เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ 5 ประเภท ปลื้มรับรางวัลจากกรมส่งเสริมการเกษตร

เกษตรแปลงใหญ่-วิสาหกิจชุมชน-ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร-ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนดีเด่นระดับประเทศปี 2566 พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป หลังเข้ารับรางวัลชนะเลิศจากกรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดพิธีมอบโล่และเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัลให้เกษตรกรต้นแบบ ที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ ในประเภทต่าง ๆ ประจำปี 2566 ประกอบด้วย 1.แปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม มีนายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช เป็นประธาน 2.วิสาหกิจชุมชน ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ มีนายวันนา บุญกลม เป็นประธานเครือข่ายฯ 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีนายอรุณ ขันโคกสูง เป็นประธาน 4.ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศจช.ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีนางสุกัญญา แอนิหน เป็นรองประธาน  และ 5.ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.)ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศดปช.ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีนายเลื่อน บุญสด เป็นประธาน

แปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช ประธานแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม กล่าวถึงความสำเร็จในการดำเนินงานจนได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ว่า เนื่องจากพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีปริมาณฝนน้อย เป็นข้อจำกัดในการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาสนใจเลี้ยงโคนม จากนั้นจึงมีการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 94 ราย พื้นที่ 693 ไร่ มีแม่โคที่พร้อมให้นม 4,716 ตัว โดยช่วงแรกได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เงินกู้ดอกเบี้ยล้านละร้อย จึงได้นำมาจัดหาเครื่องจักร และเครื่องมือต่าง ๆ รวมไปถึงการทำลานตากมูลโคด้วย จากนั้นในปี 2564 ได้รับงบเพิ่มอีก 2.9 ล้านบาท จากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จึงได้นำไปจัดซื้อเครื่องผสมอาหาร เครื่องบรรจุนมพาสเจอร์ไรส์ และนำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อเก็บข้อมูลโคนม โดยสามารถดูปริมาณน้ำนมดิบได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เกิดการพัฒนาการเลี้ยง การวางแผนการผลิต และการจำหน่ายนมได้

วิสาหกิจชุมชน ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ

“การได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศครั้งนี้ ทำให้พวกเราภาคภูมิใจมาก ถือเป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานต่อไป โดยจะส่งต่ออาชีพเลี้ยงโคนมให้กับลูกหลานได้สืบทอด เนื่องจากเป็นอาชีพพระราชทาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่อย่างยั่งยืน และในอนาคตจะมีการประสานกับแปลงใหญ่อื่น ๆ เช่น แปลงใหญ่มันสำปะหลัง และแปลงใหญ่ข้าวโพดในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารให้กับโคนม เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีไม่เพียงพอ เกิดการสร้างเครือข่ายและช่วยเหลือกันในระดับพื้นที่ เพราะขณะที่เราซื้อข้าวโพดและมันสำปะหลัง เราก็จำหน่ายมูลโค และนมได้ด้วย เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเองของเกษตรกร เกิดการเกื้อกูลกันและมีความยั่งยืนในระบบเกษตรแปลงใหญ่” ประธานแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด กล่าว

นายวันนา บุญกลม เป็นประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า เริ่มต้นรวมเป็นกลุ่มเล็กๆ ในปี 2542 เพื่อปลูกข้าวและผักปลอดสารพิษในตำบลห้วยไร่  อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ต่อมาในปี 2558 ได้ยกระดับเป็นข้าวอินทรีย์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากกระแสรักสุขภาพมาแรง ทำให้มีคนมาศึกษาดูงานจำนวนมาก จากนั้นได้รวมวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ จัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 5 อำเภอ ประกอบด้วย 1.วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ 2.วิสาหกิจชุมชนเพิ่มพลังชุมชนเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม 3.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวไรซ์เบอรี่ข้าวเพื่อสุขภาพตำบลไม้กลอน อำเภอพนา 4.วิสาหกิจกลุ่มสตรีทอผ้าพื้นบ้านตำบลโนนงาม อำเภอปทุมราชวงศา และ 5.วิสาหกิจชุมชนสายน้ำหมื่นปี สมาชิกรวมทั้งหมด 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน 839 ครอบครัว พื้นที่ประมาณ 24,000 ไร่

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

“ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของเครือข่ายฯได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ เช่น เกษตรอินทรีย์สากล fair trade, Jas ,HACCP,USDA Organic และ อย.ทำให้มีการส่งออกข้าวจำนวนมาก โดยเครือข่ายฯมีโรงสีมาตรฐาน และระบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย เช่น นำข้าวที่ตกเกรดทำเป็นเส้นพาสต้าส่งออก ทำให้เกิดการสร้างงาน และรายได้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายสร้างเครือข่ายให้ครบทั้ง 7 อำเภอ และเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวเป็น 500-600 กก./ไร่ ปัจจุบันอยู่ที่ 400 กก./ไร่ และสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือการที่จะได้รับโล่พระราชทานกรณีได้รับรางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศจากในหลวงในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี 2567 นี้ และได้ช่วยเหลือสังคมสนับสนุนข้าวและน้ำดื่มในงานต่างๆ ภายในชุมชน”ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าว

นายอรุณ ขันโคก ประธาน ศพก.อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อเป็นศพก.ตั้งแต่ปี 2558 ก็ได้พยายามขยายองค์ความรู้ด้านเกษตรพอเพียง และเทคนิคด้านต่าง ๆ ทั้งเกษตร ประมง และปศุสัตว์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ด้านเกษตรกับทางศูนย์มีความรู้ ความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรของตัวเองได้  เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อดิน จะต้องเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่การขุดบ่อ การประหยัดอาหาร และการตลาด การปลูกมะนาวในวงบ่อ ก็เริ่มจากจะปลูกพันธุ์อะไรที่เป็นที่นิยม การลดต้นทุน การทำน้ำมะนาวพร้อมดื่ม หรือ การปลูกเห็ด จะเริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน การทำเชื้อเห็ดก้อน การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 60 บาท เป็นกิโลกรัมละ 600 บาท และการขายหรือปลูกไม้กระแส เช่น บอนสี ที่ปัจจุบันขายได้วันละ 80-100 ต้น ๆ ละ 50 บาท ซึ่งวันหนึ่งได้หลายพันบาท โดยจะพยายามให้เกษตรกรเข้าใจแล้วลงมือทำ

ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศจช.ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

“การทำเกษตรให้เกิดรายได้สิ่งสำคัญต้องมีน้ำก่อน หรือทำให้มีแหล่งน้ำ เพราะนอกจากจะทำการเกษตรได้แล้ว ยังสามารถเลี้ยงสัตว์หรือทำประมงได้ด้วย เพราะทั้งพืชและสัตว์ต่างก็ต้องการน้ำ และที่สำคัญต้องดูบริบทและความต้องการสินค้าของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่นพื้นที่ภาคอีสาน เหมะสำหรับเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่บ้าน หรือ เลี้ยงวัว เพราะสินค้าเหล่านี้ตลาดมีความต้องการสูง ดังนั้นเมื่อเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้กับศูนย์ของเรา จะพยายามสร้างความเข้าใจให้ลึกซึ้งในประเภทที่ตัวเองเลือก จากนั้นจะลงมือทำ และเรียนรู้ไปด้วยกัน และเมื่อเกษตรกรประสบความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ เมื่อได้รับรางวัลในครั้งนี้ ยิ่งทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป และอนาคตจะเน้นทำให้ศูนย์ฯเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ของทุกศาสตร์ในด้านเกษตร”นายอรุณ กล่าว

นางสุกัญญา แอนิหน รองประธาน ศจช.ตำบลโรงเข้ จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปี 2557 มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว อย่างหนักตั้งแต่ภาคใต้จนถึงภาคกลาง ทำให้สวนมะพร้าวเสียหายอย่างหนักและเกษตรกรสูญเสียรายได้จำนวนมาก จากนั้นจึงได้เข้าปรึกษากับเจ้าหน้าที่อารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อหาวิธีกำจัด พร้อมไปศึกษาดูงานที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงแตนเบียนบราคอนไปกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว จนประสบความสำเร็จ เมื่อนำมาทดลองทำในสวนปรากฏว่าไม่ได้ผลในครั้งแรก เนื่องจากจำนวนแตนเบียนมีไม่มากพอ เปรียบเสมือนมีกำลังทหาร 1 นาย แต่ไปสู้กับข้าศึกกว่า 1 แสนนาย จึงเข้าไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแพ้ว เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดหาหนอนผีเสื้อข้าวสารไว้เป็นที่วางไข่ของแตนเบียน เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการให้ทุกอย่าง

ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.)ดีเด่นระดับประเทศ ปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ศดปช.ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

“ในที่สุดจึงทำเสร็จในปี 2561 และหยุดการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างสิ้นเชิงในปี 2565 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวรู้จักแตนเบียนเป็นอย่างดี และรู้ว่าศจช.ตำบลโรงเข้ เป็นผู้ริเริ่มและนำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย พร้อมขยายผลไปสู่ศจช.อื่น ๆ อีก 10 แห่ง จากผลสำเร็จดังกล่าวจึงทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ และเกิดความภาคภูมิใจที่สามารถต่อยอดไปยังเกษตรกรรายอื่น ๆ เพราะทราบดีว่าเมื่อหนอนหัวดำมะพร้าว ระบาด จะสร้างความเสียหายให้กับสวนมะพร้าวขนาดไหน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ  เช่น เชื้อบีทีในการกำจัดหนอน และกับดักฟีโรโมนในการกำจัดด้วงแรดมะพร้าว ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งสารเคมี เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

นายเลื่อน บุญสด ประธาน ศดปช.ตำบลนาหนองไผ่ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องการผสมแม่ปุ๋ย เพื่อให้นำกลับไปใช้ในแปลงเกษตรของตัวเองได้ โดยแม่ปุ๋ยที่สำคัญประกอบด้วยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 เมื่อเกษตรกรเข้าใจและมีความรู้แล้ว จึงสามารถใช้สูตรปุ๋ยกับพืชต่าง ๆ ได้ รวมถึงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ โดยในอนาคตจะพยายามขยายเครือข่ายและขยายองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทั้งอำเภอ และทั้งจังหวัด

ปัจจุบันนอกจากมีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปสนใจเข้าศึกษาเรียนรู้ด้านการผสมแม่ปุ๋ยแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และศดปช.ด้วยกันมาศึกษาดูงาน เนื่องจากเรามีการผลิตปุ๋ยอัดเม็ดที่มีมาตรฐาน ทำให้ผลิตปุ๋ยได้ปีละ 2,000-3,000 กระสอบ เกษตรกรนำไปใช้แล้วหลายพันไร่ นอกจากนี้ทางเรายังให้ความรู้ด้านการศึกษาวิเคราะห์ดิน ทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อดูแลพืชผลการเกษตรให้ทั่วถึง ซึ่งการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น และไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ ต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอชุมพลบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและคอยสนับสนุนด้านต่าง ๆ ทำให้ศดปช.ตำบลนาหนองไผ่ มีความเข้มแข็ง และพร้อมให้ความรู้ในด้านการดูแลดิน และปุ๋ยต่อไป

ทั้งนี้ศดปช.นาหนองไผ่ ยังโดดเด่นด้วยการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การปรับที่นาด้วยเลเซอร์ การดีท็อกดินด้วยชีวภัณฑ์ (Detox Din) การเพาะเลี้ยงและขยายแหนแดง และการใช้แบค – บอล (Bac – Ball) เพื่อย่อยสลายสารเคมีและควบคุมโรคพืชที่ตกค้างในดิน