ส้มโอขาวพวง ปลูกได้ดีมีคุณภาพ ที่เชียงม่วน

31“เชียงม่วน” จังหวัดพะเยา คือความหมายของเมืองแห่งความสุขสบายใจ ด้วยวิถีวัฒนธรรมและอัธยาศัยผู้คนบรรพชนชาวไทลื้อ และความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติของพื้นที่ต้นแม่น้ำยม อีกทั้งยังเป็นเมืองที่พัก ครึ่งทาง เป็นความสุขชั่วขณะของนักเดินทางจากจังหวัดน่านที่ต้องผ่านเส้นทางภูเขาสูงชันคดเคี้ยว ลงสู่ที่ราบหุบเขาที่ “เชียงม่วน” ก่อนที่จะกลับขึ้นสู่เส้นทางภูเขาสูง คดเคี้ยวอีกครั้งเพื่อไปให้ถึงเมืองพะเยา…

“เชียงม่วน” เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ. 2512 ได้แยกการปกครองออกจากอำเภอปง นั้น ยังอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย ในยุคที่บ้านเมืองยังเผชิญด้วยภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ. 2517 จัดว่าเป็นอำเภอที่อยู่ไกลที่สุดจากตัวจังหวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ที่พะเยา “เชียงม่วน” จึงได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดพะเยา ชุมชนเมืองเชียงม่วนยังคงสภาพเป็นชุมชนชนบท บ้านเรือนหนาแน่นตามวิถีดั้งเดิม อำเภอเชียงม่วน มีสถานที่สำคัญคือ น้ำตกธารสวรรค์ บ่อเหมืองลิกไนต์เก่า แก่งหลวงแม่น้ำยม เป็นต้น

เชียงม่วน แม้จะเป็นอำเภอเล็ก มี 3 ตำบล ตำบลเชียงม่วน ตำบลบ้านมาง และตำบลสระ แต่ก็มีพืชที่ปลูกมากมายไม่แพ้อำเภออื่นของจังหวัดพะเยา และหนึ่งในนั้นคือ ส้มโอ คุณลุงแสงจาย อุ่นตาล บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งมอก ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ เล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกส้มโอครั้งแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งก่อนหน้านั้น น้าของลุงไปดูงานการปลูกส้มโอที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ได้ซื้อต้นส้มโอพันธุ์ขาวพวง กลับมาปลูกที่บ้าน เมื่อติดผล มีโอกาสได้ชิม ปรากฏว่ารสชาติดีมีรสหวาน กุ้งแห้งดี จึงขอตอนกิ่งมาปลูก และเมื่อได้ผลดีจึงขยายปลูก ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ปลูก 5 ไร่ ประมาณ 250 ต้น นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรในหมู่บ้าน รวมทั้งตำบลข้างเคียงปลูกตามอีกเป็นจำนวนมาก โดยสวนของคุณลุงแสงจาย ได้รับใบรับรองเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP อีกด้วย

ทรงพุ่มของส้มโอขาวพวง

คุณณัฎฐพร บุณญัษเฐียร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รับผิดชอบตำบลบ้านมาง ศิษย์เก่าสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้ข้อมูลการปลูกส้มโอว่า ส้มโอพันธุ์ขาวพวง ผลมีลักษณะทรงกลมสูง มีจุกสังเกตเห็นเด่นชัด มีจีบบริเวณจุก ผลขนาดโตปานกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13-14 เซนติเมตร สูง 15-18 เซนติเมตร จุกสูง 1.5-2 เซนติเมตร ด้านก้นผลเว้าเล็กน้อย ต่อมน้ำมันใหญ่อยู่ห่างกัน ผิวเรียบ สีเขียวอมเหลือง ผลหนึ่งจะมีประมาณ 2-14 กลีบ กลีบแยกออกจากกันง่าย เนื้อกุ้งมีสีขาวถึงขาวอมเหลือง น้ำมากแต่ไม่แฉะ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ความหวานประมาณ 10 องศาบริกซ์​ ถ้าแก่จัดรสหวานมากกว่าเปรี้ยว ลักษณะลูกหัวจุกยาว (คล้ายลูกน้ำเต้า) เนื้อสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ ส่งออกดีชาวจีนชอบ เพราะเหมือนผลน้ำเต้า เมล็ดไม่มาก นิยมใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะมีรูปทรงที่สวยงาม เป็นพันธุ์ที่ส่งขายต่างประเทศ

วิธีการปลูกส้มโอ

เกษตรกรนิยมปลูกโดยการใช้กิ่งตอน การซื้อกิ่งพันธุ์จากสวนส้มโอที่ปลอดโรค หรือตอนกิ่งจากสวนของตัวเอง ตอนจากต้นส้มโอที่ไม่เป็นโรคแมลงรบกวน โดยตอนกิ่งที่เป็นกิ่งกระโดง ที่แข็งแรง หรือกิ่งที่แตกใหม่จากต้นแม่ การตอนกิ่งใช้เวลา 45 วัน กิ่งตอนจะออกรากมีสีเหลืองจึงตัดกิ่งตอนเพื่อนำไปปลูก หรือใส่ดินปลูกในถุงไว้ให้แข็งแรงก่อน แล้วจึงนำไปปลูกในแปลงก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก

การเตรียมพื้นที่ปลูกส้มโอ ถ้าเป็นการปลูกสวนใหม่ ควรปลูกกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยไข่ก่อนปลูกส้มโอ สักประมาณ 4-5 เดือน แล้วจึงปลูกส้มโอจะดีมาก เพราะจะมีไม้พี่เลี้ยง หรือไม้บังร่มป้องกันลมให้กับต้นส้มโอที่ยังเล็กอยู่ได้ดี ทำให้ต้นส้มโอแข็งแรงและโตเร็ว ถ้าเป็นร่องสวนควรยกร่องสูงกว่าระดับน้ำปกติ 80-100 เซนติเมตร การเตรียมหลุมปลูกส้มโอ ขุดหลุมลึก 20×20 เซนติเมตร ระยะห่างหลุมของการปลูกส้มโอควรเป็นระยะ 4×5 เมตร ต่อต้น และต่อระหว่างแถว 1 ไร่ ปลูกได้ 35 ต้น นำปุ๋ยหมักและดินดีผสมให้เข้ากันใส่ให้เต็มหลุมที่ขุดไว้ ขุดหลุมเล็กๆ พอมิดรากกิ่งตอน นำกิ่งตอนหรือต้นส้มโอที่ปลูกในถุงไว้แล้ววางกลางหลุมที่เตรียมไว้ ใช้ดินกลบ ปักไม้ผูกกับกิ่งส้มโอกันลมพัดกิ่งโยกทำให้รากขาดได้ แล้วให้น้ำทุกวันถ้าฝนไม่ตก หรือดูว่าดินชุ่มน้ำแต่ต้องไม่เปียกแฉะ จนกว่ากิ่งส้มโอที่ปลูกใหม่เริ่มแตกใบอ่อนและต้นแข็งแรงดีแล้ว รากเดิมเต็มแล้วก็ควรลดปริมาณการให้น้ำน้อยลงตามความเหมาะสม 5 วัน ต่อครั้งก็ได้

ทรงพุ่มของส้มโอขาวพวง

การดูแลสวนส้มโอ

ระยะแรก เริ่มใส่ปุ๋ยหมักผสมปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย ปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม ต่อปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม เมื่อกิ่งส้มโอเริ่มแตกใบอ่อนและให้น้ำทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยหมัก และให้น้ำทุก 7 วัน เมื่อครบ 1 ปี กล้วยน้ำว้าตกผลและเก็บผลได้ ปีที่ 1 ให้ตัดกล้วยออกกอเว้นกอหรือต้นเว้นต้น เพราะส้มโอต้องการแสงแดดมากขึ้น ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน เพื่อล่อแมลงให้มาวางไข่บนใบหญ้าอ่อนแทนการไปวางไข่บนใบส้มอ่อน ก็จะมีกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก งู มากินแมลงเหล่านั้น เป็นการกำจัดแมลงไปด้วย

ปีที่ 2 ก็ต้องตัดต้นกล้วยออกต้นเว้นต้น เช่นเดียวกับปีแรก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละ 2 กิโลกรัมต่อต้นส้มโอ

ปีที่ 3 ส้มโอจะเริ่มออกดอกติดผล ให้ส้มโอติดผลได้ต้นละไม่เกิน 15 ผล ในปีแรกที่ออกผล ใส่ปุ๋ยหมักทุกๆ 2 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น รดน้ำทุก 7 วัน ต่อครั้ง และเริ่มปลูกต้นทองหลางข้างร่อง ร่องละ 3-5 ต้น ตัดหญ้าในสวนส้มโอทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน

ปีที่ 4 ส้มโอเริ่มติดดอกออกผลมากขึ้น ให้ส้มโอติดผลได้คราวละไม่เกิน 20 ผล ต่อต้น ใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน เดือนละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บผลส้มโอ พร้อมตัดกาฝากก่อนเก็บผล 2 สัปดาห์ ควรหยุดการให้น้ำใส่ปุ๋ยทุก 7 วัน ต่อครั้ง และตัดต้นกล้วยออกให้หมด (ถ้าปลูกส้มโอเป็นไร่ไม่ยกร่อง ให้ปลูกต้นเพกาแทนต้นทองหลาง แถวละ 5-10 ต้น แถวห่าง 40 เมตร และควรปลูกกล้วยแซมระหว่างแถวส้มโอ แถวละ 5-10 กอ)

คุณลุงแสงจาย และภรรยาย กับผู้เขียน พร้อม นวส.ที่รับผิดชอบพื้นที่

ปีที่ 5 ส้มโอเริ่มออกผลมากขึ้น ควรให้ส้มโอติดผลคราวละไม่เกิน 50 ผล ต่อต้น ใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน เดือนละ 3-5 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูงก่อนเก็บผล 2 เดือน ใส่ทุกเดือน เดือนละ 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่บริเวณรอบทรงพุ่มส้มโอ ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน ตัดแต่งกิ่งหรือเก็บเกี่ยวผลส้มโอ พร้อมตัดกาฝากทุกครั้ง ให้น้ำทุกๆ 7 วันครั้ง ถ้าต้นส้มโอมีผลผลิตและอากาศแห้งแล้งมาก ควรให้น้ำทุกๆ 3 วัน วันละครั้ง และหยุดให้น้ำวันที่ฝนตก

วิธีคิดเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติ การปรับปรุงดินโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ คือการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพทุกเดือน เดือนละ 1-2 กำมือ ต่อ 1 ตารางเมตร และใช้น้ำหมักชีวภาพผสมกากน้ำตาลรดทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย จะทำให้สภาพดินดีขึ้น วิธีสังเกตว่าดินดีอุดมสมบูรณ์ดูจากการที่มีเห็ดต่างๆ ขึ้นในสวนส้มโอ เหมือนธรรมชาติในป่าที่มีจุลินทรีย์ในดินมากเห็ดจะขึ้นได้ดี เพราะฉะนั้น เห็ดจะเป็นตัวชี้นำความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างดี ดินดีปลูกพืชอะไรก็จะเจริญเติบโตดี ดินเหมือนบ้านของพืชทุกชนิด บ้านดีฉันใด คนอยู่ในบ้านก็มีความสุข และดินดีอุดมสมบูรณ์ พืชก็เจริญเติบโตดีฉันนั้น ปัญหาของดินก็คือ ปัญหาดินตาย ไม่มีจุลินทรีย์ธรรมชาติในดิน เพราะเกษตรกรใช้สารเคมีกันมากเกินไป

การใช้สารล่อในกับดักอย่างง่าย แต่ให้ผลดี

การกำจัดศัตรูพืช แบบเกษตรธรรมชาติ

จากสภาพปัญหาศัตรูของส้มโอ ข้อสังเกตส้มโอจะถูกแมลงศัตรูพืชทำลายมาก ในช่วงที่ส้มโอแตกใบอ่อน ช่วงนี้แมลงจะมาวางไข่บนใบอ่อนส้มโอ แล้วฟักตัวเป็นหนอนกัดกินใบอ่อนส้มโอ เช่น หนอนชอนใบ หนอนแก้วกินใบ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติ โดยไว้หญ้าในสวนส้มโอให้ขึ้นรก และใช้เครื่องตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอจะแตกใบอ่อน คือการตัดหญ้าให้ใบอ่อนของหญ้าที่เราตัดแตกใบอ่อนพร้อมๆ กับใบอ่อนส้มโอ จะเห็นว่าเวลาแมลงท้องแก่มาวางไข่ แทนที่จะบินไปวางไข่บนใบอ่อนส้มโอ มันก็จะมาวางไข่ที่ใบหญ้าอ่อนแทน และในขณะเดียวกัน การทำสวนส้มโอที่ไม่ใช้สารเคมีก็จะมีสัตว์ชอบมาอาศัยอยู่ ได้แก่ กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก นก งู หนู และอื่นๆ ก็จะช่วยกินแมลงที่บินมาวางไข่บนใบหญ้าอ่อนที่เราตัดหญ้าไว้ จึงเป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ โดยใช้ระบบนิเวศในการกำจัดศัตรูพืชที่เราไม่ต้องใช้สารเคมีให้มาทำร้ายเกษตรกรเอง ทำร้ายผู้บริโภคอีกด้วย

ในการตัดหญ้าทุกครั้งให้รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเสริมจุลินทรีย์ในการช่วยสลายเศษพืชที่ตัด ให้กลายมาเป็นปุ๋ยบำรุงสวนส้มโอได้อีกด้วย ฉะนั้น ในการตัดหญ้าทุกครั้งเท่ากับเราได้ใส่ปุ๋ยทุกครั้ง และในการไว้หญ้าในสวนส้มโอให้รกก็ยังเป็นการคลุมดินให้เก็บความชื้นได้ดี เศษหญ้าที่ตัดก็จะช่วยคลุมดิน ทำให้จุลินทรีย์ในดินเจริญได้ดี ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์และพืชสามารถดูดธาตุอาหารไปสร้างความเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นการกำจัดศัตรูพืชแบบเกษตรกรรมธรรมชาติอีกวิธีหนึ่งคือ การเรียนรู้ระบบวงจร ชีวิตของแมลงศัตรูและการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน

วงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช เริ่มต้นจากการเป็นผีเสื้อที่บินแล้วไปวางไข่บนใบพืช ต่อมาไข่ก็ฟักตัวออกเป็นหนอน กัดกินใบพืช ทำให้เกิดความเสียหายใบพืช เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะปรับตัวเข้าไปเป็นดักแด้ ดักแด้จะสร้างเปลือกหุ้มตัวเองไว้และฝังตัวอยู่ในดิน และพัฒนาตัวกลายเป็นผีเสื้อในฤดูกาลต่อไป ในขณะที่แมลงศัตรูพืชอยู่ในรูปของดักแด้เปรียบเสมือนซากสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในดิน

จุลินทรีย์ในดินทำหน้าที่อย่างไร จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ในดินให้เน่าเปื่อย กลายเป็นฮิวมัสหรือปุ๋ย ให้พืชดูดไปสร้างความเจริญเติบโตต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อเราตัดหญ้าทุกครั้งให้พร้อมกับการแตกใบอ่อนของส้มโอ และรดน้ำหมักชีวภาพทุกครั้ง จุลินทรีย์ก็จะช่วยย่อยสลายเศษหญ้าและดักแด้ของแมลงศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี และยังช่วยกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกันด้วย ชีวิตของดินก็กลับฟื้นชีพ ทำให้พืชผลเจริญงอกงามดี เกษตรกรเจ้าของสวนก็จะได้ลดต้นทุน ลดหนี้สิน แถมมีกำไร ทั้งกำไรชีวิตและกำไรที่เป็นเงินทอง ความร่ำรวย สุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วย

สภาพภายในสวน

วิธีการบังคับส้มโอติดดอกออกผลตลอดปี แบบเกษตรธรรมชาติ

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติก่อน คือสิ่งมีชีวิตทุกอย่างย่อมต้องการอาหารและน้ำเป็นสิ่งสำคัญ พืชผักผลไม้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต้นส้มโอที่กำลังจะติดดอกออกผลย่อมต้องการอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอในการบำรุงต้นและผลของส้มโอก่อนที่ส้มโอจะออกดอกติดผล การบำรุงรักษาต้นต้องมีการรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นส้มโอสมบูรณ์ แข็งแรงเต็มที่ เมื่อผลผลิตที่ได้ถ้าเปรียบกับคนก่อนตั้งท้องก็ต้องมีการบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต้นส้มโอก็เช่นเดียวกัน

ก่อนที่จะออกดอกติดผลก็ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ตัดกาฝาก เตรียมต้นให้พร้อมเสียก่อน และบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ต้นส้มโอที่พร้อมที่จะให้ผลผลิตได้อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงออกผลใช้เวลา 3 ปี และเมื่อส้มโอเริ่มออกผลปีแรกให้ออกดอกติดผลตามธรรมชาติไม่ต้องบังคับ วิธีการบังคับการออกดอกติดผลของส้มโอ สัญชาตญาณของต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่ามันจะตายหรือมันถูกทรมาน มันก็จะเริ่มออกดอกติดผลทันที ซึ่งก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรหลายอย่างที่ทรมานให้พืชผลติดดอกออกผล เช่น ให้อดน้ำ ใช้มีดถากต้นให้เป็นแผล ใช้มีดควั่นกิ่ง ใช้ลวดรัดต้น ใช้ไม้ทุบต้น ความเชื่อเดิมของคนไทยเวลาเกิดจันทรุปราคา พระจันทร์มืดเกษตรกรจะใช้สากตำข้าวไปตำต้นขนุน มะม่วง เพื่อไล่ราหูอมจันทร์ แต่กลับทำให้ขนุน มะม่วงติดดอกดกดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อและประสบการณ์ของเกษตรกรมาช้านานแล้ว แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ ซึ่งวิธีการนี้ก็ใช้ได้ผลดีถ้าต้นไม้ไม่ตายเสียก่อน

 

ใบรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร

การบังคับส้มโอออกดอกติดผลจะใช้วิธีการงดการให้น้ำต้นส้มโอ ประมาณ 2 สัปดาห์ ในขณะที่ใบส้มโอแก่เต็มที่ เมื่อต้นส้มโอถูกงดการให้น้ำ ต้นส้มโอจะเริ่มเฉา มีใบห่อลง ดูสภาพต้นว่าเริ่มเหี่ยวเฉาเพราะไม่มีน้ำมาเลี้ยงต้น พอหลังจาก 2 สัปดาห์ เราเริ่มให้น้ำพร้อมปุ๋ยหมัก ผสมปุ๋ยเคมีสูตรตัวกลางสูง คือสูตร 15-30-15 (หรือฟอสฟอรัส) เพื่อกระตุ้นตาดอก แต่ถ้าไม่มีปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากน้ำมะพร้าวแก่หรือน้ำหมักปลาทะเล รดพร้อมให้น้ำพอประมาณ โดยในวันแรกอย่าให้น้ำมากจนดินแฉะ ต้นส้มโออาจช็อกน้ำได้ วันที่ 2 ให้น้ำมากขึ้นแต่ไม่แฉะ วันที่ 3 ให้น้ำปกติ วันที่ 4 ถ้าดินยังชื้นอยู่ไม่ต้องให้น้ำ ไปให้วันที่ 5 หลังจากนั้นให้น้ำ 3 วันครั้ง ส้มโอจะเริ่มแทงตาดอก ประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมแตกใบอ่อนออกมาพร้อมกับสลัดใบทิ้งไปบ้าง คือมีใบร่วงบ้างเล็กน้อย

เมื่อดอกส้มโอติดเป็นผลอ่อน ก็บำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน ให้น้ำทุก 5-7 วันต่อครั้ง เมื่อส้มโอติดผลได้ 6 เดือน จะใส่ปุ๋ย หว่านโดยใช้ปุ๋ยหมักจากขี้แดดนาเกลือใส่ลงไป 15 วันต่อครั้ง ครั้งละ 3 กำมือต่อพื้นที่รอบต้น ส้มโอ 1 ตารางเมตร จนกระทั่งเก็บผลส้มโอระยะ 8 เดือน ตั้งแต่เริ่มออกดอก แต่ก่อนจะเก็บผลส้มโอ 2 สัปดาห์ ก็จะหยุดการให้น้ำเพื่อให้ต้นส้มโอสะสมอาหารในผล ให้รสชาติหวาน อร่อย เก็บผลส้มโอแล้วรับประทานได้เลย ในขณะที่งดการให้น้ำต้นส้มโอ 2 สัปดาห์นั้น นอกจากจะทำให้คุณภาพของผลส้มโอดีแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ส้มโอติดดอกออกผลในรุ่นต่อไปอีกด้วย จึงทำให้ต้นส้มโอมีผลส้มโอเก็บได้ตลอดปี

การตัดแต่งกิ่งส้มโอ

ในการดูแลรักษาต้นส้มโอในแต่ละปีหลังจากปลูกต้นส้มโอแล้ว 1 ปี ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อกำหนดทรงพุ่มให้สวยงาม ไม่มีกิ่งเล็กกิ่งน้อย ควรเป็นกิ่ง 2 กิ่งใหญ่ หรือ 3 กิ่งใหญ่ ทำให้ทรงพุ่มแข็งแรง ส้มโอเจริญเติบโต ปีที่ 2 ก็ควรมีการตัดแต่งกิ่งแห้งที่เป็นโรคแมลงทิ้งไป และเมื่อส้มโอเข้าสู่ปีที่ 3 ส้มโอก็จะติดดอกออกผล การตัดกิ่งก็คงตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้สมดุลกัน และตัดกิ่งแห้ง กิ่งแก่ กิ่งที่มีกาฝากขึ้นทิ้งไป กิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดงที่ทำให้ทรงพุ่มเสียดุลตัดทิ้งไป และมีข้อสังเกตซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า กิ่งที่ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีคือ กิ่งที่แตกกระโดงขนานกับพื้นดิน หรือกิ่งที่แตกออกจากต้นแม่ทะแยง 45 องศา กับพื้นดิน กิ่งกระโดงที่ตั้งตรงจนถึงยอดจะไม่ค่อยติดผล หรือติดผลก็คุณภาพไม่ดี เปลือกหนา เป็นส้มเบา ไม่มีเนื้อ

เนื้อกุ้งของส้มโอขาวพวง จากสวนคุณลุงแสงจาย

วิธีการขยายพันธุ์ส้มโอ

เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ซึ่งการตอนกิ่งส้มโอก็ทำไม่ยาก แต่ก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการตอนกิ่งส้มโอเช่นกัน คือการตอนกิ่งส้มโอของเกษตรกร อุปกรณ์ มีขุยมะพร้าวแช่น้ำ 7-15 วัน ถุงพลาสติกหนา เชือกพลาสติก กะปิเคย (ฮอร์โมน) มีดควั่นกิ่งตอน วิธีตอนกิ่งส้มโอ ใช้มีดควั่นกิ่งส้มโอ โดยคัดเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่แตกใหม่ที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป กิ่งยาวไม่เกิน 2 ฟุต ควั่นกิ่งส้มโอบริเวณตรงข้อของกิ่งด้านบนและด้านล่างห่างกัน 1 นิ้ว (อย่าควั่นกิ่งคล้องข้อกิ่ง) เพราะจุดเจริญที่แตกรากจะอยู่บริเวณข้อตาของกิ่งส้มโอ ใช้มีดควั่นกิ่งเอาเปลือกกิ่ง รอยแผล 2 รอยออก แล้วใช้กะปิเคยแท้ทาบริเวณรอยควั่นกิ่งทิ้งไว้ 1 วัน

จากนั้นให้นำขุยมะพร้าวที่แช่น้ำแล้วใส่ถุงพลาสติกอัดให้แน่น ใช้เชือกพลาสติกผูกปากถุง และให้เหลือเชือกไว้มัดกับกิ่งส้มโอ ยาวข้างละ 2 นิ้ว และใช้มีดผ่าถึงขุยมะพร้าวที่อัดแน่นแล้วแหวกขุยมะพร้าวในถุง แล้วนำไปหุ้มกิ่งส้มโอที่ควั่นไว้ 1 วัน แล้วมัดให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ 50-60 วัน ส้มโอก็จะออกรากและรดน้ำที่กิ่งตอนจนรากส้มโอมีสีเหลืองและมีรากเต็ม จึงตัดกิ่งตอนนำไปปลูกได้ ควรตอนกิ่งในฤดูฝนจะทำให้ส้มโอออกรากได้ดีและไม่ต้องคอยรดน้ำ ไม่ควรตอนกิ่งส้มโอในฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงต้นไม้พักการเจริญเติบโตและอากาศแห้งแล้ง

งานเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอ

อายุนับตั้งแต่วันที่ออกดอกและดอกเริ่มบาน ให้นับไป 8 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถ้าได้มีการดูแลอย่างสม่ำเสมอ วิธีการสังเกตหรือดูว่าส้มโอแก่และเก็บผลได้ มีวิธีสังเกต 3 อย่าง คือ 1. สังเกตจากต่อมน้ำมันของผิวส้มโอ ต่อมน้ำมันของผิวส้มโอจะห่าง และสีผลมีสีเหลืองอ่อน 2. สังเกตจากการกดที่กั้นของผลส้มโอขาวใหญ่ ใช้นิ้วหัวแม่มือกดดูจะรู้สึกนิ่ม ก็บอกได้ว่าผลส้มโอแก่จัดเก็บผลได้แล้ว เนื่องจากส้มโอแก่จัดในของผลจะขยายออกเป็นโพรงเล็กๆ บริเวณก้นผลส้มโอ 3. สังเกตจากการนับอายุตั้งแต่ดอกส้มโอเริ่มดอกบานถึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อายุ 8 เดือน

ข้อควรระวังในการเก็บผลผลิต

เกษตรกรจะไม่เก็บผลผลิตครั้งเดียวหมดต้นหรือเก็บผลในวันเดียวหมดต้น จะทำให้ต้นส้มโอขาดสมดุล การส่งน้ำและอาหารของส้มโอได้ และอาจทำให้ส้มโอเกิดอาการช็อก ต้นส้มโอจะเหี่ยวเฉา และต้นส้มโออาจตายได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาเก็บเกี่ยวผลส้มโอไม่ควรเก็บผลส้มโอครั้งเดียวหมดต้น ต้องค่อยๆ เก็บและเหลือผลส้มโอไว้บนต้นอย่างน้อย 5-10 ผล สุดท้ายจึงเก็บได้หมดต้น การเก็บส้มโอรับประทานส่วนใหญ่แล้วชาวสวนส้มโอจะเก็บไว้ 1-2 วัน จะทำให้ส้มโอรสชาติหวาน ที่เขาเรียกว่าเก็บให้ส้มโอลืมต้นเสียก่อน เพื่อผลส้มโอจะได้สะสมอาหารได้เต็มที่ ทำให้รสชาติหวานขึ้น

การดูแลสวนส้มโอขาวใหญ่ หลังการเก็บเกี่ยว

หลังจากที่ได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอแล้ว ก็ควรมีการตัดแต่งกิ่งส้มโอออกเสียบ้าง หรือบางครั้งชาวสวนส้มโอเรียกว่า “การทำสาว” คือการคืนสภาพแข็งแรงให้กับต้นส้มโออีกครั้ง โดยการตัดแต่งกิ่งแก่ กิ่งกระโดง กิ่งแห้งออก แล้วให้ส้มโอแตกกิ่งใหม่มาแทนกิ่งที่แตกใบใหม่ จะมีท่อน้ำ ท่ออาหารใหม่ ทำให้การส่งน้ำและอาหารเลี้ยงต้นได้ การเจริญเติบโตของต้นส้มโอก็จะแตกใบใหม่ ปรุงอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ต้นส้มโอมีสภาพแข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะออกดอกติดผลในฤดูต่อไปได้อย่างดี และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุกเดือน รดน้ำบำรุงดินทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมตัดกิ่งที่มีกาฝากออกและเมื่อส้มโอแตกใบอ่อนก็อย่าลืมตัดหญ้าคลุมดินและให้หญ้าแตกใบอ่อนล่อแมลงมาวางไข่ ก็จะถูกศัตรูธรรมชาติกำจัดแมลงเหล่านั้นแทนเราได้อีกด้วย

ผลผลิตคุณภาพดี

ส้มโอหรือพืชตระกูลส้มมีความได้เปรียบพืชอื่นข้อหนึ่งคือ สามารถรอการเก็บเกี่ยว หรือเก็บเกี่ยวแล้วรอการจำหน่ายได้เป็นเวลานาน แต่ศัตรูสำคัญคือแมลงวันทอง ซึ่งสามารถใช้การล่อมาทำลายด้วยกับดักสารล่อได้แต่ควรติดกับดักบริเวณรอบสวน ไม่ควรล่อให้เข้ามาในสวน เพราะหากล่อไว้รอบสวนแมลงวันทองจะเจอกับดักก่อน แต่หากล่อในสวนหรือในทรงพุ่มส้มโอแมลงวันจะเจอผลส้มโอก่อนและเจาะเข้าทำลายได้โดยไม่ได้เข้าไปในกับดักสารที่ติดตั้งไว้ สนใจศึกษาเรียนรู้หรือทดลองชิมรสชาติส้มโอขาวพวง เชิญได้ที่สวนคุณลุงแสงจาย อุ่นตาล ที่บ้านทุ่งมอก อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ได้เลย

ถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงม่วน โทร. 054-495-096

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2564