กินอาหารเป็นยา

ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน บ่งชี้ว่า แม้แต่ยาจีนที่ใช้รักษาโรค ยังสู้การเลือกอาหารกินเป็นยาไม่ได้ คนโบราณจึงพิถีพิถันในการเลือกอาหารกินอย่างมาก อาจารย์หยาง เผยเซิน แพทย์แผนจีน ศูนย์ชี่กงเพื่อสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีจึงควรกินอาหารตามธาตุ ซึ่งในแพทย์แผนจีนจะเน้นเรื่องหยิน (ฤทธิ์เย็น) และหยาง (ฤทธิ์ร้อน)

ทั้งนี้ อาหารฤทธิ์เย็นเป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเกิดความเย็น สังเกตง่ายๆ คือ เป็นอาหารที่ทำให้รู้สึกชุ่มคอ ไม่หิวน้ำ เช่น มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ลางสาด กล้วยน้ำว้า น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว สตรอเบอรี่ เป็นต้น

ส่วนอาหารฤทธิ์ร้อน เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้เกิดความร้อน สังเกตง่ายๆ คือ กินแล้วรู้สึกเผ็ดร้อน หรือรู้สึกหิวน้ำ เช่น ฝรั่ง ขนุนสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า สละ ส้มเขียวหวาน มะตูม ละมุด มะเฟือง มะปราง มะขามหวานสุก สมอพิเภก มะไฟ มะแงว (ลิ้นจี่ป่า) ทับทิมแดง มะม่วงสุก ลูกยอ กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

พฤติกรรมการกินอาหารของคนในปัจจุบันไม่ได้ระมัดระวัง คือ กินตามใจปาก กินเผ็ดจัด เค็มจัด ใส่น้ำตาล บางคนกินอาหารตามโฆษณา กินตามกระแส กินทีละมากๆ เพื่อให้เห็นผลเร็ว แต่ไม่รู้ผลเสีย อาทิ กินแครอตจนตัวเหลือง กินขิงมากทุกวันจนร้อนใน กินข้าวเหนียว ซึ่งบางคนกินได้ บางคนกินแล้วร้อนใน อึดอัด รู้สึกไม่สบาย เป็นต้น

สำหรับอาหารที่เป็นยาและนิยมมากๆ ได้แก่ พุทรา ขิงสด ลูกเดือย ถั่วเขียว มะระ เช่น กรณีเป็นสิว แก้ไขได้ด้วยการให้กินมะระต้มกับกระดูกหมู คนที่ร้อนในให้กินน้ำจับเลี้ยง คนที่เป็นหวัดดื่มน้ำขิงใส่น้ำตาลทรายแดง คนที่มีอาการไอแห้งๆ ดื่มน้ำสาลี่ต้มผสมน้ำตาลกรวด ฯลฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2560