โรงเรียนสระพังวิทยาคม บ้านแท่น ชัยภูมิ ใช้เกษตรเรียนรู้คู่ชุมชน

โรงเรียนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนประจำอำเภอมากนัก จัดว่าเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนจำนวนไม่มากนัก แต่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของวิชาการและการส่งเสริมความรู้นอกห้องเรียน กระทั่งโรงเรียนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนไปแล้วซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี ที่โรงเรียนยังคงเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกับวัดในอดีต ทำให้เยาวชนและชุมชนมีความเกี่ยวเนื่องกัน

โรงเรียนที่เอ่ยถึง คือโรงเรียนสระพังวิทยาคม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลสระพัง อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ

อาจารย์จิรเมท สุกรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสระพังวิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งสิ้น 92 ไร่ จัดสรรให้เป็นส่วนของการทำเกษตรกรรม 20 ไร่ เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน จำนวน 383 คน และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน 21 คน

แม้ว่าโรงเรียนจะสอนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นแนวการสอนของเด็กโต ส่วนใหญ่เน้นเฉพาะวิชาการ เพื่อให้เด็กได้ก้าวเข้าไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามที่ต้องการ แต่สำหรับโรงเรียนสระพังวิทยาคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวการสอนของโรงเรียนในอดีต ให้ความสำคัญไปในเชิงวิชาการเช่นกัน แต่นับจากปี 2554 เป็นต้นมา ภาคเกษตรกรรมก็เข้ามาผนวกเข้ากับวิชาเรียนที่มีอยู่ เนื่องจากโรงเรียนเห็นความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่

อาจารย์จิรเมท บอกด้วยว่า โรงเรียนหันมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตร เพราะทราบดีว่า เด็กนักเรียนทุกคนมีพื้นฐานการดำรงชีพมากับการเกษตร แต่การเกษตรที่นักเรียนได้สัมผัสมาตลอด คือ การเกษตรแบบดั้งเดิมที่เกษตรกรทำมาเนิ่นนาน จึงต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการนำไปประยุกต์ใช้ และตั้งใจให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงดำเนินกิจกรรมในภาคเกษตรในรูปแบบของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ทางการเกษตรใหม่ๆ ส่งต่อไปให้กับชุมชนด้วย

“เราต้องใช้องค์ความรู้ที่มีเพิ่มมูลค่าในผลผลิตทางการเกษตรนั้นๆ ลงทุนน้อย ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ยึดหลักเน้นการพัฒนาท้องถิ่น และให้เกษตรเรียนรู้สู่ชุมชน”

โรงเรียนเริ่มนำการเกษตรในทุกด้านเข้ามาดำเนินเป็นกิจกรรม ตั้งแต่ปี 2554 ผ่านกลุ่มยุวเกษตรกร แต่จริงจังเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัดในปี 2557

เมื่อมีกลุ่มยุวเกษตรกร ก็มีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิก การประชุม การจัดทำระเบียบข้อบังคับกลุ่ม และการกำหนดกิจกรรมของกลุ่มขึ้น ทำให้ปี 2557 อาจารย์อรุณ นิลบรรพต ได้รับรางวัล ที่ปรึกษายุวเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัด

อาจารย์อรุณ เป็นอาจารย์ที่ผ่านประสบการณ์การเรียนการสอนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ แต่เพราะครอบครัวของอาจารย์ทำเกษตรกรรม ทำให้พื้นฐานด้านการเกษตรของอาจารย์อรุณไม่ได้ด้อย

“ผมเป็นชาวอำเภอบ้านแท่น ชอบการเกษตร แม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่ก็ชอบทำการเกษตรภายในบ้านของตนเอง และต้องการส่งเสริมให้กับเด็กนักเรียน เพราะคิดว่าการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ในทุกวันเราต้องกินข้าว เลี้ยงสัตว์ ใช้เวลาว่างไปอบรมการเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ และการปลูกพืชอื่นๆ จึงนำมาถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนอีกทอด โดยเน้นกิจกรรมที่ครบกระบวนการ”

อาจารย์อรุณ เป็นหลักในการดูแลกิจกรรมในภาคเกษตรของเยาวชนของโรงเรียน โดยสิ่งที่อาจารย์อรุณมองว่า โรงเรียนสระพังวิทยาคม ยังต้องการเพิ่มเพื่อเสริมความเข้มแข็งของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอีก คือ การตลาดและบรรจุภัณฑ์ เพราะหากจะมองให้ลึกจะทราบดีว่า อาชีพเรือจ้างก็ไม่ได้มีทักษะเฉพาะทางในการส่งเสริมด้านการตลาดหรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น หากมีผู้ที่มีทักษะที่ดีกว่า ก็ยินดีรับความช่วยเหลือ

สำหรับกิจกรรมการเกษตรภายในโรงเรียน แบ่งออกเป็นกิจกรรมย่อยหลายกิจกรรม โดยสภาเกษตรกร วางแผนการดำเนินงานไว้ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจ และด้านการบริหารจัดการและการกำหนดบทบาทหน้าที่

สำหรับกิจกรรมย่อย มีดังนี้
1. ชุมนุมเลี้ยงปลานิล
2. ชุมนุมเลี้ยงไก่ไข่
3. ชุมนุมปลูกพืชผักสวนครัว
4. ชุมนุมปลูกข้าว
5. ชุมนุมปลูกมะนาว
6. ชุมนุมธนาคารและการออมทรัพย์
7. ชุมนุมปลูกมันสำปะหลัง
8. ชุมนุมช่างเสริมสวย
9.ชุมนุมทำปุ๋ยหมัก
10. ชุมนุมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
11. ชุมนุมปลูกยางพารา
12. ชุมนุมศิลปะการแสดง

นอกจากนี้ ยังมีแปลงปลูกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมเบา ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดกลุ่มยุวเกษตรกรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงการนำข้อมูลมาปรับปรุงวางแผน เพื่อพัฒนากลุ่มต่อไป

ทุก 2 เดือน จะมีการประชุมกลุ่ม ติดตามกิจกรรมส่วนบุคคลที่นักเรียนแต่ละคนนำไปดำเนินต่อที่บ้าน เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง การเลี้ยงปลา การทำนา การปลูกผัก การปลูกอ้อยโรงงาน และการเลี้ยงหมู ทั้งนี้ กิจกรรมทั้ง 12 กิจกรรม มีความเข้มแข็งมากพอ ทำให้มีเงินไหลเวียนภายในกลุ่มยุวเกษตรกรมากถึง 200,000 บาท

นายสุริยา ศิริปัญญา หรือ น้องตาล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า เริ่มสมัครเข้ากลุ่มยุวเกษตรกรเมื่อครั้งศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะเห็นว่า กลุ่มยุวเกษตรกรน่าจะเป็นกลุ่มที่ให้ความรู้ในหลายทาง และต้องอยู่กับสัตว์และพืช ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่ดำเนินอยู่แล้ว จึงต้องการนำความรู้ใหม่ที่ได้จากกลุ่มไปปรับปรุงใช้ที่บ้าน

“สำหรับผมที่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทำนา ส่วนตนเห็นว่า การเรียนรู้เรื่องการเกษตรให้ติดตัวไว้ จะช่วยให้เราดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข อยู่อย่างพอเพียง เพราะสามารถปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ นำมาประกอบอาหารเอง โดยไม่ต้องเสียเงิน เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกทาง”

ปัจจุบัน น้องตาลทำหน้าที่ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร มีหน้าที่ในการดูแล บริหารจัดการเพื่อนพี่น้องภายในกลุ่ม ในทุกครั้งก่อนเริ่มกิจกรรมชุมนุม จะเรียกประชุมกลุ่ม เพื่อชี้แจงความรับผิดชอบในทุกกิจกรรมของแต่ละคน กำชับเรื่องการจดบันทึก เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมต้นทุนการผลิต สำหรับปัญหาที่เห็นว่าควรได้รับการช่วยเหลือแก้ไข คือ ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล ในการนำรดน้ำมาช่วยเหลือ แต่การแก้ปัญหาที่สามารถทำได้เอง คือ การขุดบ่อกักเก็บน้ำ แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ด้าน นางสาวศิริรัตน์ ประจวบมอญ หรือ น้องเอ้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ครอบครัวเป็นเกษตรกรทำไร่อ้อยและทำนา การทำนาเป็นสิ่งที่น้องเอ้ถนัด มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เช่น ดำนา ถอนกล้า เกี่ยวข้าว จึงนำทักษะที่ตนเองถนัดมาใช้กับกิจกรรมของโรงเรียน การทำนามีขั้นตอนที่ยากที่สุด คือ ปักดำและถอนกล้า เพราะต้องก้มตลอดเวลา ตากแดดทั้งวัน และแม้จะเห็นความลำบากก็ตาม แต่น้องเอ้ก็ไม่เคยย่อท้อ เพราะระลึกถึงการเกษตรกรรมมาโดยตลอดว่า เป็นวิชาชีพที่เลี้ยงให้เธอเติบโตขึ้นมาได้

นางสาวปวีณา ผลภิญโญ หรือ น้องหมวย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เช่นกัน บอกว่า ครอบครัวทำฟาร์มวัวเนื้อ จำนวน 32 ตัว เป็นการเลี้ยงวัวแบบตัดหญ้ามาให้กิน บางครั้งปล่อยอิสระ การเลี้ยงวัวของครอบครัวทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง
สำหรับน้องหมวย เธอใช้เวลาว่างเก็บมูลวัวที่ถ่ายทิ้งนำไปตากแห้ง จากนั้นบรรจุกระสอบ นำไปขายเป็นปุ๋ยคอก (ขี้วัวแห้ง) สร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากถึงวันละ 500 บาท

เมื่อถามว่า หากฤดูฝน การตากขี้วัวจะทำอย่างไร น้องหมวย บอกว่า เธอแก้ปัญหาด้วยวิธีนำผ้ามาคลุม อย่างน้อยก็ต้องมีขี้วัวที่แห้งนำไปขายได้ แต่ถ้าไม่แห้งก็จะนำไปใช้เป็นปุ๋ยในครัวเรือน

ส่วน นางสาวธิดารัตน์ โครักษา หรือ น้องแตง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ครอบครัวปลูกข้าว ทำไร่อ้อย ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดนี้เพื่อไว้กินและใช้ในครัวเรือน หากเหลือจึงจะนำไปขาย โดยกิจกรรมในโรงเรียนสนใจเรื่องการแปรรูปอาหาร เพราะมองเห็นผลผลิตในโรงเรียนหลายอย่างที่สามารถนำไปแปรรูปได้ เช่น กล้วย นำไปแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ หรือ กล้วยอบแห้ง

“อย่างกล้วยอบแห้ง ต้องนำกล้วยน้ำว้าที่แก่เต็มที่ แต่ยังไม่สุก ใช้กล้วยหอมไม่ได้ ให้นำมาฝานบางๆ แผ่นใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ชอบ จากนั้นนำลงทอดในกระทะ ใส่เนย ใส่น้ำตาล คนไปเรื่อยๆ ใช้ไฟอ่อน จนกว่าเนยและน้ำตาลจะเข้าไปในเนื้อกล้วย เนื้อกล้วยจะเปลี่ยนสีเป็นสีออกเหลือง แสดงว่าใช้ได้ ให้ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน”

สำหรับ นางสาวนันทกา เพชรเบ้า หรือ น้องมิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ที่บ้านปลูกข้าว 4 ไร่ ทำไร่อ้อย 6 ไร่ เลี้ยงปลานิล ปลูกผัก ซึ่งทั้งหมดทำไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ยกเว้นอ้อยที่ปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานน้ำตาล กิจกรรมภายในกลุ่มยุวเกษตรกรสอนให้รู้จักนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือน

ในทุกๆ ปี น้องมินจะเปลี่ยนกิจกรรม เพื่อให้ตนเองได้มีความรู้ที่หลากหลาย และเห็นว่า หากเยาวชนไม่ได้สัมผัสกับการเกษตรบ้าง จะทำให้เยาวชนแข็งกร้าวและลืมอาชีพที่เป็นต้นกำเนิดของประเทศตนเอง

ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายภายในสถานศึกษาแห่งนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดโรงเรียนสระพังวิทยาคม จึงเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนใกล้เคียง ซึ่งความสมบูรณ์ในเชิงวิชาการและการส่งเสริมทักษะทางอาชีพให้กับนักเรียนนั้น เป็นเหตุและผลของกิจกรรมที่ได้ดำเนินกันมาในรูปแบบของ กลุ่มยุวเกษตรกร

ท่านใดสนใจเข้าชมเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ติดต่อได้ที่ อาจารย์จิรเมท สุกรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสระพังวิทยาคม หมู่ที่ 1 ตำบลสระพัง อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ หรือโทรศัพท์ (095) 609-1278