ตามรอยพระราชกรณียกิจ “พระราชินี ในรัชกาลที่ 9” เรียนรู้หัตถกรรม-การเกษตร

หลังจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2549 ที่จังหวัดอ่างทอง ราษฎรจำนวนมากไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพในที่ดินของตนได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านยางกลางขึ้น ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เพื่อให้ราษฎรดังกล่าวสามารถกลับมายืนหยัดได้ด้วยตนเองอีกครั้ง

เพื่อเปิดประสบการณ์เรียนรู้นอกสถานที่ทั้งงานหัตถกรรมและการเกษตร จึงได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านยางกลาง โดยมีปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสามี จูงลูกสาวตัวน้อย น้องมัดหมี่ มาร่วมทำกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ ในช่วงเช้าผู้เยี่ยมชมจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติของแปลงเกษตรขนาด 1,000 ไร่ พร้อมชมโครงการฟาร์มตัวอย่าง และได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์ม เช่น แพะพันธุ์นม หมูจิ้นหัว และกบ, ทดลองปลูกและเก็บผัก, เรียนรู้การทำปุ๋ยมูลไส้ดิน, เพาะเห็ดและเก็บเห็ดพันธุ์ เป็นต้น

จากนั้น ดับกระหายด้วยไอติมหวานเย็นจากน้ำสมุนไพรให้ชื่นใจ ก่อนไปอิ่มเอมกับอาหารกลางวัน ซึ่งได้จัดเตรียมเมนูอาหารคาวหวาน ที่นำผลผลิตต่างๆ จากในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ มาปรุงเป็นอาหารมื้อพิเศษ พร้อมเสิร์ฟในรูปแบบปิ่นโต

จากนั้นในช่วงบ่ายรื่นรมย์กับการชมกล้วยไม้นานาพันธุ์ และชมงานฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ได้แก่ โรงผลิตกระดาษข่อยซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและโรงผลิตหัวโขน, โรงทอผ้ายก, แผนกปักผ้า และโรงเซรามิก พร้อมลองเพนต์ถ้วยเซรามิกด้วยตัวเอง

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย บอกว่า ปกติครอบครัวของเราชอบไปทำกิจกรรมกลางแจ้งแบบนี้ด้วยกัน ไม่ค่อยพาไปเดินห้างสรรพสินค้า แต่พยายามพาไปสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างลักษณะนิสัยให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองไปในตัว

“ความที่เราเป็นคนเมือง ทำให้ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดธรรมชาติ จึงอยากพาลูกๆ ให้ได้มาซึมซับวิถีชีวิต เกษตรกร การที่ทำให้เขาได้มาพบเห็น ทำให้เขาสามารถรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ ที่เรารับประทานเข้าไป ต้องใช้เวลา และมีความยากลำบากอย่างไรบ้างในการที่จะผลิตอาหาร หรือกว่าจะเป็นข้าวที่เรารับประทาน นอกจากนี้ การที่ให้ เด็กๆ ได้คลุกคลีกับธรรมชาติ ได้เล่นคลุกดิน คลุกฝุ่นบ้าง ก็จะทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย” ปิยวรากล่าว

ร่วมเรียนรู้งานหัตถกรรมและการเกษตรตามแนวพระราชดำริ โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป สนใจติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/sibuathongth

ปิยะวรา และครอบครัว