การปลูกโกโก้ ที่แม่ใจ พะเยา

เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หันมาปลูกโกโก้สายพันธุ์ชุมพร 1 ส่งขาย สร้างรายได้ดี โดยผลผลิตโกโก้สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทุกเดือน เนื่องจากผลจะทยอยออกอย่างต่อเนื่อง และมีตลาดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง

ลุงบุญธรรม

ลุงธรรม มูลปุ๊ก เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา กำลังเข้าทำการดูแลผลผลิตโกโก้ที่ปลูกไว้กว่า 320 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กำลังให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ และเริ่มทยอยเก็บได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีมาแล้ว โดยในปีนี้ผลผลิตออกลูกดกมาก ซึ่งแต่ละเดือนสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 2 รอบ เฉลี่ยแล้วมากกว่า 100 กิโลกรัม

ลุงธรรม กล่าวว่า สวนโกโก้แปลงนี้เคยปลูกปาล์มน้ำมันและมะละกอมาก่อนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากราคาปาล์มตกต่ำ ตัดขายยอดอ่อนทิ้งไป ต้นละ 100 บาท จากที่ซื้อต้นพันธุ์มาปลูก ต้นละ 160 บาท และมะละกอก็เป็นพืชที่มีอายุสั้นและมีปัญหาโรคไวรัสวงแหวน ตนเองจึงหันมาปลูกโกโก้ เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา โดยทำการปลูกจำนวน 320 กว่าต้น  เวลาผ่านไป 2 ปี 8 เดือน พบว่าโกโก้ให้ผลผลิตเป็นอย่างดี โดยสามารถเก็บผลผลิตดังกล่าวได้มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี แล้ว ซึ่งโกโก้นั้นจะเป็นพืชที่ออกลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยในรอบเดือนสามารถเก็บผลลิตได้ 2 รอบ เฉลี่ยประมาณกว่า 100 กิโลกรัม ต่อเดือน ซึ่งจะส่งขายในราคากิโลกรัมละ 10-15 บาท ซึ่งมีตลาดรองรับ สามารถเก็บได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโกโก้จะทยอยออกรุ่นต่อรุ่นตลอดทั้งปี สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี และถือเป็นพืชที่มีอนาคต และสามารถอยู่ได้ 50-70 ปี

โกโก้ เป็นพืชเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ต้องการน้ำสม่ำเสมอ พื้นที่ที่เหมาะสมควรมีฝนตกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หรือควรมีแหล่งน้ำเพียงพอ ดินที่เหมาะสมควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร pH ประมาณ 6.5 โกโก้ชอบดินระบายน้ำดี แต่ก็สามารถทนน้ำท่วมได้ถึง 5 เดือน โกโก้เป็นพืชที่ต้องการร่มเงาพอสมควร โดยเฉพาะต้นที่ยังเล็กอยู่

การติดผลของโกโก้พันธุ์ชุมพร 1

สายพันธุ์โกโก้ที่ปลูก สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

ครีโอโล (Criollo) ผลค่อนข้างใหญ่ สีแดง หรือออกเหลือง เปลือกบาง ผิวขรุขระ ก้นผลแหลม เมล็ดใหญ่สีขาว หรือม่วงอ่อน และมีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่อุตสาหกรรมช็อกโกแลตต้องการมาก แต่ไม่ทนต่อโรคแมลง จึงไม่เป็นที่นิยมปลูกในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พันธุ์ Forastero ลักษณะผลสั้น ผลสุกสีเหลือง ผิวเรียบไม่ขรุขระ มีร่องตื้นๆ ตามแนวผล ให้ผลผลิตสูงกว่า Criollo แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ เวสแอฟริกัน อมิโลนาโด (West African Amelonado) เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน สามารถผสมตัวเองได้ และเมื่อปลูกด้วยเมล็ด มักไม่กลายพันธุ์ ทนทานต่อโรคแมลงได้ดี แต่มักอ่อนแอต่อโรค ยอดแห้งและกิ่งแห้ง โกโก้พันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ลักษณะของผลมีสีเขียว ค่อนข้างยาว เมื่อแก่มีสีเหลือง เปลือกหนา ก้นมน เมล็ดสีม่วงเข้มค่อนข้างแบน อัพเปอร์ อเมซอน (Upper Amazon) ผลสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง เมล็ดสีม่วงเข้ม ให้ผลผลิตสูงกว่าและเร็วกว่าพันธุ์อมิโลนาโด

ทรีนิ ตาริโอ (Trinitario) เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Amelonado กับ Criollo คุณภาพเมล็ดสูงกว่าพันธุ์ อมิโลนาโด และต้านทานโรค แมลง แต่ผลผลิตต่ำกว่า Forastero และเป็นพันธุ์ที่ต้องการผสมข้ามต้น ขยายพันธุ์โดยการติดตา หรือปักชำ

ลักษณะภายในของผลโกโก้

สำหรับในประเทศไทยมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมออกมาอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ คือ

พันธุ์ลูกผสม ชุมพร 1 ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพเมล็ดดี โดยให้ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งสูงสุดตลอดเวลาการทดลอง 13 ปี สูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก ประมาณ 31.4% ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.2 กิโลกรัม/ไร่ เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูง ประมาณ 57.27% ลักษณะผล ป้อม ไม่มีคอ และก้นไม่แหลม ผิวผลเรียบ ร่องค่อนข้างตื้น เมล็ดมีเนื้อในเป็นสีม่วง มีความทนทานต่อโรคกิ่งแห้งค่อนข้างสูง ทนทานต่อโรคผลเน่าดำปานกลาง ลักษณะการผสมเกสร เป็นพวกผสมข้ามต้น ควรปลูกลูกผสมพันธุ์อื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 1 พันธุ์ ในแปลงเดียวกัน โดยปลูกคละปนกันไปเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร

พันธุ์ลูกผสม I.M.1 พัฒนาพันธุ์ โดย ดร. สัณห์ ละอองศรี อดีตอาจาร์สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเด่นคือ เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง เหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคกลาง เหนือและอีสาน ให้ผลผลิตสูง เริ่มออกดอกติดผลและเก็บเกี่ยวได้ในปีที่ 3 หลังจากปลูก เมล็ดแห้งมีขนาดและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เมล็ดมีปริมาณไขมันสูง เฉลี่ย 52 เปอร์เซ็นต์

การขยายพันธุ์โกโก้ สามารถทำได้ทั้งการติดตา ทาบกิ่ง แต่ที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุดคือ การเพาะเมล็ด

การปลูกโกโก้ เป็นพืชที่ชอบร่มเงา และไม่ชอบแดดจัดเกินไป การปลูกโกโก้นั้น นิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว  เพราะปริมาณแสงแดดที่โกโก้ได้รับจะเหมาะสมพอดี ไม่มากและน้อยเกินไป และโกโก้มีระบบรากลึก ไม่แย่งอาหารกับมะพร้าว ระยะปลูกที่ให้ผลผลิตดีกรณีปลูกโกโก้เดี่ยวๆ คือ 3×4 เมตร แต่ในมาเลเซียมีการปลูกมะพร้าว ระยะ 9×9 เมตร แซมด้วยโกโก้ ระยะ 3×3 เมตร ซึ่งได้ผลดี โดยรายได้ของโกโก้ จะเป็น 2 เท่า ของรายได้จากมะพร้าว และยังทำให้ผลผลิตมะพร้าวสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย การปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าว ต้องปลูกต้นโกโก้ห่างจากต้นมะพร้าวอย่างน้อย 2 เมตร หากมะพร้าวมีอายุมาก และต้นสูง แสงแดดอาจมากเกินไปสำหรับต้นโกโก้เล็ก ก็ควรพรางแสงด้วยทางมะพร้าว หรือปลูกปอเทืองรอบๆ ต้นโกโก้ เพื่อช่วยพรางแสง สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังนิยมปลูกโกโก้แซมสวนปาล์ม สวนยาง และสวนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการปลูกโกโก้เป็นพืชเชิงเดี่ยว

ลักษณะภายในสวน

การเก็บผลโกโก้ จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อย่างเข้าปีที่ 3 โดยโกโก้จะทยอยออกดอกเป็นรุ่นตลอดทั้งปี โดยปกติจะห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากดูแลดี โกโก้จะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี โดยจะเก็บเกี่ยวได้ 2-3 สัปดาห์ ต่อครั้ง อายุของผลนับจากดอกบาน ประมาณ 5-6 เดือน ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง หรือแดง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การเก็บผลโกโก้นั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้วผลออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือเด็ด เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้วผลช้ำ เพื่อจะได้เกิดเป็นตาดอกและผลรุ่นถัดไป

การหมักโกโก้ ผลโกโก้ที่เก็บมาแล้วจะต้องผ่าผลแล้วแกะเมล็ดออกจากผลและไส้ที่ติดมากับเมล็ด แล้วนำเมล็ด (พร้อมทั้งเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว) มาหมักเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้แห้งที่มีกลิ่น รส และคุณภาพที่ดี โดยผลที่จะนำมาหมักต้องสุกพอดี โดยดูจากสีผลที่เป็นสีเหลือง ปริมาณเมล็ดโกโก้ที่เหมาะสมกับการหมักแต่ละครั้งอยู่ระหว่าง 50-100 กิโลกรัม หรือประมาณ 500 ผล (ปริมาณต่ำสุดไม่ควรน้อยกว่า 30 กิโลกรัม) เพื่อให้ได้กลิ่นและรสที่ดี

เทคนิคการหมักโกโก้ ซึ่งมีวิธีการหมักโกโก้แบบง่ายๆ และได้ผลดี โดยเริ่มต้น ให้ผ่าผลโกโก้ออกเป็น 2 ส่วน คว้านเอาเฉพาะส่วนเมล็ด (ไม่เอาแกน) จากนั้นนำเมล็ดโกโก้ใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ใส่เมล็ดโกโก้ไปประมาณ 12 กิโลกรัม ผูกปากถุงด้วยเชือกให้แน่น โดยให้มีพื้นที่ว่างปากถุง ประมาณสัก 30% ของขนาดถุง หมักไว้ 8 วัน ก็จะได้โกโก้ที่มีคุณภาพ

ผลโกโก้สีเหลือง แก่พร้อมเก็บเกี่ยว

ปัจจุบัน มีผู้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ ทั้งมีการทำสัญญาและไม่ทำสัญญา ก็ขอให้เกษตรกรพิจารณาดูให้ดี เพราะลุงธรรมเองก็บอกกับผู้เขียนว่า ตอนแรกที่ปลูกก็เพราะมีคนมาส่งเสริมให้ปลูกและจะรับซื้อผลผลิตคืน พอผลผลิตออกกลับไม่มารับซื้อ จำเป็นต้องหาแหล่งรับซื้อเอง จึงได้ขายให้กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบนดอย ที่อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน แปรรูปส่งขายประเทศแคนาดา โดยเขามารับผลผลิตถึงสวน หากผลผลิตน้อยก็ให้ส่งทางขนส่งเอกชน โดยทางโรงงานรับผิดชอบค่าขนส่ง มีข้อมูลอีกอย่างหนึ่งว่าผลผลิตที่ต่างประเทศต้องการเป็นพันธุ์หอมในขณะนี้คือพันธุ์ ไอเอ็ม1 (I.M.1) ซึ่งมีโรงงานแปรรูปอยู่ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รับซื้อผลสดนำไปหมักและแปรรูปเอง

หากใครสนใจ ทางบริษัทมีต้นพันธุ์ฟรีให้ท่านไปปลูก โดยเกษตรกรแถบเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะปลูกพันธุ์นี้กัน ส่วนอีกพันธุ์คือ พันธุ์เนื้อ หรือพันธุ์ชุมพร 1 จะมีความหอมน้อย กว่า มีบางคนที่มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ขายกล้าพันธุ์ให้เกษตรกรถึงต้นละ 100 บาท  ลุงธรรมจึงฝากบอกว่า หากจะต้องซื้อกล้า ราคาไม่ควรเกิน 30-35 บาทเท่านั้น

ลักษณะเมล็ดภายในของโกโก้ มีสีม่วง
เนื่องจากพันธุ์ชุมพร 1 เป็นพันธุ์ที่ต้องมีการผสมข้าม และต้นพันธุ์เกิดจากการเพาะเมล็ดจึงมีผลที่แตกต่างกันเกิดขึ้น

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564