ที่มา | เยาวชนเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
28 ไร่ กับการดูแลพื้นที่ทั้งหมด นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับการมอบให้โรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย หมู่ที่ 10 บ้านน้ำลอดน้อย ตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นผู้ดูแล เพราะบุคลากรทั้งหมดต้องให้ความสำคัญไปที่การจัดการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน ส่วนการดูแลจัดการพื้นที่น่าจะเป็นความสำคัญลำดับถัดไป
โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบโรงเรียน มีส่วนที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทุ่งระยะ-นาสัก โอบล้อมไว้ เสมือนตั้งในที่โล่ง การดูแลพื้นที่ของโรงเรียนจึงทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยการปลูกปาล์มไว้ อย่างน้อยก็เพื่อกันลม และใช้ภูมิปัญญาจากการเติบโตในพื้นที่ดูแล โดยไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาความรู้เพื่อการดูแลปาล์มเพิ่มเติมให้เป็นภาระ
อาจารย์สัมภาษณ์ ตรีวุธ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย เล่าว่า โรงเรียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านเกษตรสำหรับนักเรียนตามหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ จึงมีแปลงเกษตรให้เด็กนักเรียนลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิชาเรียน แต่เริ่มจริงจังโดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของชุมชน จึงนำโครงการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรมภายในโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2553
“ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน เรามีแปลงเกษตรเล็กๆ ปลูกผักพื้นบ้าน จะมีมากกว่านั้นก็เป็นการปลูกผักริมรั้ว เล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เห็นภาพจริง ตามหลักสูตรในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ แต่ด้วยความคิดที่ต้องการให้นักเรียนสามารถนำการเกษตรไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างยั่งยืน จึงน้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติตาม ทำให้แปลงเกษตรที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไปมาก”
หากคิดจำนวนของพื้นที่ทั้งหมด 28 ไร่ มีราว 3 ไร่ ที่ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร โดยโรงเรียนแบ่งการเกษตรไว้ ดังนี้
โรงเรือนเพาะเห็ด เป็นการเพาะเห็ดนางฟ้า เพราะเห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่ดูแลง่ายมากกว่าเห็ดชนิดอื่น ในแต่ละครั้งของการเพาะเห็ด ใช้ก้อนเชื้อเห็ด 500 ก้อน ผลผลิตเก็บจำหน่ายครั้งละ 10-15 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ก้อนเชื้อเห็ดที่หมดเชื้อแล้ว ก็นำไปทำปุ๋ยหมัก
การเลี้ยงปลา ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานประมงอำเภอในการขุดบ่อ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ แต่เนื่องจากการขุดบ่อทำไว้นานแล้ว ทำให้พื้นที่ลดลงจากการพังทลายของขอบดิน ปัจจุบันเหลือพื้นที่บ่อปลา ประมาณ 2 งาน ภายในบ่อปล่อยปลากินพืชไว้หลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาไน ปลาทับทิม ปลาสวาย ทั้งยังเลี้ยงปลาดุกในกระชังไว้ครั้งละ 500 ตัว ซึ่งการเลี้ยงปลาในกระชังก็เพื่อให้จับง่าย และเห็นว่าปลาดุกเป็นปลาที่ในชุมชนไม่นิยมเลี้ยง หากเหลือจากนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน จะสามารถขายให้กับผู้ปกครองหรือชุมชนได้
ปุ๋ยหมัก ทำโรงเรือนขนาดเล็กไว้ สำหรับนำก้อนเชื้อเห็ดที่หมดเชื้อแล้วเป็นวัตถุดิบ เติมด้วยมูลวัว อีเอ็ม และ กากกาแฟ หรือเติมเศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวบ้าง ในแต่ละครั้งมีสัดส่วนการทำปุ๋ยหมัก ก้อนเชื้อเห็ด 500 ก้อน : มูลวัว 3 กระสอบ ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้จากการหมัก นำไปใช้กับแปลงผักสวนครัว หากเหลือใช้จะแบ่งใส่ปาล์มที่โรงเรียนปลูกไว้ และแบ่งให้เด็กนำกลับไปใส่ต้นไม้ที่บ้านด้วย
ผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มทำเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดน้ำท่วมแปลงผักที่ปลูกไว้โรงเรียน จึงหาวิธีปลูกผักโดยไม่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ต่ำ เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกครั้งเมื่อฝนตกหนักหรือเกิดอุทกภัย จึงนำวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มาใช้ แต่เปลี่ยนจากการปลูกผักสลัดเป็นพืชผักสวนครัวของไทยทั้งหมด เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักชี
นอกเหนือจากการเกษตร 4 ประเภทข้างต้น โรงเรียนยังปลูกพืชบางชนิดที่ใช้ประกอบอาหารได้ เช่น มะนาว ต้นมันปู กล้วย เป็นต้น
อาจารย์สิทธิชัย โคนาหาญ ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร โรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย บอกว่า ก่อนหน้าที่การเกษตรจะถูกจัดสรรเหลือเพียง 4 ประเภท โรงเรียนมีแปลงปลูกพืชลงดินประมาณ 1 ไร่ สำหรับปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียน เช่น กล้วย ข้าวโพด ถั่วลิสง
แต่เนื่องจากความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารเรียน ทำให้ต้องยกเลิกพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างอาคารเรียน นอกจากนี้ การเลี้ยงเป็ด และการเลี้ยงหมู ก็เป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่โรงเรียนเคยดำเนินการมาแล้ว แต่พบปัญหาเรื่องของกลิ่นรบกวนชุมชน จึงเลิกเลี้ยงไปในที่สุด
“เรามีเด็กนักเรียนทั้งหมด 239 คน เปิดสอนระดับก่อนปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น งบประมาณที่ได้รับอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ทางโรงเรียนพยายามนำมาเกลี่ยรวมกับรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในแปลงเกษตร เพื่อให้เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีอาหารกลางวันกินเช่นเดียวกับน้องๆ”
อาจารย์สิทธิชัย บอกด้วยว่า แม้ว่าจะพยายามเกลี่ยให้เด็กนักเรียนได้มีอาหารกลางวันกินทุกคน แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เฉพาะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งหมด ที่มีอยู่กว่า 40 คน รับผิดชอบตัวเอง ด้วยการนำข้าวมาจากบ้าน แต่มารับประทานกับข้าวที่โรงเรียน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายไม่เกินกว่าความสามารถของโรงเรียนที่หามาได้
ครูที่ปรึกษาให้ข้อมูลว่า ในการทำการเกษตรภายในโรงเรียน ต้องการให้นักเรียนมีความรับผิดชอบตรงต่อกิจกรรม จึงจัดตั้งชุมนุมเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่ชุมนุมนี้มีหน้าที่หลักในการดูแลกิจกรรมเกษตรทั้งหมดของโรงเรียน ส่วนนักเรียนระดับชั้นก่อนปฐมวัย และระดับประถมศึกษา ให้รับผิดชอบเฉพาะในชั่วโมงเรียนเท่านั้น
“กิจกรรมเกษตรทั้งหมด เด็กในชุมนุมต้องรับผิดชอบเป็นหลัก แบ่งหน้าที่เป็นเวรรับผิดชอบและสลับหมุนเวียน โดยนักเรียนเป็นผู้ตกลงกันเองภายในชุมนุม ครูที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น เช่น นักเรียนที่เรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ลงแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ จะแช่เมล็ดเตรียมปลูก หยอดเมล็ดปลูก ส่วนการดูแลเพื่อให้เมล็ดงอกขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เป็นหน้าที่ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เป็นสมาชิกในชุมนุม”
ผลจากการเปลี่ยนการปลูกผักลงดินมาเป็นผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นผลให้โรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อยได้รับรางวัลผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศระดับประเทศมาแล้ว เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
กิจกรรมทั้งหมด อาจารย์สิทธิชัยวางไว้ให้นักเรียนเป็นตัวขับเคลื่อนและรับผิดชอบหลักในทุกๆ กิจกรรม
และเมื่อกิจกรรมประสบความสำเร็จไปด้วยดี โรงเรียนจึงเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพื่อให้โรงเรียนเปรียบเสมือนศูนย์เรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน
เด็กชายกิตติศักดิ์ ศรีระพันธ์ หรือ น้องต้นตาล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี เล่าว่า ได้หยิบจับกิจกรรมเกษตรในโรงเรียนมาครบทุกประเภท แต่ที่รับผิดชอบหลักในตอนนี้ คือ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ ผักไร้ดิน ซึ่งมองว่า ผักไร้ดินดูแลง่ายกว่า และผลผลิตมีคุณภาพสูง เพราะเกิดสารตกค้างน้อยกว่า ไม่มีโรคและแมลงด้วย นอกจากนี้หากนำไปขายก็ได้ราคาสูงกว่าผักทั่วไป รวมถึงระยะเวลาปลูกที่ให้ผลผลิตได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวต้องการลงทุนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่บ้าน ซึ่งได้พูดคุยกับครอบครัวแล้ว ครอบครัวรับปากว่าจะลงทุนเบื้องต้นให้ เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก
ด้าน นายนัฐพงษ์ เพ็ชรพริ้ง หรือ น้องเอ็กซ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 16 ปี บอกว่า ประทับใจในกิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก เพราะสามารถนำปุ๋ยหมักไปใส่ให้กับต้นไม้ที่ปลูก เป็นการลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก เพราะปุ๋ยหมักได้มาจากวัตถุดิบที่เหลือใช้หรือเหลือทิ้ง
ส่วน เด็กชายสนั่น ภุมรินทร์ หรือ น้องมาร์ค นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี เล่าให้ฟังว่า ชอบกิจกรรมทุกประเภทในโรงเรียน เพราะทำได้ทุกอย่าง เช่น การเลี้ยงปลา ก็ชอบช่วงเวลาที่จับปลาไปขาย เพราะมีเพื่อนช่วยกันหลายคน มีความสนุกที่มีสาระ
“ตอนจับปลาก็ไปขยับกระชังปลามาใกล้ๆ ตลิ่ง แล้วยกขึ้น เอาสวิงจ้วงตักปลาขึ้นมา ได้ทั้งปลาทับทิม ปลานิล ปลาดุก ได้มาครั้งละ 70-80 ตัว ส่วนหนึ่งก็ส่งเข้าโรงครัวทำอาหาร เหลืออีกส่วนก็นำไปขาย เป็นรายได้เข้าสหกรณ์ เป็นเงินหมุนเวียนมาใช้ในกิจกรรมเกษตร สำหรับผม ถ้ามีโอกาสเลี้ยงปลาจะเลือกเลี้ยงปลานิล เพราะเป็นปลากินพืช เจริญเติบโตเร็ว เลี้ยงง่าย ซึ่งการเลี้ยงปลานิลหากมีวัชพืชลอยน้ำไว้ให้ เราแทบไม่ต้องให้อาหารเลยก็ได้ ปลาก็จะอาศัยธรรมชาติเจริญเติบโตได้เอง”
ทั้ง น้องต้นตาล น้องเอ็กซ์ และ น้องมาร์ค เสมือนเป็นตัวแทนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในชุมนุมเศรษฐกิจพอเพียง ต้องดูแลกิจกรรมเกษตรทั้งหมดของโรงเรียน เท่าที่ได้มีโอกาสพูดคุย แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนเข้าถึงชุมชนและตัวนักเรียนได้อย่างลึกซึ้ง
โดย อาจารย์สิทธิชัย ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร ระบุในตอนท้ายว่า วัตถุประสงค์แท้จริงทั้งหมด ไม่ได้มุ่งหวังไปที่รายได้เพียงอย่างเดียว แต่เพราะต้องการให้นักเรียนนำไปใช้ได้จริง ซึ่งสิ่งที่ได้ในทุกวันนี้ ทั้งอาจารย์และนักเรียนยิ้มรับได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า นักเรียนจะนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืนแม้ว่า กิจกรรมทางการเกษตรที่ดูเหมือนค่อนข้างจะหลากหลาย แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์
ผู้ใหญ่ใจดีท่านใดต้องการให้การสนับสนุนโรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย หมู่ที่ 10 บ้านน้ำลอดน้อย ตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์สัมภาษณ์ ตรีวุธ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำลอดน้อย โทรศัพท์ (084) 848-1825 หรือ อาจารย์สิทธิชัย โคนาหาญ ครูที่ปรึกษาด้านเกษตร โทรศัพท์ (082) 812-4467