เปิดประสบการณ์ชีวิต เด็กเกษตร เลี้ยงแพะ

นักศึกษาจากถิ่นไหน หากได้มีโอกาสลงมือจริงกับฟาร์ม นั่นถือเป็นโอกาสทองอันดีงาม และที่นี่ก็เช่นกัน

หากมีโอกาสได้เข้ามาฝึกงานภายในคุณสุข ฟาร์ม ที่มีคุณเชาวรัตน์ อ่ำโพธิ์ หรือ ลุงเป้ง เจ้าของฟาร์มแพะครบวงจร เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ด้านปศุสัตว์แพะ แกะ ปี2552 ทั้งยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนามของปราชญ์เกษตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 72 ปี และทุกวันนี้ คุณสุข ฟาร์ม ยังตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ปศุสัตว์ประเภท แพะ-แกะ สระบุรี เปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจงานด้านเกษตร โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ-แกะ จากทุกมุมของประเทศ เข้ามาเรียนรู้และศึกษา โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทน

คุณเชาวรัตน์ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่โดยรอบ “คุณสุข ฟาร์ม” มีพื้นที่ทั้งหมด 52 ไร่ เป็นฟาร์มแพะ-แกะ ปัจจุบัน มีแพะ ประมาณ 200 ตัว แกะ ประมาณ 80 ตัว แต่จำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นกับความต้องการของตลาดและการจัดการภายในฟาร์ม ซึ่งฟาร์มที่นี่ต้องเป็นที่พักให้กับสัตว์ที่เตรียมจะจัดส่งให้กับลูกค้า ทำให้จำนวนแพะและแกะ เพิ่มขึ้น ลดลง อยู่ตลอดเวลา

เหตุผลที่คุณเชาวรัตน์ เปิดฟาร์มให้เป็นศูนย์เรียนรู้ปศุสัตว์ให้กับผู้สนใจ และเป็นสถานที่ฝึกงานให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยไม่หวังผลตอบแทน ก็เพราะประสบการณ์การเลี้ยงแพะที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาของผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงโดยไม่มีการจัดการที่ดี อีกทั้งสถานศึกษาต่างๆ ไม่มีหลักสูตรลงลึกในเรื่องของการเลี้ยงแพะหรือทำฟาร์มแพะให้ได้ศึกษา ทั้งที่แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สามารถผลิตและส่งออกได้ ไม่ใช่สัตว์สันทนาการ จึงต้องการถ่ายทอดให้กับผู้สนใจและเยาวชน ให้นำไปปรับใช้ได้กับพื้นที่และมีโอกาสนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสังคมและชุมชนต่อไป

“ผมเปิดให้เข้ามาฝึกงานที่นี่ ประมาณ 6 ปีแล้ว ถ้านับเป็นรุ่นก็หลายสิบรุ่น เพราะมีหลายสถาบันการศึกษาเห็นความสำคัญ ส่งนักศึกษามาฝึกงาน แต่ก็มีอีกหลายรุ่นที่นักศึกษาต้องการมาเอง เพราะเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ที่เคยมาฝึกงานที่นี่ กลับไปแล้วปฏิบัติงานได้จริงทุกอย่าง ที่นี่เราสอนให้มีการจัดการฟาร์ที่เป็นระบบ ได้แก่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การดูแลเรื่องอาหาร สายพานแพะ แกะ ที่ตลาดต้องการในปัจจุบัน วิธีการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ต้องรู้จักตลาด ต้องไปโรงเชือด ต้องไปโรงนมดูการผลิตนมพาสเจอไรซ์”

การรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในฟาร์ม มีข้อจำกัดเพียงเล็กน้อย คุณเชาวรัตน์ บอกว่า สถานศึกษาต้องนิเทศมาก่อนว่า เด็กมีเหตุผลอย่างไรที่ต้องการเข้ามาฝึกงานที่นี่ พิจารณาจากความสนใจของเด็ก เมื่อคัดเลือกเด็กได้แล้วจะจัดส่งมา ในแต่ละรุ่นจะรวมหลายสถาบันการศึกษา สามารถรับได้ไม่เกินรุ่นละ 50 คน ระยะเวลาการฝึกงานที่เหมาะสม คือ 2 เดือน แต่ถ้าต้องการเร่งรัดหลักสูตร ก็สามารถสอนได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน

9

“เด็กที่มาที่นี่กำลังไฟแรง เพราะในระบบการเรียนการสอนมีแต่ทฤษฎีที่ลงไม่ลึก แต่ที่นี่คือการปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน เช่น การฉีดยาแพะ การเจาะเลือด การเข้าเฝือก การหยอดยา การรักษาเมื่อแพะป่วย ในแต่ละวันตอนเช้า ลุงจะเรียกเด็กทุกคนประชุมร่วมกัน แบ่งงาน จากนั้นในช่วงบ่ายถึงเย็น จะเริ่มออกตรวจ ในแต่ละกิจกรรมที่ต้องเรียนรู้ จะมีครูฝึกที่ชำนาญการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดูจริง จากนั้นให้นักศึกษาทำจริง ลุงใช้วิธีโยนงานให้ เขาจะทำได้เอง”

เมื่อถามถึงนักศึกษาฝึกงานหลายรุ่นที่ผ่านการฝึกอบรมจากฟาร์มแห่งนี้ คุณเชาวรัตน์ อธิบายว่า นักศึกษาหลายคนหลังจบการศึกษา ผันตัวเองไปทำฟาร์มแพะเต็มตัว บ้างเป็นผู้จัดการฟาร์ม บ้างก็ทำงานในระบบราชการ แต่ทั้งหมดนำความรู้ที่ได้จากการฝึกปฏิบัติจริงที่ฟาร์มแห่งนี้นำไปใช้ได้จริง เพราะเด็กหลายคนกลับมาขอบคุณคุณเชาวรัตน์ ที่ช่วยสอนให้เขาได้นำไปใช้เป็นอาชีพในชีวิตจริง

การใช้ชีวิตภายในฟาร์ม คุณเชาวรัตน์จัดที่อยู่อาศัยพร้อมข้าวให้ ส่วนกับข้าวในแต่ละมื้อให้นักศึกษาลงขันกันเอง แต่ทั้งนี้ คุณเชาวรัตน์ ก็จะเก็บเงินที่เป็นเบี้ยเลี้ยงให้กับนักศึกษาที่ให้สัปดาห์ละ 1,000 บาท ต่อคน เป็นการซื้ออาหารมากินรวมกันในทุกสัปดาห์ ซึ่งเหตุผลที่ให้เบี้ยเลี้ยงกับนักศึกษา คุณเชาวรัตน์ บอกว่า เพราะนักศึกษาทำงานให้ จึงควรได้รับค่าจ้างเช่นกัน

7

“จุดประสงค์ ถ้าเรามีแนวคิดที่มีอุดมการณ์ สอนเด็กให้รู้จักซื่อสัตย์ ขายในราคาเดียวกันทุกฟาร์ม นักศึกษามีแนวคิด และมีอุดมการณ์ตามที่เราสอน การที่เราให้ ผลตอบแทนได้มากกว่า เด็กคิดว่าถ้าได้เรียนจริงๆ จากตรงนี้ไป สิ่งที่เราให้ เราอยากให้ทุกคนมีอุดมการณ์ และฟาร์มแห่งนี้อาจชะลอตัวลงเรื่องของการรับนักศึกษาฝึกงาน หากผมถึงวัยเกษียณ เพราะไม่มีใครมาดูแลได้อย่างที่ผมต้องการ”

นายเรืองศักดิ์ วงค์เจริญ หรือ น้องเรือง นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 2 สาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า เข้ามาฝึกงานที่คุณสุข ฟาร์ม ได้ประมาณ 20 วัน เหลือระยะเวลาอีกเกินกว่าครึ่ง ก็คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากตามที่ต้องการ ในวิชาเรียนเรื่องเกี่ยวกับแพะมีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้ให้กับตนเอง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ด้านแพะ เราเข้ามาที่นี่ เราได้รักษาปศุสัตว์ ยอมรับว่าได้รับความรู้มากกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว

“ตอนนี้ ผมคิดว่าผมได้ในสิ่งที่ผมตั้งใจ นอกจากการเรียนในวิชาเรียนแล้ว ยังมีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดอีกมุมมองที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสถานศึกษา เช่น การเจาะเลือด การถ่ายเซรั่ม การรักษาอาการป่วยต่างๆ ของแพะ การทำวัคซีน ซึ่งหากครบกำหนดฝึกงานแล้ว ผมจะนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชนด้วย”

นายพีระสิทธิ์ สุนทรเรืองฤทธิ์ หรือ น้องเปอร์ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 2สาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ กล่าวว่า เลือกเรียนสัตวศาสตร์เพราะสนใจด้านสัตว์ ประกอบกับที่บ้านเป็นครอบครัวเกษตรกร เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงวัว แต่ไม่มีแพะ และแถบภาคอีสานก็พบการเลี้ยงแพะอย่างจริงจังในรูปแบบฟาร์มน้อยมาก อย่างไรก็ตาม มาเลือกฝึกงานในครั้งนี้ ทำให้ตนได้มีโอกาสเรียนรู้การจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากนี้ไปคงพุ่งเป้าเรียนต่อให้จบปริญญาตรีทางด้านเกษตรเหมือนเดิม และอนาคตหากเป็นไปได้ ตนอยากเลี้ยงแพะเพื่อกำจัดวัชพืช

นายมะรูดี สามะอาลี หรือ น้องดี นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 สาขาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและประมง ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวมีพ่อเป็นนักวิชาการเกษตร เห็นตัวอย่างการทำการเกษตรจากพ่อ จึงรักการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะที่บ้านไม่มีบริเวณมากนักจึงทำได้เพียงปลูกพืชสวนครัวไว้ ตั้งใจจะมาเก็บประสบการณ์จากฟาร์มคุณสุข ที่บ้านก็สนับสนุน อนาคต ผมมั่นใจว่าจะสามารถทำฟาร์มแพะปลอดโรคได้เองอย่างแน่นอน

8

“มาอยู่นี่เราจัดการการดูแล การรักษาโรค การเจาะเลือด การฉีดวัคซีน ทั้งหมดมาเป็นที่นี่ ตอนแรกคิดว่ายาก แต่เพราะครูฝึกสอนเราได้ดี ทำให้เราเข้าใจและปฏิบัติได้ หากครบกำหนดฝึกงานที่นี่แล้วจะนำไปเป็นพื้นฐานการเพิ่มเติมความรู้จากแหล่งอื่น และจะศึกษาหาความรู้ต่อไปจนจบปริญญาตรี”

ด้าน นางสาวไยยีดา อาแซ หรือ น้องดา นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 สาขาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและประมง ปัตตานี บอกว่า แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็สามารถทำงานด้านการเกษตรได้ เพราะสนใจและรักการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก โชคดีที่ครอบครัวให้การสนับสนุน แม้จะต้องเดินทางไกลมาถึงที่นี่ก็ตาม เพราะที่นี่ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ ได้รับความรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ หากครบกำหนดฝึกงานคาดว่าจะช่วยส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงแพะให้กับเกษตรกรในชุมชนใกล้เคียง

“ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี่ ก็ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลแพะ การรักษาโรคแพะให้กับที่บ้านผ่านทางโทรศัพท์ ปกติการรักษาแพะที่ปัตตานีจะรักษาด้วยสมุนไพร ไม่ได้มีการฉีดยาป้องกัน ไม่มีการเจาะเลือด เป็นการเลี้ยงแพะแบบปล่อยทุ่ง หากกลับไปก็อยากไปให้ความรู้ ช่วยให้การเลี้ยงแพะดีกว่าเดิม”

น้องดา อธิบายวิธีการเจาะเลือดแพะให้ฟังอย่างคร่าวๆ ว่า หากจะจับแพะเจาะเลือด ต้องใช้คนช่วยมากกว่า 1 คน ควรเข้าด้านหลังแพะเพื่อจับได้ถนัดมือ จับคางแพะเอียงออก เพื่อหาเส้นเลือดบริเวณลำคอ ทาแอลกอฮอล์ แล้วกดด้วยนิ้วโป้งลงไปที่เส้นเลือด จะทำให้เส้นเลือดโป่งจนเห็นได้ชัด จึงจะเจาะเลือดได้

12

สำหรับ นายซุลกิปลี แวโดยี หรือ น้องซุล นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2สาขาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและประมง ปัตตานี เล่าว่า ตนมีอุดมคติที่จะศึกษางานด้านเกษตร เพราะท้องถิ่นเลี้ยงแพะมาก ตนคิดจะทำฟาร์มแพะ สิ่งที่ได้รับจากการฝึกงาน คือ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เรียนรู้ รู้สึกดีที่ได้รู้จักเพื่อนต่างถิ่น หากได้วิชาแพะก็จะกลับไปทำฟาร์ม และคิดว่าสามารถจัดการฟาร์มแพะได้ด้วยตัวเอง

ท้ายการสนทนากับตัวแทนนักศึกษาฝึกงานภายใน “คุณสุข ฟาร์ม” คุณเชาวรัตน์ ยินดีสนับสนุนและถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนและสถานศึกษา แต่น่าเสียดายที่วันหนึ่งก็อาจถึงเวลาที่คุณเชาวรัตน์จะเกษียณตัวเอง ซึ่งมีผลให้การรับนักศึกษาฝึกงานอาจไม่เต็มรูปแบบเช่นทุกวันนี้ ฉะนั้น ช่วงเวลานี้เป็นเวลาทองของนักศึกษาและผู้สนใจ ที่ต้องการฝึกงานในฟาร์มแพะแห่งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุข ฟาร์ม เลขที่ 301 หมู่ที่ 1 ตำบลลำสมพุง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ (089) 209-1424 และ(081) 902-4104