เทคนิคบริหารหนี้

สําหรับใครที่เป็นสายเปย์ โดยเฉพาะการเปย์ด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นการใช้จ่ายล่วงหน้าและต้องมาชำระหนี้คืนภายหลัง อาจจะมีการใช้จ่ายเพลินจนไม่ได้ประเมินมูลค่าหนี้จากการใช้จ่ายรวมกับการใช้จ่ายเดือนก่อนๆ ทั้งบางคนอาจจะมีค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถอีก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการหนี้เหล่านี้ มันนี่ทิปมีคำแนะนำจากธนาคารกรุงเทพมาฝากกันค่ะ

สำหรับ “หนี้” เป็นเหมือนไขมันส่วนเกินของสุขภาพการเงิน ที่ต้องมีการจัดการที่ละส่วนเพื่อสร้างซิกแพคทางการเงิน ได้แก่ 1. การชั่งน้ำหนักวัดปริมาณหนี้ว่ามีหนี้จากอะไรบ้าง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมทั้งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ 2. เช็กปริมาณหนี้จากข้างต้น ซึ่งรวมแล้วหนี้ทั้งหมดไม่ควรเกิน 40% ของรายได้รวมในแต่ละเดือน เช่น หากรายได้ 10,000 บาท ต่อเดือน ระดับหนี้ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 4,000 บาท 3. เลือกจัดการกับหนี้ให้ถูกจุด โดยแบ่งเป็นหนี้ดี คือเป็นหนี้ที่สร้างรายได้ หรือทำให้ได้สินทรัพย์เพิ่มเติม ขณะที่หนี้ที่ไม่ดี อาจจะเกิดจากการใช้จ่ายเกินความจำเป็น หรือซื้อเพราะอยากได้ของแถม ซื้อเพราะโปรโมชั่น เป็นต้น

4. จัดลำดับความสำคัญของหนี้หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อลดการใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจะช่วยลดปริมาณหนี้ส่วนเกินได้ 5. เริ่มจัดการหนี้ที่มีอยู่ โดยทยอยการใช้หนี้ ใช้บัตรเครดิตเท่าที่จ่าย และไม่สร้างหนี้เพิ่ม เป็นต้น 6.ควบคุมการใช้จ่าย โดยมีการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่สร้างให้ภาระหนี้เกินตัว และมีการหารายได้เสริมเพิ่มเติม เช่น การทำงานอดิเรกและนำมาขายสร้างรายได้ การขายสินค้าออนไลน์ซึ่งได้ทั้งสินค้าใหม่และสินค้ามือสอง เป็นต้น เพื่อเก็บเงินใช้หนี้ที่มีอยู่ ทั้งนี้ควรมีการวางแผนชำระหนี้ในแต่ละเดือน และต้องมีวินัยในการชำระหนี้ เพราะหากมีการไม่จ่ายอย่างสม่ำเสมออาจจะมีหนี้เพิ่มเติมจากดอกเบี้ยได้

นอกจากการบริหารจัดการหนี้ที่ดีแล้ว ที่สำคัญควรมีบันทึกรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารเงินในกระเป๋าอย่างมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาวนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก กระปุกหมู