สภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ขับเคลื่อนการเกษตรแบบมีส่วนร่วม ณ ตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ ตั้งเป้า “เกษตรกินอิ่ม นอนอุ่น”

บทบาทภารกิจของสภาเกษตรกร นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 127 ตอนที่ 71 ก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ 1. สภาเกษตรกรแห่งชาติ (มาตรา 5) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรระดับชาติ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรกรรม อาทิ จัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (มาตรา 20) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือกฎหมายอื่น รับผิดชอบงานด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2. สภาเกษตรกรจังหวัด (มาตรา 31) บทบาทหน้าที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรในระดับจังหวัดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรกรรม อาทิ จัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมจัดทำข้อเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมีสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด (มาตรา 38) รับผิดชอบงานด้านธุรการและทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาเกษตรกรจังหวัด อีกทั้งยังจัดทำแผนแม่บท โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนในระดับจังหวัด ดังเช่น ตัวอย่างการร่วมวางแผนงาน ร่วมแก้ปัญหา และร่วมพัฒนาการเกษตรกร ณ ตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี สู่เป้าหมาย “เกษตรกินอิ่ม นอนอุ่น”

นายสำอาง แก้วประดับ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ข้อมูลปัญหาหลัก ด้านการเกษตรในพื้นที่ตำบลหนองมะค่า ได้แก่ ปัญหาด้านที่ดินทำกิน ปัญหาด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาด้านหนี้สินการเกษตร ปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร ปัญหาด้านสวัสดิการสิทธิเกษตรกรและการไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น โดยปัญหาใหญ่คือ ปัญหาภัยแล้ง ด้วยเหตุนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรีจึงได้จัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล โดยดำเนินการตามขั้นตอนบูรณาการแผนพัฒนาเกษตรกรรมชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเศรษฐกิจฐานรากแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรม โดยมีศูนย์กลางคือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะจากล่างขึ้นบน ซึ่งทำให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน โดยผ่านการร่วมคิด วิเคราะห์ และแสวงหาแนวทางการพัฒนาแก้ปัญหาของเกษตรกรด้วยตัวของเกษตรกรเอง ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นผู้เข้าใจปัญหาความต้องการของตนเองได้ดีที่สุด โดยสภาฯ จะทำหน้าที่หนุนเสริม สานต่อความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ อาทิ การช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยสภาเกษตรกรฯ ได้เข้ามาช่วยพัฒนาแหล่งน้ำ และเป็นแกนกลางในการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน ในการนำระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์มาใช้ในพื้นที่ โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้อุปกรณ์ให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรและเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเกษตรที่เหมาะสม ตามศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมโยงการเข้าถึงตลาดรับซื้อผลผลิต เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคง

นายพะยอม ม่วงไข่ เกษตรกรตำบลหนองมะค่า จังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลว่า เดิมในพื้นที่มีปัญหาดินเสื่อม ส่งผลให้มีปัญหาในการทำการเกษตร ไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ จนได้รับคำแนะนำจากสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ที่เข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมในการทำแผนแก้ปัญหา พร้อมทั้งได้มีการเข้ามาให้คำแนะนำในการบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก และให้ความรู้ถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี อีกทั้งยังเข้ามาส่งเสริมให้มีการเลิกใช้ปุ๋ยเคมีรวมถึงสารเคมีที่ทำลายหน้าดิน จนสามารถพลิกฟื้นคุณภาพดินให้กลับมามีคุณภาพ นอกจากนั้น ยังได้มีการแนะนำวิธีการทำน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ในสวน เป็นการทำเองใช้เอง และจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมด้วย ซึ่งช่วยให้สามารถทำเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกด้วย กล่าวได้ว่า สภาเกษตรกรจังหวัดคือคนที่เข้ามาช่วยให้ความรู้ คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้กับชุมชนหนองมะค่าอย่างยั่งยืน

สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนเกษตรกรออกมาใช้สิทธิ ใช้เสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร 1 เขต 1 เบอร์ ในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 เพื่อเลือกตัวแทนภาคเกษตรกรที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเกษตรกร และเพื่อเกษตรกร