TNDR 17 มหาวิทยาลัย เผยแผนบริหารจัดการภัยพิบัติปี 2567

เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) 17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดประชุมเครือข่ายประจำปี 2566 เผยทิศทางการทำงานปีหน้า เน้นบริการข้อมูลองค์ความรู้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชูการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมป้อนภาคส่วนต่าง ๆ ย้ำเร่งสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ UNDRR ขับเคลื่อนเรื่อง MCR2030 และจับมือ ADPC สนับสนุนการฝึกอบรมและงานด้านวิชาการต่างๆ พร้อมผนึกความร่วมมือกรุงเทพมหานครและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หวังยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติของประเทศไทย

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย (Thai Disaster Preparedness Foundation : TDPF) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience : TNDR) 17 มหาวิทยาลัย ประจำปี 2566 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่าย TNDR ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกเครือข่าย TNDR ทั้ง 17 มหาวิทยาลัย ได้รับฟัง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวทางการพัฒนาการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยร่วมกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนจากศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ร่วมนำเสนอบทบาทและแนวทางการทำงานด้านการจัดการภัยพิบัติร่วมกับเครือข่าย TNDR ทั้ง 17 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ด้วย

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะรองประธานกรรมการ TNDR ได้กล่าวถึงผลงาน 1 ปีที่ผ่านมาของเครือข่าย TNDR และเป้าหมายการทำงานในอนาคตว่า เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย หรือ TNDR เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย หรือ TDPF โดยการสนับสนุนของศูนย์ เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือ ADPC จัดตั้งขึ้นเพื่อเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลทางวิชาการด้านภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมความร่วมมือและบูรณาการเชื่อมโยง องค์ความรู้กับต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติของประเทศไทย ด้วยผลงานวิจัยและการจัดหลักสูตรฝึกอบรม โดยผลงานที่ผ่านมาประกอบด้วย ผลงานด้านการสร้างนวัตกรรม ผลงานด้านการสร้างเครือข่าย ผลงานด้านการเพิ่มขีดความสามารถ และผลงานด้านการแผยแพร่ เป็นต้น

ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานในอนาคต รศ.ดร.ศรินทิพย์ กล่าววว่า TNDR วางแผนให้บริการข้อมูล/องค์ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ เน้นการจัดทำหลักสูตร และการจัดฝึกอบรม จำนวน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในการจัดการภัยพิบัติ, หลักสูตรการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย และหลักสูตรการกู้ชีพ เน้นการประสานงานการจัดทำโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ของหน่วยงานรัฐ หรือภาคส่วนต่างๆ ที่ร้องขอความช่วยเหลือมายัง TNDR เช่น การจัดทำโครงการวิจัยเพื่อจัดทำตัวชี้วัดให้กับแผน ปภ.ระดับชาติ การจัดทำโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปากพนังและ ลุ่มน้ำสงขลา ฯลฯ

นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNDRR โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเรื่อง MCR2030 การทำงานร่วมกับ ADPC ทั้งด้านการสนับสนุนการฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆ และความร่วมมือแบบ ทวิภาคี เช่น National Crisisonomy Institute, Chungbuk National University ประเทศเกาหลี เป็นต้น

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

อย่างไรก็ตาม การประชุมเครือข่าย TNDR ประจำปีครั้งนี้ ตัวแทนจาก 17 มหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมนำเสนอผลงานด้านการจัดการภัยพิบัติในส่วนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกันอาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอเรื่องการสร้างภาคีเครือข่ายด้านระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤต, มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดและประเมินความเข้มข้นของ PM 2.5 จากข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศด้วยปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง, การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ระหว่างความเข้มข้นของ PM2.5 จากข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศและแหล่งกำเนิดด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการพัฒนาระบบติดตามเส้นทางและโดรนสำหรับลาดตระเวนในพื้นที่ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากเครือข่ายภาครัฐต่างๆ ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย อาทิ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สภากาชาดไทย สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ฯลฯ