โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา ชัยภูมิ ต้นแบบการเกษตรผสมผสานครบวงจร

ขึ้นชื่อว่าดังในเรื่องของส้มโออีกแห่งหนึ่งของประเทศ ก็ต้องที่อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ชื่อติดปากที่ใครๆ ก็เรียกว่า ส้มโอบ้านแท่น จุดเด่นอยู่ตรงที่เมื่อผลสุก เปลือกจะเป็นสีทอง เปลือกในอมชมพู เนื้อสีแดงเข้มสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายผลท้อ มีเมล็ดมาก อายุการเก็บเกี่ยวช้ากว่าพันธุ์ทองดี ประมาณ 15 วัน

ที่ต้องเอ่ยถึง เพราะสภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านแท่นวิทยา ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เกือบทั้งหมดมีส้มโออยู่ในบริเวณบ้าน และในบางราย ผู้ปกครองทำสวนส้มโอเป็นอาชีพหลัก ซึ่งแน่นอนว่า เด็กย่อมเติบโตมาพร้อมกับทุกๆ ขั้นตอนของการทำสวนส้มโอ

โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา เป็นโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จัดว่าเป็นโรงเรียนของเด็กโต ที่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันเช่นเดียวกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วไป ฉะนั้น หากไม่มีพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตรบริเวณโรงเรียนเพื่อสนับสนุนวัตถุดิบในโครงการอาหารกลางวัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่สำหรับโรงเรียนบ้านแท่นวิทยา กลับเป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร โดยจัดสรรพื้นที่ของโรงเรียนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นแปลงเกษตร ทั้งยังจัดให้มีการทำการเกษตรในทุกรูปแบบ

พื้นที่โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา มีทั้งหมด 57 ไร่ 2 งาน แต่พื้นที่สำหรับทำการเกษตรมีมากถึง 30 ไร่

เมื่อไล่เรียงลำดับการทำแปลงเกษตรของโรงเรียน ทราบว่า โรงเรียนเพิ่งเริ่มทำการเกษตรมาเพียง 3 ปี เท่านั้น แต่ความสมบูรณ์แบบของการดำเนินกิจกรรมเรียกได้ว่าเต็มร้อย เพราะการทุ่มเทของบุคลากรของโรงเรียน และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแท่น ทำให้กิจกรรมการเกษตรครบถ้วน

อาจารย์สมบูรณ์ โลนะลุน อาจารย์สุรชัย มรรควัน และ อาจารย์นนทวัฒน์ ชนะบุตร ทั้ง 3 ท่าน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่มยุวเกษตรกร ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

อาจารย์สมบูรณ์ เล่าว่า แม้ว่าโรงเรียนจะก่อตั้งมานาน แต่ก็มีการลงแปลงเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ตามวิชาที่เด็กต้องเรียน คือ วิชาการงานพื้นฐานอาชีพ แต่ไม่ได้จริงจังกับการจัดสรรพื้นที่ของโรงเรียนให้มีแปลงเกษตร ต่อเมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาร่วมผลักดันให้โรงเรียนจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น ประกอบกับ โรงเรียนเห็นว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีพื้นฐานครอบครัวทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ทำไร่ และการทำสวนส้มโอ ดังนั้น เมื่อเด็กนักเรียนมีพื้นฐานอยู่แล้ว การส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ทางด้านการเกษตรอย่างมีเทคนิค การแปรรูป รวมถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ เพื่อต่อยอดการทำการเกษตรอย่างมีมูลค่า จะช่วยให้เด็กมองเห็นคุณค่าของเกษตรกรรมมากกว่าเดิม

อาจารย์สุรชัย กล่าวว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น ก็รับสมัครเฉพาะเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะแปลงเกษตรที่จัดสรรขึ้น เป็นการทำการเกษตรแบบบูรณาการ นักเรียนจึงควรเป็นเด็กนักเรียนที่มีวุฒิภาวะ และเป็นการลงแปลงเกษตรที่ลงมือทำจริงจังทุกขั้นตอน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของการผลิตผลิตผลทางการเกษตรอย่างถ่องแท้ และการรับสมัครจะเปิดรับสมัครต้นปีการศึกษา ซึ่งแต่ละปีที่ผ่านมา มีนักเรียนสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ราว 30-50 คน

“ปัจจุบัน ปี 2560 มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรจำนวน 53 คน เปิดให้นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมกลุ่ม สามารถเลือกกิจกรรมที่นักเรียนสนใจได้เพียงกิจกรรมเดียว ส่วนกิจกรรมอื่นหากต้องการช่วยเพื่อนหรือสนใจศึกษา ก็สามารถทำได้”

โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา โรงเรียนลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น กรณีมีเด็กนักเรียนสนใจศึกษาต่อในสายวิชาชีพเกษตรกรรม คุณสมบัติหนึ่งที่ต้องมี คือ การเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรไม่น้อยกว่า 3 ปี ดังนั้น นักเรียนที่สมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มยุวเกษตรกรจะมีโอกาสได้ทุนศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งมากขึ้น

ลุยกันทั้งชุดนักเรียน

กิจกรรมในภาคเกษตรของโรงเรียน แบ่งเป็นการทำนา การทำไร่ข้าวโพด การเลี้ยงกบนา การเลี้ยงกบภูเขา การเลี้ยงปลาบ่อดิน การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาหมอ การปลูกไผ่กิมซุง การเลี้ยงไก่พื้นเมือง 3 สายพันธุ์ การเลี้ยงหมูป่า การปลูกกล้วยหอมทอง

อาจารย์นนทวัฒน์ กล่าวว่า ในการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม นักเรียนจะดำเนินกิจกรรมเองทุกขั้นตอน ทั้งยังเป็นการดำเนินกิจกรรมในเชิงของการทดลองร่วมไปด้วย เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจในทุกกระบวนการ เช่น การปลูกข้าวโพด จะแบ่งแปลงทดลองในเรื่องของการใส่ปุ๋ยที่แตกต่างกัน อาทิ การใส่ปุ๋ยขี้ไก่ การใส่ปุ๋ยขี้วัว เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างของการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตทั้งหมด เด็กนักเรียนจะจดบันทึก ทั้งนี้ การศึกษาในลักษณะนี้จะทำให้นักเรียนจดจำได้ดี และรู้จักการคิดวิเคราะห์และการนำไปใช้ตรงตามความต้องการของพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพรวมถึงให้ได้ปริมาณตามตลาดต้องการ นอกจากนี้ ยังฝึกให้มีการทำบัญชีฟาร์มไปพร้อมๆ กันด้วย

แม้การก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรจะมีขึ้นเพียง 3 ปี แต่การดำเนินงานเข้มข้นชนิดหาที่ติไม่ได้

คำถามที่ตามมา คือ เมื่อนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้ แล้วจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เหลือ กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีส่วนในการเรียนรู้แปลงเกษตรนี้อย่างไร

อาจารย์นนทวัฒน์ กล่าวว่า ทุกระดับชั้นมีคาบเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ในหัวข้อหลักการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช ซึ่งนักเรียนทุกคนจะต้องลงแปลงเกษตรในการเรียนวิชานี้ ทั้งยังต้องลงมือเสมือนสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทุกประการ เพียงแต่ระยะเวลาศึกษาในแปลงต่างกันเท่านั้น

“การเข้าแปลง นักเรียนจะใช้เวลาในช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกเรียนในแต่ละวัน โดยการทำหน้าที่ภายในแปลง เป็นเรื่องของนักเรียนที่จะตกลงแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันเอง เมื่อได้ผลผลิตในแต่ละชนิด นักเรียนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมอบให้กับโรงเรียน เมื่อโรงเรียนนำไปจำหน่ายก็จะเป็นทุนในการนำมาบริหารจัดการภายในกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน และอีกส่วนนำไปจำหน่ายให้กับครู ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อนำรายได้กลับมาเป็นทุนของแต่ละกลุ่ม เมื่อครบปีการศึกษา นักเรียนทุกคนจะมีรายได้จากการปันผลของสหกรณ์โรงเรียน ซึ่งแต่ละปีนักเรียนแต่ละคนจะมีรายได้เพิ่มจากการลงแปลงเกษตร ประมาณ 300-500 บาท ต่อคน ต่อปี”

ผลผลิตที่ได้ในทุกชนิด หากชนิดใดสามารถนำมาแปรรูปได้ก็จะทำ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต โดยเทอมแรกจะเน้นไปที่การดูแลผลผลิต ส่วนเทอมปลายจะเน้นไปที่การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า

สำหรับผลผลิตที่สามารถนำมาแปรรูปจำหน่าย เพิ่มมูลค่าได้ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อัดสุญญากาศ หน่อไม้ดองบรรจุขวด ข้าวคั่วสมุนไพรทำจากข้าวเหนียวตำกับตะไคร้และใบมะกรูด ข้าวโพดอบเนย ข้าวโพดต้ม เป็นต้น ซึ่งผลผลิตทั้งหมดจะมีวางจำหน่ายที่ตลาดเกษตรปลอดสาร ซึ่งเทศบาลจัดพื้นที่ไว้ให้เป็นสื่อกลางกับประชาชนที่สนใจผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารของอำเภอ


นางสาวบุษกร โคตะลี หรือ น้องน้ำพริก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า ครอบครัวทำสวนส้มโอ แต่ไม่ได้คลุกคลีมาก จะสอบถามพ่อกับแม่เมื่อมีข้อสงสัยในการทำการเกษตร ซึ่งสิ่งที่สนใจและชอบ คือ การทำนา สนใจในขั้นตอนการทำนาและการเกี่ยวข้าวมาก รู้สึกมีความสุขในการทำ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำนาที่ลำบากมาก แต่ก็ทำให้รู้ว่า พ่อและแม่ซึ่งเป็นชาวนามาก่อน มีความลำบากมากเท่าไหร่กว่าจะได้ข้าว

ด้าน นางสาวณัฐวดี ผ่องสนาม หรือ น้องพิมพ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร บอกว่า ครอบครัวทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิด เช่น มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวเสวย มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอบ้านแท่น ซึ่งความสนใจของตนเองเกิดจากการเห็นพ่อลงมือทำการเกษตร ตนเองมีความสนใจในการทำนา เพราะเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากการทำการเกษตรของครอบครัว

“หน้าที่ของประธานกลุ่มยุวเกษตรกร คือ การพาน้องๆ และพี่ๆ ทำกิจกรรมให้ครบถ้วน สังเกตรายละเอียดเรื่องของการดูแล การผลิต ในทุกขั้นตอน และเก็บรายละเอียดผิดพลาดนำไปปรึกษาครูที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง”

ส่วน นางสาววันวิสา พลนิกร หรือ น้องวิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รองประธานกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า การลงมือปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเอง สอนให้เรามีความรับผิดชอบที่มากกว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และผลผลิตที่ได้ ทำให้เราได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ สอนให้เรารู้จักรักตนเอง และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ สำหรับตนเองสนใจการเลี้ยงปลา เพราะชอบกินปลา กิจกรรมการเลี้ยงปลาเป็นกิจกรรมที่ไม่ยาก แต่ต้องรู้จักสังเกตและมีความละเอียดรอบคอบ เช่น การให้อาหารปลา ควรสังเกตจำนวนปลาที่เพิ่มมากขึ้น การให้อาหารในแต่ละวันอาจให้ไม่เท่ากัน ต้องสังเกตการกินของปลา หากอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่ให้ไม่หมด ควรลดจำนวนอาหารที่ให้ลง เพื่อไม่ให้อาหารเหลือ เป็นผลต่อน้ำในบ่อปลาเสียได้

สำหรับโรงเรียนบ้านแท่นวิทยา แม้จะเริ่มกิจกรรมในภาคเกษตรมาเพียง 3 ปี แต่ทุกกระบวนการและขั้นตอนสอน และถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้เรียนรู้อย่างละเอียด โดยหลังการปรับพื้นที่ให้เป็นแปลงเกษตรไม่นาน ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภออีกด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ