เผยแพร่ |
---|
งานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจชีวภาพ “Biodiversity Bioeconomy” ภายในงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด จัดโดย BEDO
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด โดยภายในงานมีการจัดงานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจชีวภาพ “Biodiversity and Bioeconomy” ณ ห้องออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
งานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจชีวภาพ “Biodiversity and Bioeconomy” ได้รับเกียรติจาก ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นประธานเปิดการประชุม มีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ ดังนี้
การบรรยายพิเศษหัวข้อที่ 1 “Biodiversity & Bioeconomy ในโรงเรียนและชุมชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา โครงการตามพระราชดำริจำนวนมากเป็นที่ประจักษ์จากการทรงประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแบบองค์รวม บนพื้นฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
การบรรยายหัวข้อที่ 2 “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสินทรัพย์ของการพัฒนาและสร้างรายได้.ทั้งปศุสัตว์ เกษตร ประมง อาหาร สมุนไพร ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
การบรรยายหัวข้อที่ 3 “สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน ในประเทศไทย” โดย ดร.อุษา กลิ่นหอม นายกสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือความรู้ของชุมชนที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นประเพณีและวัฒนธรรม ยกตัวอย่างการนำประเพณีเดือนต่างๆมาให้เห็นถึงเพื่อเลือกพันธุ์ข้าว การสังเกตลม สังเกตสัตว์ในชุมชนเพื่อประเมินฝนที่จะตกแต่ละปี และทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปภูมิปัญญาเหล่านี้สึกร่อนหรือสูญหายจะเกิดอะไรขึ้นกับสถานะภาพของความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของชุมชน
และการบรรยายหัวข้อที่ 4 “ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของธุรกิจ” โดย ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ คลื่นลูกใหญ่ที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ หน่วยงานระดับโลกให้ความสนใจและมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อจะร่วมกันป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเครื่องมือประเมินการดำเนินธุรกิจ ที่เรียกว่า Business and Biodiversity Check หรือ BB check จะช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเกิดการเตรียมตัวและตรวจสอบกระบวนการธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติที่จะดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ” โดยวิทยากร รับเชิญ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สไว มัฐผา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดร.สุจิตรา โกศล มูลนิธิเห็ดไมคอร์ไรซาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชามา อินชอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภายในงานมีการมอบโล่รางวัลสำหรับผลงานวิจัยด้านการพัฒนาองค์ความรู้จากการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนแก่นักวิจัยทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตรตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผลงานด้านบัญชีรายการแมลงที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจร่วมกับเบโด้ และดร.สุจิตรา โกศล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ตลอดการจัดงาน 4 วัน มีวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายของ BEDO กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ นำผลิตภัณฑ์ชีวภาพมาจัดแสดงและจำหน่าย อาทิ น้ำผึ้งจากดอกลำไย จ.ลำพูน, ผ้าหม้อห้อม จ.แพร่, ผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม, ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เป็นต้น
มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด โดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 กรกฎาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ และสามารถติดตามชมผ่านในรูปแบบถ่ายทอดสดออนไลน์ บนเพจ Facebook : BEDO Thailand