กพร. จ่อชงแผนผลิตปุ๋ยแห่งชาติ ดันรายได้ภาคเกษตร-คาดเห็นผลใน 5 ปี

กรมเหมืองแร่เล็งชงแผนผลิตปุ๋ยแห่งชาติล้อยุทธศาสตร์ 20 ปี ให้กระทรวงอุตฯ หวังยกระดับรายได้ภาคเกษตรหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง อ้อน ‘บีโอไอ’ ให้สิทธิประโยชน์เอกชนลงทุนวัตถุดิบปุ๋ยต่างประเทศป้อนโรงงานในไทย

รายงานข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งว่า ขณะนี้ กพร. อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้พิจารณาและเสนอต่อรัฐบาล ในการกำหนดให้ประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตรจากแร่หลัก 3 ชนิด คือ ไนโตรเจนที่สร้างใบ ฟอสฟอรัสสร้างดอก และโพแทสเซียมสร้างผล โดยแผนการผลิตดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2559-2579) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยหากได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกที่ผลิตในประเทศ จะทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นและช่วยให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นผลภายในช่วง 5 ปีจากนี้ เร็วกว่าการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของประเทศให้ขยายตัวมากกว่า 5% ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายจะใช้เวลาถึง 10 ปี

รายงานข่าวระบุว่า คาดว่าไทยมีสำรองแร่โพแทสเซียมสูงสุดเป็น อันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส เยอรมนี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตโพแทสเซียมได้ ทำให้ต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศสูงถึง 1 ล้านตัน ต่อปี และปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดนครราชสีมา ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด พื้นที่ 9,005 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแทช 1 แสนตัน ต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท และโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียน โปแตซ ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อำเภอบำเหน็จณรงค์ พื้นที่ 9,700 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแทช 1.1 ล้านตัน ต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 45,000 ล้านบาท คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2561-2562 นอกจากนี้ ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างขอประทานบัตร ขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจ คาดว่าภายในปี 2560 จะมีนักลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน

“แม้ไทยจะมีแร่โพแทสเซียมจำนวนมาก แต่อีก 2 แร่ที่เหลือซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของปุ๋ยคือ ไนโตรเจนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 20% หรือประมาณ 5 แสนตัน ต่อปี ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 80% หรือประมาณ 2 ล้านตัน ต่อปี ขณะที่แร่ฟอสฟอรัสไทยไม่สามารถผลิตใช้เองได้ทำให้ต้องนำเข้า 100% หรือประมาณ 1 ล้านตัน ต่อปี ดังนั้น ตามแผนที่ กพร. จะเสนอรัฐบาลคือ จะขอให้รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อผลิตวัตถุดิบปุ๋ย คือ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส และให้นำกลับมาผสมกับแร่โพแทช เพื่อผลิตปุ๋ยสำเร็จรูปในไทยต่อไป” รายงานข่าวระบุ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดี กพร. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กพร. ได้หารือกับบีโอไออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าในระดับกระทรวง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการบีโอไอ น่าจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางสนับสนุนต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน