สวทช. ร่วมพัฒนาการเลี้ยงกุ้งขาว ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ในโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ จากการวิจัยและพัฒนามาทดลองใช้งานในโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นต้นแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สามารถขยายผลให้เกษตรกร และสร้างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายสรรศุภร วิชพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ทรงพระราชทานที่ดิน ซึ่ง นางกอบกุล ศาสตร์ตรี ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 25 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำเป็นแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานโดยมีการเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมกับการทำนาและการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะทำการทดสอบและขยายผลการเลี้ยงกุ้ง ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติการเปลี่ยนชื่อโครงการ จากโครงการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานไปเป็นโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” โดยนำเทคโนโลยีภาคสนาม และภูมิปัญญาพื้นบ้านและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เกิดเป็นฟาร์มตัวอย่างให้กับเกษตรกรที่สนใจทั่วๆ ไป และสามารถนำไปปรับใช้ในที่ดินของตนเองที่รกร้างว่างเปล่า ให้เกิดเป็นอาชีพ และอยู่ดีกินดีขึ้น ซึ่งเกษตรกรจะได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบระบบปิดที่ลดความเสี่ยงการเป็นโรค สามารถเลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปีโดยไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในระบบการเลี้ยงกุ้ง และไม่มีสารตกค้างในผลผลิตและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน

ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวที่ฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” ที่ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สวทช. และการสนับสนุนจากชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างแนวทางการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนให้กับฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของฟาร์ม ซึ่งโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มีบ่อเลี้ยงกุ้งสำหรับผลิตในเชิงพาณิชย์ และบ่อเลี้ยงกุ้งที่นำมาใช้ในการศึกษาวิจัย ซึ่งทาง สวทช. ได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช. ทุนวิจัย Newton Fund จากประเทศอังกฤษ และการสนับสนุนจากโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) รวมทั้งทุนวิจัยอื่นๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบ่อเลี้ยงกุ้งไปสู่การเป็น Smart Aquaculture ต่อไป

“บ่อเลี้ยงกุ้งที่นำมาใช้ในงานวิจัยนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 บ่อย่อย คือ บ่อดิน ซึ่งจะเป็นตัวแทนของการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยในรูปแบบของธรรมชาติบำบัด และบ่อที่มีการรองพื้นด้วยพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของการเลี้ยงด้วยความหนาแน่นสูงในเชิงพาณิชย์ โดยได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและประสิทธิภาพ (carrying capacity) ที่มีอยู่ของแต่ละบ่อ เช่น การเลี้ยงกุ้งในบ่อดิน ต้องคำนึงถึงความสมดุลกับสภาพแวดล้อม เน้นการควบคุมคุณภาพน้ำโดยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อกับความสามารถในการบำบัดของดินธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ การตรวจวัดประมวลผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้ง ความเข้มแสง ปริมาณน้ำฝน แรงลม อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ การเสริมสร้างสุขภาพกุ้ง และระบบการตรวจติดตามเชื้อก่อโรคที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้แก้ไขก่อนจะมีการระบาดของโรค เป็นต้น ส่วนบ่อ PE มีการนำเทคโนโลยีไบโอฟล็อก (Biofloc Technology) ซึ่งเป็นการนำตะกอนจุลินทรีย์มาช่วยในการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงกุ้ง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ และสามารถหมุนเวียนน้ำใช้ได้โดยไม่ต้องมีการปล่อยทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงผลงานวิจัยจากศูนย์แห่งชาติอื่นๆ ของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมประมง และมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาเสริมอีกด้วย โดยทางโครงการจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ของกระบวนการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตอาหารปลอดภัยส่งต่อให้ผู้บริโภค” ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข กล่าว

นางกัลยาณ์ แดงติ๊บ หัวหน้าทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทางไบโอเทค สวทช. มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับไวรัสและแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน โดยโรคที่พบเจอได้บ่อยของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งคือ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง โรคตายด่วน โรคจากการติดเชื้อในกลุ่มแบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio spp.) ซึ่งทางไบโอเทคเองได้มีการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในกุ้งมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือในโครงการพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวที่ฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” นี้จะเป็นการจัดทำห้องปฏิบัติการภาคสนามสำหรับเกษตรกร เพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดระหว่างการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจะมีการศึกษาร่วมกับทีมวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อมกับเกิดโรคของกุ้ง และยังได้ร่วมกับ ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร จากเนคเทค สวทช. ในการพัฒนาต้นแบบเครื่องมือตรวจเฝ้าระวังโรคระบาดในกุ้งสำหรับเกษตรกรด้วย

ด้าน นายเสกสรรค์ ศาสตร์สถิต หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว กลุ่มวิจัยระบบอัจฉริยะ เนคเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติที่นำมาติดตั้งนี้ สามารถตรวจวัดค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) อุณหภูมิ ความชื้น ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) รวมถึงมีสถานีวัดอากาศที่ใช้วัดความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และปริมาณแสง เพื่อที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านทางเครือข่ายมือถือ ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลผ่านเว็บแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ระบบยังสามารถสรุปข้อมูลรายวันให้ผู้ใช้ทราบสภาพน้ำในบ่อ ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชั่น

ในอนาคตองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการศึกษาวิจัยในโครงการทั้งในด้านเทคนิคการเลี้ยง และการจัดการฟาร์มเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการถ่ายทอด และเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการเลี้ยงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ช่วยยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกร ที่สำคัญผู้บริโภคยังได้บริโภคอาหารคุณภาพสูงและปลอดภัยอย่างแท้จริง