Thai Spirit ชูแนวคิดโตอย่างยั่งยืน นำ “ธุรกิจเครื่องดื่ม”

Thai Spirit ชูแนวคิดโตอย่างยั่งยืน นำ “ธุรกิจเครื่องดื่ม” สร้างโอกาส เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

ความยั่งยืน (Sustainability) ของธุรกิจเริ่มต้นจากอะไร? สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือส่งผลให้ธุรกิจแข่งขันได้ เติบโต มีกำไรหล่อเลี้ยงองค์กรให้มีเสถียรภาพ นั่นคือแนวคิดของ ซีอีโอพันล้าน คุณเทพอาจ กวินอนันต์ ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้นำเข้าเครื่องดื่มเบียร์แบรนด์ยอดนิยมจากต่างประเทศมาทำการตลาด และจำหน่ายในประเทศไทย ผู้ปลุกรสนิยมตลาดเบียร์นำเข้ายุค 90 ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อ บรรดานักดื่มจะต้องรู้จักดี โดยปัจจุบันเขาขยายอาณาจักรธุรกิจ จนครอบคลุมสินค้าประเภทเครื่องดื่มหลากหลายประเภท

“ไข่หลายใบอยู่ในตะกร้าใบเดียว เสี่ยงเกินไป” คุณกณพ ปรารถนาดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด (TSI) โรงงานผลิตเครื่องดื่ม ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่ม RTD (Ready To Drink) ทั้งรูปแบบแบรนด์ของโรงงานเอง OBM (Original Brand Manufacturer) รวมถึง รับจ้างผลิต OEM (Original Brand Manufacturer) ให้กับแบรนด์อื่น เจ้าของคือ คุณเทพอาจ กวินอนันต์ ที่เริ่มทำธุรกิจนำเข้าเบียร์แบรนด์ยอดนิยมต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมองช่องว่างของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2542 ภายใต้บริษัท บริวเบอรี่ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแบรนด์ Hoegaarden, Budweiser เป็นต้น และต่อมาได้ขยายธุรกิจโดยก่อตั้ง บริษัท รอยัลเกทเวย์ จำกัด ธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มในกลุ่ม RTD ที่มีโปรดักส์เครื่องดื่มทั้งกลุ่ม Non-Alcohol และ Alcohol ทั้งได้ขยายอาณาจักรการลงทุนในธุรกิจหลายด้าน ขณะที่การเข้าซื้อธุรกิจโรงกลั่นสุรา และการขอใบอนุญาตผลิตจำหน่ายเพิ่มเติมในสุราบางชนิดเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากผู้นำเข้า มาสู่เส้นทางผู้รับจ้างผลิตแบรนด์ของลูกค้า และผลิตแบรนด์ของโรงงานเอง ซึ่งโรงงานมีศักยภาพในการผลิตสุรา-เบียร์ บรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ได้ทุกประเภทตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-Alcoho) เครื่องดื่มจากกัญชา กัญชง เครื่องดื่มชนิด RTD (Ready to Drink) เพื่อรองรับในตลาด

คุณกณพ ปรารถนาดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด (TSI)

ปรับสูตรผลิต 70-30 หากย้อนกลับไปช่วงแรก หลังจากที่มีโรงงานผลิตสินค้าแบรนด์เราเอง การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จึงปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยเน้นตลาดรับจ้างผลิตก่อน สัดส่วนอาจมีขยับบ้าง เช่น ร้อยละ 70 เป็น OEM อีกร้อยละ 30 เป็น OBM หรือ แบ่งเป็น 60-40 แล้วแต่สถานการณ์ของธุรกิจแต่ละช่วงเวลา และค่อยๆ ผลักดันแบรนด์ตัวเองมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ภาพรวมธุรกิจกลุ่ม OBM ที่เป็นสินค้าแบรนด์ของบริษัท เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 70 ขณะที่ส่วนลูกค้า OEM จะยังคงไว้ในระดับเท่าเดิม เนื่องจากมองว่าช่องว่างในตลาดใหม่ เช่น สุราชนิดแช่ และสุราผลไม้ เป็นกลุ่มที่มีผู้เล่นน้อยราย มีโอกาสที่ธุรกิจจะพัฒนาสินค้าให้แข่งขันได้ จากแนวคิดนี้ ทำให้เราประสบความสำเร็จ ในการทำตลาด “สุราชนิดแช่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ของเราเอง

สร้างสัมพันธ์ของคู่ค้า มอบโอกาส ช่วยสังคม จุดแข็งธุรกิจ คือ องค์ความรู้และความชำนาญในการผลิตและการตลาด ทำให้ธุรกิจเติบโต และมีเสถียรภาพ โรงงานสามารถผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลาย รวมทั้งการผลิตแบบ Small lot ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือแนวคิดพัฒนาสินค้าเพื่อรองรับตลาดใน 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจึงมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้าน Product Innovation โดยทีมบริหาร จะคิด วิเคราะห์ ให้โจทย์ไว้อย่างชัดเจน และกำหนดเป้าหมายของงาน การคิดล่วงหน้าโดยวางแผนระยะยาวจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้ สามารถรับจ้างผลิตคราฟต์เบียร์ ตั้งแต่ 60-20,000 ลิตร มีแบรนด์สินค้า 56 แบรนด์ และมีกว่า 200 SKUs (รสชาติ) โดยทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการไทย ดังนั้น จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสในตลาดเบียร์ที่มีความหลากหลายทั้งในแง่รูปลักษณ์และรสชาติ ส่งผลให้ตลาดนี้มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น กลยุทธ์การพัฒนา จึงไม่เพียงมุ่งเพิ่มเสถียรภาพธุรกิจ แต่ยังส่งเสริมให้คู่ค้าเติบโต มีรายได้ และมีความยั่งยืนในการทำธุรกิจควบคู่กันไป โดยธุรกิจเราเอาใจใส่ลูกค้า OEM เหมือนครอบครัวเดียวกัน รวมถึงการดูแลใส่ใจสังคม มีการดำเนินกิจกรรม CSR ด้าน ชุมชน วัด โรงเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งธุรกิจ ลูกค้า และซัพพลายเชน

โรงเรียนสอนต้มเบียร์ “อุดมคติ” เปิดหลักสูตรทำคราฟต์เบียร์เชิงพาณิชย์ สำหรับ Know How ด้านการพัฒนานวัตกรรมสินค้า (Product Innovation) เป็นเรื่องที่ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ค่อยนำมาเปิดเผย แต่คุณเทพอาจไม่คิดเช่นนั้น เนื่องจากเขาเริ่มต้นจากการนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศเข้ามาทำการตลาด และจัดจำหน่ายในประเทศไทย ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทำให้เขาผ่านร้อนผ่านหนาว ฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบาก จนประสบความสำเร็จได้ จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจการทำคราฟต์เบียร์เชิงพาณิชย์ เป็นที่มาของการเปิด โรงเรียนสอนต้มเบียร์ “อุดมคติ” ที่ไม่เพียงให้ความรู้ แต่ “กระจายโอกาส” ผู้ที่อยากทำธุรกิจ หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่อยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง

โดยโรงเรียนสอนต้มเบียร์อุดมคติ จะให้คำปรึกษาการพัฒนาสินค้าแบบ One Stop Service เริ่มตั้งแต่รายละเอียดวัตถุดิบ ขั้นตอน สูตรการทำคราฟต์เบียร์ ออกแบบสินค้า รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้ด้วย สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นกลไกให้สามารถพัฒนาลูกค้าในส่วน OEM ตลอดจนการส่งเสริมช่องทางการตลาดและพัฒนาการแข่งขันในตลาดของตนเองได้

เพิ่มมูลค่าเกษตร สู่อุตสาหกรรมสุรา-คราฟต์เบียร์ คุณกณพ มองว่า ความหลากหลาย เป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดกลุ่มคราฟต์เบียร์เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงกฎหมายที่จะเป็นโอกาสของผู้ผลิตรายเล็ก และทำให้มีการนำสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว วัตถุดิบหลักที่นิยมนำมาผลิตสุราและเบียร์ มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ อีกแง่หนึ่ง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม คุณภาพของสินค้าและการมีตลาดรองรับที่ชัดเจน เป็นส่วนสำคัญของการอยู่รอดของธุรกิจคราฟต์เบียร์

ดังนั้น หากต้องการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อรองรับตลาดวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นสุรา หรือคราฟต์เบียร์ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก อาจพิจารณาวัตถุดิบที่เป็นพันธุ์เฉพาะ เช่น พัฒนาและส่งเสริมข้าวหอมมะลิ หรือข้าวสายพันธุ์เฉพาะที่เหมาะสมสำหรับแปรรูปเป็นสุราและเบียร์ โดยกำหนดราคา หรือประกันราคาที่เหมาะสมหรือสูงกว่าท้องตลาด และพยายามหล่อเลี้ยงซัพพลายเชนส่วนนี้ ให้มีการพัฒนาและเติบโต เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูป

ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพิจารณาคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงส่งเสริมทัศนคติการใช้วัตถุดิบเกษตรไทย ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตรของ โรงเรียนสอนต้มเบียร์ “อุดมคติ” อีกด้วย

โดยเฉพาะการกำหนดคุณภาพและมาตรฐาน เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถทำตลาดและแข่งขันได้ ต้องคิดตั้งแต่ต้นน้ำ คือต้องมีการกำหนดชนิดและสายพันธุ์สำหรับวัตถุดิบในการผลิต เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตตามความต้องการของอุตสาหกรรมต้นน้ำ ในราคาที่เหมาะสมหรือสูงกว่าตลาด

สร้างกลไกเติบโตอย่างครบวงจร ด้านผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ต้องยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า พัฒนาช่องทางจำหน่าย เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยให้เกิดความยั่งยืน และเพิ่มช่องทางตลาดถึงมือผู้บริโภค กระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้างซัพพลายเชน ที่เป็นกลไกขับเคลื่อน และยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตรในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างยั่งยืน

คุณกณพ ให้ความเห็นว่า กรณีการเปิดตลาดสุรา-เบียร์เสรี การปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ตลาดมีการพัฒนา ทั้งโรงงานเราเอง มีรองรับตลาด OEM สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาในธุรกิจนี้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือ ผู้สนใจทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ ต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายสุราอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกัน เรามีทีมงานให้คำแนะนำและส่งเสริมธุรกิจของลูกค้า สามารถนำไปกำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาแบรนด์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดได้อย่างตรงเป้าที่สุด

สุดท้าย สำหรับผู้ที่สนใจ โรงเรียนต้มเบียร์ “อุดมคติ เรามีเปิดคอร์สสอนตั้งแต่การปรุงเบียร์ เพื่อให้ได้รสชาติที่ต้องการ หากทำเพื่อจำหน่าย รสชาติที่ถูกปากคนดื่มต้องมีส่วนผสมรวมกัน ทั้ง Emotional และรสสัมผัส รวมไปถึงรสนิยมการดื่ม มาเป็นตัวชี้วัด เนื่องจากผู้บริโภคมีหลากหลาย โจทย์ความต้องการจึงหลากหลายตามไปด้วย เชื่อว่าตลาดนี้ มีโอกาสและช่องว่างอีกมากพอสมควร นี่เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องหาให้เจอ

ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่  www.Bangkokbanksme.com

รู้จัก บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด ได้ที่ http://www.thaispirit.co.th/