สตก.จ.เชียงราย-บมจ.ศรีตรังฯ ปลื้ม! ประเดิมจับคู่ค้ายางพาราครั้งแรก ผลตอบรับดี

สตก.จ.เชียงราย-บมจ.ศรีตรังฯ ปลื้ม! ประเดิมจับคู่ค้ายางพาราครั้งแรกภาคเหนือ ผลตอบรับดี ยกระดับคุณภาพ-ชาวสวนรายได้เพิ่ม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายศุภชัย แข่งขัน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย พร้อม นายพิเชษฐ์ ชัยเจริญ หัวหน้าแผนกบริการตลาดกลางยางพารา และ นายดิษฐา เกตบูรณะ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ สาขาเมืองเชียงราย และ นายเดือน ปลื้มจิตต์ ผู้จัดการโรงงานบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย พร้อมด้วย นายทศพร เคนมา ผู้จัดการเขต สรรหาวัตถุดิบและทีมงานเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามการส่งมอบยางและตรวจสอบคุณภาพยาง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพยางก้อนถ้วยของกลุ่มสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีการส่งมอบยางพาราน้ำหนักรวมทั้งหมด 73,971.5 กิโลกรัม โดยบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อขายตรงผ่านระบบประมูลของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรกในพื้นที่เขตภาคเหนือ

นายศุภชัย กล่าวว่า สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานกลางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่จะดำเนินการเรื่องของการซื้อขายยางพารา ซึ่งบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการส่งออกยางพาราระดับประเทศ ปกติการรับซื้อยางพาราจะรับซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการซื้อขาย โดยความร่วมมือบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย มาเป็นการซื้อขายกันโดยตรงระหว่างบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดเครือข่ายของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย 15 จังหวัดของภาคเหนือ

สำหรับสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย จะนำยางพาราทั้งหมดในตลาดเครือข่ายของแต่ละจังหวัดมาบริหารจัดการ โดยเปิดประมูลที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีผู้ขายขึ้นทะเบียนกว่า 250 กลุ่ม ส่วนผู้ซื้อต้องซื้อผ่านระบบของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีผู้ซื้อลงทะเบียนกว่า 70 รายทั่วประเทศ จากนั้นสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายจะรับน้ำยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรมาเปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ผู้ซื้อสามารถเข้าไปประมูลผ่านระบบได้ โดยเปิดประมูลในเวลาประมาณ 11.00-12.00 น. ทุกวัน หนึ่งในนั้น คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ลงทะเบียนผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายในวันนี้คือ การประสานความร่วมมือกับบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำระบบซื้อขายผ่านกลุ่มเกษตรกร และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ซึ่งวันนี้มีการตกลงซื้อขายกับกลุ่มสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด ในราคารับซื้อกำหนดให้บริษัทซื้อในราคาสูงกว่าการประมูลที่กิโลกรัมละ 50 สตางค์ จากเดิมกิโลกรัมละ 24.75 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 25.25 บาท เป็นราคาเบื้องต้น มียางพาราที่ส่งมอบวันนี้รวม 73,971.5 กิโลกรัม มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 1,867,780 บาท  ทั้งนี้ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) จะนำไปตรวจหาค่าเนื้อยางพาราว่ามีคุณภาพเหมาะสมกับราคารับซื้อมากน้อยเพียงใด หากคุณภาพดี ในการซื้อขายรอบหน้าอาจเพิ่มราคารับซื้อขึ้นอีก จาก 50 สตางค์ หรือ 0.50 บาท เป็น 1 บาท วันนี้ถือเป็นการประเดิมการซื้อขายกันโดยตรงระหว่างบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มเกษตรกร ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากการซื้อขายแบบเดิม ผู้รับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรเป็นพ่อค้าคนกลาง ที่นำไปขายให้บริษัทอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดการกดราคารับซื้อจากกลุ่มเกษตรกร แต่การซื้อขายรูปแบบนี้ จะทำให้บริษัทสามารถนำส่วนต่างที่จะให้พ่อค้าคนกลางมาบวกกับราคาซื้อขายกับกลุ่มเกษตรกรได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สำนักงานตลาดกลางยางพาราฯ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ในขั้นแรกหากราคาซื้อขายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ต่อไปสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย และ กยท. จะไปดูแลการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรทำยางพารามีคุณภาพ จะส่งผลต่อการเพิ่มราคารับซื้อในอนาคต

การซื้อขายในรูปแบบนี้ จะส่งผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เนื่องจากจำนวนยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ ผลิตได้กว่า 200,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพาราอันดับหนึ่งของภาคเหนือ เนื้อที่กว่า 400,000 ไร่ จะทำให้มูลค่าการซื้อขายยางพาราเพิ่มมากขึ้น ส่วนต่างที่เคยตกเป็นของพ่อค้าคนกลางจะกลายมาเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มเกษตรกร เป็นการยกระดับราคายางพาราด้วย ขณะเดียวกัน ส่งผลดีกับบริษัทที่รับซื้อยางพารา เพราะนโยบายการรับซื้อยางพาราของ EU (EUDR) จะมีการสืบหาแหล่งที่มาของยางพาราที่บริษัทส่งออกไปขายต่างประเทศ เป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้บริษัทที่รับซื้อยางพาราต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อมีแหล่งยืนยันอ้างอิงที่มา พื้นที่ปลูก ว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหรือไม่ พื้นที่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ในอีก 10 เดือนข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่รับซื้อยางพารา จะรับซื้อยางพาราที่รู้แหล่งที่มา หากบริษัทนำยางพาราที่ไม่ทราบแหล่งที่มาส่งไปขายต่างประเทศ จะถูกแบนโดย EU

การเปลี่ยนแปลงการซื้อขายที่เริ่มในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับตลาดยางพาราให้สูงขึ้นอีกด้วย ในอนาคตจะขยายรูปแบบไปยังจังหวัดอื่นๆ ของภาคเหนือ ต้องขอบคุณบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สถานการณ์ตอนนี้ เริ่มมีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจจะเข้าสู่ระบบนี้มากขึ้น” นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย