เผยแพร่ |
---|
วันนี้ (17 ก.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (17 ก.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,151 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 38,186 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,962 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 14,909 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนเฝ้าระวังพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) ประกอบกับมีร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ค.นี้ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้นั้น กรมชลประทานได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 รวมทั้งข้อสั่งการของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด ในส่วนของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าปกติยาวนานจนถึงปีหน้า นั้น ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยกันเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต