ยล “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” บทพิสูจน์ฝีมือนักปั้นแบรนด์ จาก Local สู่ เลอค่า

หากเอ่ยชื่อ ของ “คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ” หรือ “คุณขาบ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบ สไตล์ จำกัด เชื่อว่าผู้คนในหลายแวดวงน่าจะรู้จักกันดี เพราะคุณขาบมีหลายบทบาท หน้าที่ ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยในแวดวงอาหารของประเทศไทยน่าจะรู้จักกันดี ในฐานะฟู้ดสไตลิสต์ หรือนักออกแบบอาหารให้มีความสวยงาม หากในแวดวงธุรกิจคุณขาบก็เป็นที่ยอมรับในฐานะนักปั้นแบรนด์มือฉมัง รวมทั้งในแวดวงการศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาหลากหลายแขนง ทั้งด้านอาหาร สถาปัตยกรรม การออกแบบ ท่องเที่ยว การตลาด นวัตกรรม เรียกได้ว่าหากต้องเขียนประวัติด้านความสามารถของบุคคลท่านนี้ คงไม่เหลือให้เขียนถึงเรื่องอื่นๆ ผู้เติบโตมาจากวิถีเกษตรและอาหาร ทำงานเป็นอาสาสมัครโครงการหลวง เป็นนักปั้นแบรนด์ที่ได้รางวัลครบทั้ง 3 ประเภท คือ Local, Innovative, Design

ความภาคภูมิใจของไทบึงกาฬ

หลังจากโลดแล่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆ มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี สิ่งที่คุณขาบอยากทำมาตลอดชีวิตก็เป็นจริง นั่นก็คือ การกลับไปบ้านเกิด เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน นั่นก็คือ การเป็นผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” หลังจากที่ปรึกษากับสมาชิกในครอบครัว และได้มีความเห็นตรงกันว่า จะนำบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 70 ปี มาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชม ฟังดูอาจดูแปลกๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วพิพิธภัณฑ์จะเป็นสถานที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ดังนั้น การนำบ้านที่เจ้าของยังอาศัยอยู่มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินความจริง ซึ่งก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่ว่าต้องการให้ผู้มาเยือนเห็น สัมผัสถึงความมีชีวิตชีวา ความมีสีสันของสถานที่ ภายใต้แนวคิด “Local สู่ เลอค่า”

ซึ่งบุคคลที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือ คุณพ่อของคุณขาบเอง คือ “คุณตาสำอาง สุริยะ” ผู้ที่เพิ่งจากไปในวัย 92 ปี อนุญาตให้ใช้บ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตามความต้องการของคุณขาบ รวมทั้งพี่น้องครอบครัวสุริยะเองก็ไม่มีใครขัดข้อง เพราะเห็นว่าการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม

ความสวยงามของการจัดวาง

ในที่สุดเมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา ชื่อของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่รักการท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ หลงใหลในวิถีชีวิตชุมชน

จากการได้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้ ต้องบอกว่ารู้สึกปลื้มใจแทนคนในชุมชนแห่งนี้ ที่มีบุคคลที่มีคุณภาพเช่นคุณขาบอยู่ในชุมชน เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวนั้นล้วนแต่เกี่ยวข้องกับวิถีของคนในชุมชน สร้างรายได้ สร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านแห่งนี้

ภาพวาดกระจายตามจุดต่างๆ ของหมู่บ้าน

สำหรับกิจกรรมการมาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้น ไม่ได้มีแค่การมาเดินดูความสวยงาม ถ่ายรูป แล้วกลับไป แต่ที่นี่ยังมีกิจกรรมให้ร่วมทำมากมาย เช่น เรียนรู้วิถีชุมชน ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับชาวบ้าน เช่น ปลูกผัก เก็บผัก เกี่ยวข้าว เลี้ยงหมู ชมศิลปะในชุมชน ใส่ชุดและเครื่องแต่งกายให้เข้ากับวิถีชุมชน สอนจัดดอกไม้ โดยให้ไปเก็บดอกไม้เอง และนำมาจัดลงกรวยใบตองเพื่อไปไหว้พระ ไหว้พญานาค ขอพรบารมีบายศรีสู่ขวัญบนเรือนพิพิพิธภัณฑ์อายุ 70 ปี เพื่อความขลังและได้บรรยากาศวิถีอีสานโบราณ และร่วมประทานอาหารที่เสิร์ฟในรางไม้ไผ่ และจัดตกแต่งอย่างสวยงามโดยคุณขาบในฐานะฟู้ดสไตลิสต์ระดับโลก เรียกได้ว่าอิ่มตาอิ่มใจไปในคราวเดียวกัน

โดยล่าสุดผลงานของคุณขาบได้รับการยอมรับบนเวทีระดับโลก เพราะได้นำวัตถุดิบจากชุมชนบึงกาฬมาผสมผสานกับสไตล์ฝรั่งเศส จนได้คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ของโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากเวทีการประกวดกูร์มองเวิลด์ ที่มีความพิเศษ ครบรอบ 25 ปี ในประเภท People Cuisine (อาหารของปวงชน) จัดที่สำนักงานใหญ่ UNESCO Paris

คุณขาบ หรือ คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ

ซึ่งแรงบันดาลใจในการทำงานนี้ คือต้องการช่วยเหลือชุมชนบึงกาฬให้มีรายได้ และมีอาชีพทำมาหากิน โดยการนำเอาทักษะความถนัดของตนเองในด้านอาหารพื้นถิ่นมาเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างรางวัลที่ได้รับล่าสุด เป็นการเล่าเรื่องราวการออกแบบวัตถุดิบชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ริมแม่น้ำโขง

โดยเชฟโป้งที่นำเอาทักษะด้านอาหารฝรั่งเศสมาผสมผสาน จนกลายเป็นเมนูอีสานฝรั่งเศส เมนูท้องถิ่นสู่เลอค่า จนชนะใจกรรมการ นอกจากนั้นยังสามารถต่อยอดให้กลายเป็นจุดขายใหม่ของอาหารชุมชน ที่มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้ขายวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ได้ขายอาหารปรุงสำเร็จ แบบ Fine Dinning ที่สามารถรับประทานกับไวน์ได้ สิ่งนี้คือ นวัตกรรมอาหารพื้นถิ่น ที่มีผลโดยตรงกับการส่งต่อของหน่วยงานภาครัฐที่จะยื่นมือมาร่วมกัน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม ควรจะต้องร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาเรื่องดังกล่าว

คุณตาสำอาง สุริยะ

นอกจากนี้ ยังจะได้จับจ่ายช็อปปิ้งสินค้า ณ ตลาดสวนยางพารากางร่ม ภายในพื้นที่ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ฯนั่นเอง ซึ่งสินค้าที่นี่ล้วนเป็นงานฝีมือจากกลุ่มชาวบ้านที่ผู้สูงวัยได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะเดิมนั้นชาวบ้านในพื้นที่มีความสามารถในด้านงานจักสาน ทอผ้า อยู่แล้ว แต่ยังขาดทักษะในด้านของการออกแบบ ขาดความประณีตบรรจง แต่เมื่อผ่านการฝึกอบรมจากคุณขาบและวิทยากรที่คุณขาบเชิญมาให้ความรู้แล้ว ก็ทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตชิ้นงานได้อย่างสวยงามตรงใจลูกค้ามากขึ้น สร้างมูลค่าให้กับชิ้นงานขึ้นมาอย่างมหาศาล และยังสร้างความภูมิใจให้กับชาวบ้านอีกด้วย เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นหากไม่ได้รับการส่งเสริมต่อยอด สิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป ขาดคนสืบทอด ซึ่งล่าสุดมีตัวแทนจากกลุ่มบริษัท คิงส์ เพาเวอร์ ได้ส่งตัวแทนมาเจรจาเพื่อนำสินค้าจากหมู่บ้านไปจำหน่ายในช่องทางของบริษัท ซึ่งก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าฝีมือของชาวบ้านที่นี่ไม่ธรรมดา

ชาวบ้านผู้ผลิตงานฝีมือ และมาขายเอง

ขณะเดียวกัน คุณขาบ ก็ไม่ลืมที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนในหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ด้วยการให้เด็กๆ มาช่วยทำงาน ทั้งต้อนรับแขก นำเที่ยว หรือเป็นมัคคุเทศก์น้อยพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต และรอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งทำให้เยาวชนเหล่านี้ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีรายได้ ห่างไกลจากยาเสพติด มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้บรรดาเยาวชนเหล่านี้เป็นผู้ที่จะสานต่อในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองต่อไป

โดย คุณขาบ เล่าว่า ภาพวาดกราฟฟิตี้พญานาคกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการนำงานป๊อปอาร์ตที่ทันสมัยมาบอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชน แบบที่ไม่น่าเบื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เดินทางไปดูงานถึงเมืองจอร์จทาวน์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย รวมถึงสตรีทอาร์ต เมืองมาเก๊า ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นมีชื่อเสียงในกลุ่มของนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบงานสไตล์กราฟฟิตี้ บนผนังตึก บ้าน ร้านค้าต่างๆ ซึ่งจากการที่คร่ำหวอดในวงการศึกษามายาวนาน ทำให้ปัจจุบัน มีบรรดาอาจารย์ นักศึกษา เข้ามาช่วยวาดภาพพญานาคและอื่นๆ กว่า 100 ภาพ กระจายตามรั้ว ผนังบ้าน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจทั้งของคนในหมู่บ้านและผู้มาเยือน

เลี้ยงหมู

จากความตั้งใจจริงในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนในวันนั้น ก็ทำให้หมู่บ้านเล็กๆ อย่าง บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ สำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ โทร. 081-612-8853