กลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง นราธิวาส มีอาชีพเสริม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

กลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง จังหวัดนราธิวาส ชูผลิตภัณฑ์เด่น “ข้าวเกรียบผลไม้”, “สะละอินโด” อาชีพเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

หากได้ไปงานขายสินค้าโอท็อปที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐตามภูมิภาคต่างๆ ย่อมจะเคยเห็นบู๊ธของกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมักจะร่วมออกบู๊ธด้วย โดยมีสินค้าที่น่าสนใจหลายอย่าง หลักๆ  คือ ข้าวเกรียบผลไม้และสมุนไพร 6 ชนิด พร้อมข้าวเกรียบปลาที่มีทั้งแบบอบและแบบทอดให้เลือก บางช่วงจะมีสะละและผลิตผลทางการเกษตรมาขายด้วย

นางแยนะ เจะวานิ อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 ตอนนี้มีสมาชิก 25 คน และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกัน มีการลงบัญชี รายรับ-รายจ่าย และจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับสินค้าเด่นๆ คือข้าวเกรียบสมุนไพร 6 ชนิด ใบเตย มะเขือเทศ ดอกอัญชัน มันเทศ ข้าวโพด และกระเจี๊ยบ รวมทั้งข้าวเกรียบปลา ซึ่งผลิตภัณฑ์ 7 อย่างนี้ ได้รับเครื่องหมาย อย. ทั้งหมด และในส่วนของข้าวเกรียบปลาก็ได้รับคัดเลือกเป็นโอท็อป 4 ดาวของจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2557 จุดเด่นอีกอย่างของข้าวเกรียบสมุนไพรฝีมือกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ก็คือ ใช้ส่วนผสมจากแป้งสาคูที่ทำจากต้นสาคูที่มีในหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้แป้งมีความกรอบ

ปกติอาชีพหลักของสมาชิกจะทำสวนยางพารา แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะมารวมตัวกันทำข้าวเกรียบ ในแต่ละเดือนจะมีรายได้เสริมคนละประมาณ 2,000 บาท ในส่วนการแบ่งปันผลกำไรของกลุ่มเมื่อครบ 2 ปี หากใครทำได้เยอะก็ได้รับผลตอบแทนเยอะตามไปด้วย และทางกลุ่มยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้สมาชิกเป็นเงินสวัสดิการเวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาล จะได้ 200 บาท และถ้าสมาชิกเสียชีวิต จะได้ 300 บาท และหากโรงเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมอะไร ก็จะนำข้าวเกรียบไปแจก

ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง แจกแจงว่า สาเหตุที่ทำข้าวเกรียบอบ เพราะลูกค้าบางคนไม่ชอบการทอดที่มีน้ำมันติด เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ซึ่งขายดีมาก อบขายมาเป็นปีแล้ว ขณะเดียวกันการอบจะทำให้รสชาติเข้มข้น แตกต่างจากข้าวเกรียบที่ใช้ทอด เธอว่าข้าวเกรียบปลาของกลุ่มขายดี เพราะทำจากปลาลังเขียว ซึ่งเป็นปลาทะเลตัวเล็ก ชาวประมงในพื้นที่จับได้ อีกอย่างจะใช้ปลาเป็นส่วนผสมเยอะมาก นอกจากจะทำข้าวเกรียบแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านยังนำสะละอินโดมาขายด้วย ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ถ้าขายใน กทม. แต่หากขายในพื้นที่ภาคใต้กิโลกรัมละ 80 บาท

นางแยนะ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกสะละว่า ชาวบ้านในตำบลบูกิต ปลูกกันเกือบทุกบ้าน เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว บางคนปลูก 20 ต้น บางคนปลูก 50 ต้น เพราะเห็นว่าขายได้ราคาดี ซึ่งการปลูกไม่ยากอะไร นำเมล็ดมาเพาะใส่ถุงดำ ทิ้งไว้ 2-3 เดือน ก็จะงอก จากนั้นนำไปลงดิน ขุดหลุมลึกประมาณ 1 ศอก กว้าง 12 นิ้ว ใช้เวลา 4 ปี จะออกลูก เมล็ดที่นำมาปลูกนั้น นำมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะมีเด็กในตำบลบูกิตไปเรียนที่ประเทศอินโดนีเซียแล้วนำกลับมา

นางแยนะ บอกอีกว่า ตนเองปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก แค่ใส่ปุ๋ยและตัดแต่งใบ โดยใส่ปุ๋ยหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะใส่ปุ๋ยก่อนสะละจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ ปุ๋ยที่ใส่เป็นพวกขี้วัว ขี้ควาย ขี้แพะ ถ้าปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 ปกติสะละอินโดออกเยอะสุดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่ละต้นให้ผลผลิตประมาณ 5-10 กิโลกรัม สะละของบ้านไอร์กูเล็งมีรสชาติอร่อย เพราะได้ปุ๋ยดี และปลูกในแถบเทือกเขาบูโดที่มีอากาศบริสุทธิ์

ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ฝากไปยังหน่วยงานรัฐบาลว่า อยากให้มาสอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก จะได้ช่วยลดรายจ่าย ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ย และในเร็วๆ นี้ ทางกลุ่มคิดจะทำทุเรียนอบกรอบและทุเรียนทอดกรอบ เพราะในพื้นที่มีทุเรียนอยู่แล้ว