ปลูกพืชแหนแดง ลดต้นทุนผลิตอาหารสัตว์

ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาด้านราคาวัตถุดิบอาหารที่มีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ อาทิ แหนแดง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปียร์ ถือเป็นพืชทางเลือกที่เป็นทางออกให้กับเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต

สำหรับแหนแดง เป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกระยะสั้นเติบโตเร็ว 15-30 วัน สามารถขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โปรตีนสูง และมีไนโตรเจนสูงถึง 5% ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจน ประมาณ 2.5-3% ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ท้องตลาด ราคา 12 บาท/กิโลกรัม แต่หากเป็นอาหารที่ผสมเองราคา 4 บาท/กิโลกรัม เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

แหนแดง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบอยู่ตามบริเวณน้ำนิ่ง เช่น บ่อ หรือคูน้ำ สำหรับแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่บนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตสดถึง 3 ตัน (150 กิโลกรัมแห้ง) ซึ่งเป็นปริมาณไนโตเจนได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม ประโยชน์คือ ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผัก และไม้ผล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ และมีต้นทุนต่ำ

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564