กยท. ชูนวัตกรรมหุ่นยนต์กรีดยาง ดันฮอร์โมนแอทธิลีนเพิ่มผลผลิต

กยท. หนุนเทคโนโลยี เพิ่มปริมาณน้ำยาง ช่วยลดต้นทุน ทุ่นแรงเกษตรกร พร้อม ดึงงานวิจัยต่อยอดนวัตกรรม ชู ฮอร์โมนเอทธิลีน-เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ เพิ่มทางเลือกใหม่เพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต สู่การจัดการสวนยางยั่งยืน

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ งบประมาณ และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง รวมไปถึงครูยางอาสา โดยล่าสุด กยท. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพาราด้วยนวัตกรรมใหม่” เปิดพื้นที่สวนยางให้ครูยางอาสาได้ศึกษาการใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนเพิ่มปริมาณน้ำยางด้วยตนเอง

นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการให้น้ำ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การให้น้ำเพียงอย่างเดียวควบคู่ไปกับการใช้ฮอร์โมนเอทธิลีน สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ถึง 25% กยท. เห็นความสำคัญในส่วนนี้และได้ส่งเสริมเกษตรกรด้วยโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในสวนยาง ที่ผ่านมาได้มีการทำแปลงต้นแบบในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ จังหวัดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และยกระดับสู่ “อุทัยธานีโมเดล” เตรียมขยายผลไปอีกหลายพื้นที่ในอนาคต ซึ่งจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนครูยางอาสาในแต่ละพื้นที่ต่อไป

นายสุขทัศน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันได้มีการคิดค้นนวัตกรรม Cable Robot หุ่นยนต์กรีดยางพารา” ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก กยท. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ตลอดจนปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตยางน้อยกว่าปกติ ซึ่งหุ่นยนต์กรีดยางพาราที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถติดตั้งกับต้นยางพาราได้ทุกต้น โดยที่ไม่รบกวนการเจริญเติบโต หรือสร้างความเสียหายแก่ต้นยางพารามากเกินไป อาศัยต้นยางพาราเป็นเสาหลักในการเกาะยึด เคลื่อนตัวผ่านสายสลิง ปรับองศาการเอียงตัวในกรณีที่ต้นยางเอียงหรือตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงได้ ซึ่งหุ่นยนต์ 1 ตัว สามารถกรีดยางได้หมดทั้งสวน โดยใช้พลังงานจากแหล่งไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ปั่นไฟ โซลาร์เชลล์ ขณะนี้เตรียมศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ต่อไป

“การใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนเข้ามาเพิ่มปริมาณน้ำยาง นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะลดระยะเวลาการกรีดยางลงได้ถึง 1 ใน 3 โดยฮอร์โมนเอทธิลีนจะเข้ามาชะลอการจับตัวของอนุภาคยางในน้ำยาง ช่วยเพิ่มระยะเวลาการไหลของน้ำยางให้ยาวนานขึ้น สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 2 เท่า ใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนยังสามารถลดความเสียหายต่อหน้ายางได้ เนื่องจากต้องกรีดแบบ 1 วัน เว้น 2 วัน และใช้วิธีกรีดแบบหน้าสั้น 3-4 นิ้ว หรือสามารถใช้วิธีการเจาะแทนการกรีดแบบเดิม ซึ่งจะช่วยยืดอายุการเก็บเกี่ยวจาก 25-30 ปี เป็น 30-40 ปี และยังยืดอายุการโค่นต้นยางไปได้อีกด้วย” นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย