ททท.รวมใจท่องเที่ยววิถีพอเพียง ตามรอยพ่อ…ชุมชนทั่วไทยยั่งยืน

“คนไทยโชคดีที่สุดในโลกที่มีในหลวง” นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จวบจนถึงตุลาคม 2560 “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ได้ปฏิบัติภารกิจน้อมนำเรื่องราวคำสอนของพ่อในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ทรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้คนเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์อย่างลึกซึ้งถึงวิถีการดำรงอยู่อย่างไทยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา อย่างเข้าใจ เข้าถึง เริ่มจาก 70 เส้นทางตามรอยพระบาท ต่อเนื่องไปถึงชุมชนต้นแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวิชา 9 หน้า ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมายัง ททท.เมื่อครั้งยังเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาทถึงการส่งเสริมท่องเที่ยว แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 20-30 ปีแล้ว คำสอนของพระองค์ท่านก็ยังคงทันสมัยเกี่ยวกับอัธยาศัยใจคอคนไทยเป็นเสน่ห์ ทำให้คนทั่วโลกเดินทางเข้ามายังประเทศไทย

ททท.ได้น้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาพัฒนาทางการตลาดท่องเที่ยว พร้อมทั้งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาคนตามหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ ตลอดช่วงตุลาคมปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 2560 ททท.จัดทำโครงการ Village Tourism 4.0 คัดเลือก 10 ชุมชนแห่งการพัฒนาวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เชิญชวนเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ตรงครอบคลุมทั้ง 5 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ คือ “ชุมชนปู่หมื่น” ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนแห่งการทำไร่ชาของชาวเขาเผ่าลาหู่ ซึ่งได้รับต้นชาสายพันธุ์อัสสัมพระราชทานต้นแรกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ปัจจุบันมี “จะฟะ ไชยกอ” ทายาทรุ่นสามของผู้นำชนเผ่าลาหู่ยุคบุกเบิกสานต่อการปลูกชาแบบครบวงจร กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนอย่างมั่งคั่ง ยั่งยืน และ “ชุมชนตำบลบ้านแซว” อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ศูนย์รวม 5 ชนเผ่า ที่เรียกตัวเองว่า “อีสานล้านนา” มีเอกลักษณ์การแต่งกาย อาหารการกิน ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง (Harmonious Mekong) อย่างมีความสุขพร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกวัน

ภาคใต้ คือ “ชุมชนแหลมสัก” อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ผู้นำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีประมง สภาพพื้นที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ทุกวันนี้ชาวบ้านหันมาปลูกสาหร่ายพวงองุ่นกลางทะเลแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ สปา สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ควบคู่กับการผลิตอาหารถิ่นยอดนิยมคือข้าวคลุกกะปิ ใช้กะปิกุ้งตักจากทะเลเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย และ “ชุมชนบ้านลำขนุน” อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง แหล่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การรำมโนราห์ ทำหนังตะลุง และไปพายเรือคายักในสายน้ำ 5 ลำคลอง

ภาคตะวันออก คือ “ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรรักษ์เขาบายศรี” อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี แหล่งรวมสวนผลไม้ที่ชาวสวนนำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น น้ำพริกระกำ เมนูเด็ดจันทบุรี รวมถึงเรื่องเล่าประวัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น

จากนั้นก็มีวิถีชีวิตชาวบ้านป่าชายเลน“ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” บ้านแหลมมะขาม จังหวัดตราด แหล่งสานงอบ แกะสลักไม้ และทำชาใบขลู่หอม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

ภาคกลาง คือ “ชุมชนตำบลบ้านแหลม” อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น รัชกาลที่ 5 มีอาหารถิ่นจานเด็ดใช้ปลาม้าเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงเคล็ดลับการทำขนมชาววัง

และ “ชุมชนตำบลหนองโรง” อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ฐานกิจกรรมผจญภัยป่าเชิงอนุรักษ์ 37 ฐาน วิถีจักสานเปลไม้ไผ่ ทำผ้าขาวม้า กำไลเถาวัลย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ภาคอีสาน คือ “ชุมชนตำบลสวาย” อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมผ้าไหมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สะท้อนภาพการกินอยู่แบบวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ท่ามกลางฝูงควายนับพันตัว และ “ชุมชนบ้านสนวนนอก” อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ดินแดนแห่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแปรรูปเป็นแฟชั่นผ้าไหมไทยมูลค่าสูงจำหน่ายไปทั่วโลก

ททท.เตรียมนำทั้ง 10 ชุมชนมาร่วมในงานไทยเที่ยวไทยให้ชมอย่างใกล้ชิดระหว่าง 2-5 พฤศจิกายน 2560 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

ช่วงเดือนตุลาคม 2560 ททท.ยังได้ร่วมกับสำนักงานแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นำชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชามาจัดนิทรรศการแสดงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อีก 4 ชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมจะเห็นภาพสะท้อนชัดเจนถึงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา แต่ละวิชาก้าวหน้ามาปรับใช้สร้างวิถีชีวิตไทยอย่างมีความสุข ประกอบด้วย

“ชุมชนท่องเที่ยว บ้านหนองส่าน” จังหวัดสกลนคร จากพื้นที่แห้งแล้งและทุรกันดาร ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร อ่างจัดเก็บน้ำ และโครงการพระราชดำริ สามารถพบอยู่โดยรอบทางเข้าหมู่บ้าน ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก

“ชุมชนริมน้ำจันทบูร” จังหวัดจันทบุรี เป็นชุมชนไร้พรมแดน ถึงแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลายเชื้อชาติ แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก นักท่องเที่ยวไปถึงแล้วจะได้สัมผัสกับบ้านเรือนที่คงกลิ่นอายความโบราณแสนคลาสสิก และศาสนสถานสำคัญยึดเหนี่ยวทางจิตใจคนเติมเต็มภาพแห่งความพอเพียง

“ชุมชนบ้านปงห้วยลาน” จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยลาน โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน แวดล้อมด้วยบรรยากาศร่มรื่น สายน้ำใสสะอาด ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจสร้างงานหัตถกรรมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ชุมชน มีอาหารกำเมืองขึ้นชื่อ สมบูรณ์ด้วยผัก ผลไม้ ด้วยวิถีชีวิตแบบไทย

“ชุมชนรอบโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ” จังหวัดชุมพร จากพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนและทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเล ขยับขยายต่อยอดเป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชน พร้อมนำเสนอความสวยงามของพื้นที่ วิถีชีวิตชุมชน และการเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเรียนรู้ ทั้งประวัติความเป็นมาและการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ ที่ชาวประชาจะไม่มีวันลืม

นอกจากนี้ ททท.ยังสนับสนุนจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยง “วิชา 9 หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ เลือก 9 คนดังต้นแบบร่วมสืบสานปณิธานพ่อ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวิดีโอสารคดี ชุด “วิชา 9 หน้า” อีกทั้งยังช่วยต่อยอดศาสตร์พระราชาบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น ลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ควบคู่กับการเวิร์กช็อปเพิ่มศักยภาพชุมชน เตรียมความพร้อมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนในแต่ละท้องถิ่น

“ยุทธศักดิ์” ย้ำว่า ททท.มุ่งเน้นการน้อมนำศาสตร์พระราชาตามแนวความคิดของพระองค์ โดยจะทำให้อยู่คู่กับคนไทยไปตลอด ประการสำคัญที่สุดคือ ทุกเรื่องราวล้วนก่อให้เกิดความยั่งยืนสร้างคุณูปการแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมากมายมหาศาล ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ตุลาคม 2559 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2560 มีนโยบายให้สำนักงานต่างประเทศ 28 แห่ง สื่อสารถึงผู้คนทั่วโลกให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความโศกเศร้าถึงความสูญเสียครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

ดังนั้น ในการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงขอความร่วมมือกระทำกิจกรรมอย่างเหมาะสม ส่วนการท่องเที่ยวภาพรวมก็ยังต้องดำเนินต่อไปตามปกติ ยกเว้นแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่หรือบางแห่งต้องปิดใช้เพื่อทำพระราชพิธี หรือลดความครึกครื้นลง

ตลอดกว่า 350 วันที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเกือบ 30 ล้านคน ต่างรับทราบ รับรู้ ทุกคนพร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับความเป็นคนไทยในเหตุการณ์ครั้งนี้

“ยุทธศักดิ์” กล่าวว่า ช่วงคาบเกี่ยวปลายเดือนตุลาคมนี้จะมีเทศกาลกินเจ ถือศีล กินผัก ในพื้นที่หลักจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังการจัดงานกินเจสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวนานาชาติเข้ามาร่วมนั้น ปีนี้จะลดโทนอึกทึกครึกโครม ไม่จัดกิจกรรม อาทิ ม้าทรง เดินลุยไฟเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวเข้าใจได้ ททท.จะรณรงค์ให้ทุกคนร่วมทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

หลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ททท.จะหันกลับมามุ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศปลายปีต้อนรับฤดูกาลเดินทางของนานาชาติ (high season) เข้าสู่งานประเพณี “ลอยกระทง” ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายนนี้

โดยเฉพาะวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 จะมีพิธีเปิด “ปีการท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” อย่างยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมครึกครื้นรวมอยู่ด้วย สถานที่จัดศูนย์กลางกรุงเทพฯ บริเวณถนนพระราม 4 จุดตั้งต้นตั้งขบวนงานตรงสนามศุภชลาศัย ผ่านแยกราชประสงค์ ไปสิ้นสุด ณ สวนลุมพินี เริ่มเวลา 17.00 น. เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ แสง สี ผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยธีม AMAZING THAILAND Tourism Year 2018 โดยจะจัดการแสดงจำลองศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ มาให้ได้ชมกันทั้งประเทศและทั่วโลก

ททท.คือสะพานเชื่อมโยงการท่องเที่ยวหลอมรวมหัวใจคนไทยเป็นหนึ่งเดียว เพื่อร่วมใจกันพัฒนา “วิถีพอเพียงหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” ได้ ตามศาสตร์พระราชา ตามตำราของพ่อ ให้ดำรงอยู่กับคนไทยและทั่วโลกตลอดไป

เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : บล็อกเกอร์–gurutourza