กรมส่งเสริมการเกษตร ผุดสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นประจำแปลงใหญ่ ปี 2563 เพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ต่อยอดงานส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เดินหน้าสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นประจำแปลงใหญ่ ปี 2563 เพิ่มศักยภาพการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่อีกขั้น

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรแก่เกษตรกรด้วยกันในท้องถิ่น และปรับตัวรองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกลขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันมีการถือครองอยู่ไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านเครื่อง

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสนับสนุนให้เกิดช่างเกษตรท้องถิ่นประจำแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่สามารถลดต้นทุนการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้สมาชิกเกษตรกรมากขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศจะคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่ของตนเองซึ่งเคยผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 2 เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ และมีความพร้อมเข้ารับการฝึกอบรมในกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นประจำแปลงใหญ่ ระดับที่ 3 ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปีงบประมาณ 2563 เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านการให้บริการ และให้คำปรึกษาหรือแนะนำเกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรข้างเคียงได้ ตลอดจนส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วย

การฝึกอบรมเพื่อสร้าง “ช่างเกษตรท้องถิ่น” แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 1 มีทักษะในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 500 บาทต่อเครื่องต่อปี ระดับที่ 2 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 1 เพื่อพัฒนาทักษะช่างในการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม ให้สามารถบริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรข้างเคียงในท้องถิ่นได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,000 บาทต่อปีต่อเครื่อง และระดับที่ 3 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะช่างและเทคนิคการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร ให้สามารถบริการตรวจเช็คซ่อมแซมใหญ่ เครื่องยนต์เกษตร (Overhaul) ให้แก่เกษตรกรข้างเคียงในท้องถิ่นได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,500 บาทต่อเครื่องต่อปี ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร จัดฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อให้มีทักษะสู่การเป็นช่างเกษตรท้องถิ่นในทุกปี ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 3 หลักสูตร ใน 3 ระดับ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นประจำแปลงใหญ่ หลักสูตรระดับที่ 3 ในปี 2563 นี้ จัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตรตามช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ มีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น ถอดประกอบเครื่องยนต์ ซ่อมแซมระบบกำลังอัด ได้แก่ ล้างกรองอากาศ เปลี่ยนแบริ่งเพลาข้อเหวี่ยง แบริ่งก้านสูบ แหวนลูกสูบ ลูกสูบ ตั้งมาร์คเฟืองไทม์มิ่ง บดวาล์ว และปรับตั้งวาล์วไอดี ไอเสีย ซ่อมแซมระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ ล้างและเปลี่ยนชุดไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ชุดปั๊มเชื้อเพลิง และชุดหัวฉีด ซ่อมแซมระบบหล่อลื่น ได้แก่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ล้างไส้กรองน้ำมันเครื่อง ตรวจเช็คปั๊มน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซมระบบหล่อเย็น ได้แก่ เปลี่ยนถ่ายน้ำหล่อเย็น ตรวจสอบหม้อน้ำและฝาหม้อน้ำ เปลี่ยนสายพานพัดลมระบายความร้อน รวมถึงเทคนิคการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการทำงานและชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเองได้ และให้บริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมใหญ่เครื่องยนต์เกษตร (Overhaul) ให้แก่เกษตรกรข้างเคียงได้ โดยมีระยะเวลาการอบรม 3 วัน เป้าหมายจำนวน 200 ราย อบรมรุ่นละ 25 ราย จำนวน 8 รุ่น

ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น กว่าหมื่นราย เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเองได้ 1,000-1,500 บาทต่อเครื่องต่อปี และยังให้บริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรข้างเคียงได้อย่างน้อย 20 ราย