งต้องใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ

ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด “ฟาร์มสีเขียว” ตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability)

ในปี 2554 คุณสุพัฒน์ได้เริ่มมีการรีโนเวทฟาร์มใหม่ พัฒนามาเป็นโรงเรือนแบบปิดขยายใหญ่ขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยงไก่-เก็บไข่ กลายเป็นโรงเรือนแบบเซมิออโตขนาดใหญ่รองรับได้ 40,000 ตัว (ฟาร์มระพีพัฒน์เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 400,000 ตัว)

เหตุผลที่รีโนเวทฟาร์ม เนื่องจากปัญหาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คือชาวบ้านรอบบริเวณฟาร์มจะไม่ค่อยชอบเนื่องจากมีกลิ่นและแมลงวันรบกวน จึงทำให้คุณสุพัฒน์ตั้งเป้าหมายอยากเป็นฟาร์มสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลง และของเสียออกนอกฟาร์ม โดยพื้นที่ฟาร์มทั้งหมดเกือบ 100 ไร่ จะใช้เลี้ยงไก่ 20% ส่วนอีก 80% จะปลูกต้นไม้ โดยโรงเรือนไก่ไข่เป็นระบบปิดที่มีระบบการจัดการมูลไก่ด้วย ซึ่ง 1 วันมีประมาณ 40 ตัน ทำให้เป็น Zero Waste ด้วยการนำไปผลิตไบโอแก๊ส (Biogas) ปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม (ใช้ในฟาร์ม 100% ปั่นไฟใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำมา 7 ปีแล้ว) นอกจากนี้ ยังมีการนำมูลไก่ไปหมักแล้วจำหน่ายเป็นปุ๋ย และมีฟาร์มจระเข้สำหรับกินไก่ที่ตายแล้วด้วย

“ผมอยากให้ฟาร์มระพีพัฒน์เป็นฟาร์มสีเขียว ตอบโจทย์ตามกระแส Sustainability ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบให้ฟาร์มอื่นๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับผู้คนในชุมชน เช่น การผลิตไบโอแก๊ส ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและ SME ได้รับอานิสงส์ในการทำธุรกิจไม่ถูกกีดกันทางการค้า รวมถึงการขอสินเชื่อ อย่างเช่น บัวหลวงกรีน แล้วนำมาพัฒนายกระดับให้ชุมชนและฟาร์มอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) กล่าวส่งท้ายถึงความมุ่งมั่นในแนวทางการทำธุรกิจของตนเองในปัจจุบันและอนาคต

รู้จัก “บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด” เพิ่มเติมได้ที่

http://www.rapeepatfarm.com/

https://www.facebook.com/healthyhenbyrpf/

________________________________________

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ

สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกหรือสายด่วน 1333