รื้อฟื้นประเพณี ‘พิธีกองตายาย’

ในจังหวัดชุมพร มีความเชื่อที่แสดงให้เห็นถึงการผสานความเชื่อของมนุษย์เรื่องผีบรรพบุรุษ เข้ากับศาสนาเช่นกัน นั่นคือ “พิธีกรรมกองตายาย” ที่อิงอยู่กับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ แม้ว่าลักษณะการดำเนินชีวิตของคนชุมพรในปัจจุบันจะแตกต่างไปจากอดีต แต่ยังคงผูกพันกับเครือญาติ ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นผลมาจากพิธีกรรมกองตายายที่เป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ในเครือญาติให้ยังคงแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ลักษณะของพิธีกรรมกองตายายของชาวชุมพรนั้น มีความแตกต่างไปจากประเพณีสารทเดือนสิบของภาคใต้ คือ พิธีกองตายาย จะดำเนินเหมือนบรรพบุรุษของตนยังคงมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องจัดอาหารหรือขนม โดยเฉพาะเหมือนกับประเพณีสารทเดือนสิบ

พิธีกองตายาย มักจัดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ยังปรากฏให้เห็นใน อำเภอเมืองชุมพร และ อำเภอท่าแซะ บางส่วน เพื่อแสดงถึงความเคารพและความผูกพันที่มีต่อบรรพบุรุษ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตายาย” พิธีกองตายายเกิดขึ้นเมื่อไหร่และเกิดขึ้นได้อย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะยังไม่พบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการปฏิบัติสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกองตายายเป็นความเชื่อร่วมกันที่เริ่มต้นจากกลุ่มเครือญาติ ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษจนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

จุดมุ่งหมายหลักของพิธีกองตายายคือ ความต้องการแสดงความเคารพบูชาบรรพบุรุษผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และสำนึกในบุญคุณของผู้ที่ล่วงลับไป โดยการจัดเตรียมสำรับอาหารคาวหวานเพื่อใช้เลี้ยงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อที่ว่า ผีตายายยังคงอยู่กับลูกหลาน คอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้พ้นภัยอันตรายในทุกๆ วัน

ผู้ประกอบพิธีคือผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัว หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบทอดพิธีนี้ต่อไป หาก       ผู้อาวุโสไม่สามารถประกอบพิธีนี้ได้ จะเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ต้องรับหน้าที่ประกอบพิธีดังกล่าวแทน โดยมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ คือ เสื่อ สำหรับปูนั่ง และวางอาหารคาวหวาน ใบตอง สำหรับกองอาหารที่ห้ามเด็ดปลายใบและห้ามมีใบที่ฉีกขาดเด็ดขาด ด้วยความเชื่อที่ว่าหากเด็ดปลายใบแล้วผีบรรพบุรุษจะไม่สามารถมาเข้าร่วมพิธีได้ ต่างจากเวลาปกติ หากมีการนำใบตองมาใช้ประโยชน์ในบ้านจะต้องเด็ดปลายออก เพื่อป้องกันไม่ให้ผีสามารถเข้าบ้านได้ อย่างอื่นมี หิ้งพระ หรือ โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป และมีการนำพระพุทธประกอบพิธีโดยการใช้ดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามปกติ แต่บางบ้านก็ไม่มีการนำพระพุทธเข้ามาเกี่ยวข้องเลย อาหารคาวหวานจะกองด้วยปริมาณที่พอเหมาะ แบ่งเป็นกองๆ ทั้งหมด 5 กอง วางบนใบตอง โดยอาหารหวานจะตั้งอยู่บนครึ่งบนของใบตอง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งใช้วางอาหารคาว

ส่วนเครื่องมือ เครื่องใช้ในพิธีกองตายาย ประกอบด้วย มีด ขวาน เคียว แกระ กระแมะ ปืน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ หากเป็นช่างตีเหล็กก็ใช้เครื่องมือตีเหล็ก หากเป็นช่างขุดเรือก็ใช้เครื่องมือขุดเรือ หากเป็นช่างไม้ก็ใช้เครื่องมือที่ใช้ในงานไม้ นอกจากนั้น ยังมีส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย หมากพลู เหล้า เบียร์ น้ำหวานเมา น้ำเปล่า ยาเส้น เสื้อผ้าใหม่ชาย 1 ชุด หญิง 1 ชุด แป้งหอม น้ำมันหอม กระจก หวีเงิน    หวีทอง

กองตายายจะตั้งในบ้านหันไปทางทิศใต้ หากเป็นบ้าน 2 ชั้น จะตั้งบนชั้น 2 มีการปูเสื่อก่อนหนึ่งชั้นแล้วนำใบตองมาวางทับอีกชั้น ลักษณะของโคนใบตองจะหันไปทางทิศตะวันออก และปลายใบตองจะหันไปทางทิศตะวันตก แบ่งกองอาหารคาวหวานอย่างละ 5 กอง บนใบตอง ส่วนครึ่งบนใช้สำหรับวางอาหารหวาน ส่วนครึ่งล่างใช้สำหรับวางอาหารคาว ในบริเวณกึ่งกลางใบจะใช้สำหรับวางน้ำเปล่า เหล้า น้ำหวานเมา ที่บรรจุในภาชนะเล็กๆ ในส่วนของผู้ประกอบพิธีจะนั่งถัดลงมาจากใบตองที่ใช้กองตายาย ด้านข้างผู้ประกอบพิธีจะมีขันน้ำสำหรับ “บ้วนปากขากลาย” (บ้วนปาก) และกระโถน โดยผู้ร่วมพิธีจะนั่งอยู่ด้านหลังถัดจากผู้ประกอบพิธี

การประกอบพิธีจะเริ่มเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. เมื่อการจัดเตรียมอาหารคาวหวานเสร็จ ผู้ทำพิธีจะปูเสื่อ และใบตอง พร้อมทั้งจัดเตรียมเสื้อผ้าใหม่ เครื่องมือ เครื่องใช้ จากนั้นจัดอาหารใส่ภาชนะวางบนใบตองโดยแบ่งอาหารคาวหวานออกเป็น 5 กอง ซึ่งเริ่มต้นจากการจุดธูปเทียนไหว้พระพุทธ แล้วกล่าวคำบูชาพระพุทธ (นะโม 3 จบ) ตามด้วยการกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธตามลำดับ เมื่อเสร็จในส่วนของพระพุทธแล้วผู้ประกอบพิธีจึงเริ่มจุดธูปเทียนที่บริเวณกองตายายจากนั้นกล่าวคำอัญเชิญผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า  ตายาย ญาติที่ล่วงลับไปแล้วของทั้งสองฝ่าย หากมีบรรพบุรุษที่ไม่รู้จักชื่อ จะใช้วิธีการใช้ให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่รู้จักชื่อชักชวนกันมาด้วย ในขณะที่มีการออกชื่อเรียกผู้ล่วงลับ ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มรินเหล้า ริน   น้ำหวานเมาไปด้วย ในส่วนของบทเชิญช่วงท้ายจะมีการขอพรเพื่อให้บรรพบุรุษให้คุ้มครอง ดูแลลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

หลังจากนั้น จะหยิบอาหารจากกองอาหารคาวหวานทั้ง 5 กอง ใส่ในใบตองที่มีช่วงใบยาวประมาณ 1 ฟุต ใส่รวมกันทั้งของคาว ของหวาน ผลไม้พร้อมทั้งรินน้ำ และเหล้าลงไปด้วย นำไปวางบนพื้นดินบริเวณนอกบ้าน มีการกล่าวเชิญมากินด้วยคำกล่าวว่า “พวกติดตีนตามมือ ลูกศิษย์ลูกหากินกับเจ้ากับนายไม่ได้มากินกันตรงนี้” โดยไม่ต้องจุดธูปเทียน เพื่อนำไปให้พวกที่ชาวบ้านเรียกว่าพวก “ติดตีนตามมือ” แล้วจึงประกอบพิธีไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ไหว้ตาพุก (ยุ้งข้าว) และไหว้ตาครกยายสาก ตามลำดับต่อไป

พิธีกองตายาย เป็นประเพณีเก่าแก่ที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมชาวใต้ เด็กรุ่นหลังน้อยคนนักที่จะรู้จักประเพณีนี้ ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ถือเป็นสมบัติของแผ่นดินคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร ภายใต้การนำของ คุณกาญจนา สากระแสร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ และ คุณเอกราช ชนาการ ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ จึงมีแนวคิดในการฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้เยาวชนและผู้สนใจได้มีโอกาสซึมซับประเพณีเก่าแก่ที่บรรพบุรุษร่วมกันสร้างสรรค์เอาไว้ มิให้มรดกล้ำค่าเหล่านี้ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา

ทวีลาภ การะเกด