กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โชว์ศักยภาพความพร้อมซ่อมบำรุงอากาศยาน เร่งเสริมศักยภาพบุคลากร สู่ปฏิบัติการฝนหลวงรับปี 61

การซ่อมบำรุงอากาศยานและการฝึกบินทบทวน ถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะอากาศยานที่มีความพร้อมสมบูรณ์ นักบินที่มีประสบการณ์ ทักษะการบิน ย่อมมีส่วนผลักดันให้ภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งกองบริหารการบินเกษตรได้มีแผนการซ่อมบำรุง อากาศยานตามแผนไปแล้วส่วนหนึ่ง ประกอบด้วยแผนฝึกบินทบทวน ประจำปี

ทังนี้ได้จัดให้มีการอบรมความรู้ภาคทฤษฎีให้กับนักบินเป็นการเรียนทบทวนความรู้เกี่ยวกับการบินเครื่องยนต์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ในเครื่องบิน และภาคปฏิบัติต่างๆโดยให้นักบินมีการฝึกบินกับเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในสนามบินที่ปฏิบัติงานจริง เช่น สนามบินพิษณุโลก สนามบิน ขอนแก่น และสนามบินนครสวรรค์ เพื่อเป็นการทบทวนท่าทางการบินที่สำคัญ ทั้งที่ได้ปฏิบัติ และไม่ได้ปฏิบัติในช่วงเวลาบินปฏิบัติงานปกติ การบินเมื่อ อากาศยานฉุกเฉิน รวมทั้งฝึกบินการปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเปลี่ยนแบบให้แก่นักบินที่บรรจุใหม่ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับอากาศยานก่อนออกปฏิบัติงานจริง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทุกครั้งที่ปฏิบัติภารกิจด้วยดีต่อไป

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-31 ตุลาคม ของทุกปี การขึ้นปฎิบัติการฝนหลวงจะถูกกำหนดขึ้นตามแผนปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับภาคการเกษตร และใช้ในการอุปโภค บริโภค รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั่วทุกภูมิภาคจำนวน5 ศูนย์ ประกอบกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ขณะเดียวกันการฝึกบินทบทวนเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกภารกิจหนึ่งของนักบินกรมฝนหลวงฯ เนื่องจากนักบินจะต้องปฏิบัติงาน ตามภารกิจของกรมฝนหลวงฯตลอดทั้งปี เช่น การบินปฏิบัติการฝนหลวงการบินตัดแปรสภาพอากาศ การนบินเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง งานบินบริการและบินสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆที่ร้องขอ การฝึกบินทบทวน นับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานด้านการบิน และเกิดความปลอดภัยสูงสุด เป็นการฝึกให้นักบินมีทักษะและความเชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเชื่อมั่นการบินต้องเตรียมพร้อม และต้องสามารถตอบรับแก้ไขสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี ปฏิบัติการฝนหลวงจะเข้าไปช่วยพื้นที่เกษตร ภาคกลาง 14 จังหวัด  10 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว อ้อย  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง โดยได้ทำงานเชิงรุกจะใช้แบบทีจีไอเอส สำรวจพื้นที่เพาะปลูกว่ามีอายุระหว่างใด ดูข้อมูลฝนตก ไม่ตก เพื่อมาจัดลำดับความสำคัญในการทำฝน รวมทั้งเหตุการณ์ที่ประชาชนร้องขอ ขณะเดียวกันในส่วนของการเติมน้ำในเขื่อน แม้ว่าปีนี้น้ำในเขื่อนบางเขื่อนจะมีน้ำอยู่ร้อยละ 80 ตามก็ตาม แต่ก็ยังน่าเป็นห่วง โดยเขื่อนแม่กวง มีน้ำ ร้อยละ 40 เขื่อนลำตะคอง มี ร้อยละ 60 ที่ผ่านมาได้ระดมสรรพกำลังเติมน้ำ ทำให้มีน้ำพอใช้ และขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 2 หน่วย ซึ่งเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยก็สามารถเติมได้

อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องของสารฝนหลวง โดยในปี 2561 ได้จัดเตรียมสารฝนหลวงไว้ประมาณ9,000 ตัน เพื่อใช้นากรปฏิบัติการฝนหลวง อีกทั้งการบินสำรวจข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการปฏิบัติการฝนหลวง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง อาทิ  ข้อมูลการปลูกพืชในฤดูแล้งของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า บุคลากรด้านฝนหลวงก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีนักบิน 65 คน โดยแผนปรับอัตรากำลัง 3 ปี  ต้องการนักบินฝนหลวง 100 กว่าคน จะครบภารกิจตามแนวตามแผนยุทธศาสตร์ฝนหลวง 4.0 ได้เร่งทำแผนเพื่อนำเสนอไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่ระหว่างปี 2561-2563

สำหรับที่ผ่านมาได้ทำการบรรจุนักบินหญิงคนแรกของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นางสาวสร้อยสกุล คุณสุข เล่าว่า ได้เข้ามาสอบในตำแหน่งนักบินของฝนหลวง ดีใจและเกียรติอย่างมากที่จะได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างสูง จะทำให้ให้ดีที่สุดตามที่ตั้งใจไว้ เพราะการทำงานที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรไม่เหมือนกับการทำงานที่อื่นๆ ได้ช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งให้มีน้ำใช้ และสิ่งที่สำคัญได้น้อมนำสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในเรื่อการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขให้เกษตรกรอีกด้วย

พันตรียอดรัก วงศ์แก้ว นักบินบรรจุใหม่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้รับราชการรับใช้ชาติ ที่ผ่านมาทางบ้านมีอาชีพทำการเกษตรรู้ว่าช่วงเวลาขาดแคลนน้ำไม่มีน้ำใช้มีความลำบากอย่างไร พืชสวนไร่นาที่ทำไม่ได้ผลผลิต ขาดทุน  จึงเล็งเห็นว่าหากเราได้เปลี่ยนมาเป็นนักบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะได้ทำหน้าที่โดยตรงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค

“ผมรู้สึกภูมิใจมากไม่ว่าจะเป็นทหารหรือนักบินฝนหลวง เป็นอาชีพที่ทรงเกียรติและภูมิใจอย่างมาก เป็นการสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย ผมจะทำให้เต็มทีและดีที่สุดสมกับที่ผมได้มีโอกาสรับใช้ชาติ”พันตรียอดรัก กล่าว