นักเรียนวิทยาลัยประมงสมุทรสาคร เจ๋ง!! โชว์ผลงานเด่น ประดิษฐ์คอนโดเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น คุณประโยชน์มากมาย

คอนโดสาหร่ายพวงองุ่น

ขึ้นชื่อว่า สาหร่าย ในท้องทะเล ก็ให้ความรู้สึกว่ามีประโยชน์ ตอนนี้มีสาหร่ายอยู่ชนิดหนึ่ง ที่คล้ายพวงองุ่น จึงเรียกกันว่า สาหร่ายพวงองุ่น หรือ สาหร่ายไข่ปลาคาเวียร์

แต่เดิมนั้นผู้ที่ไปเที่ยวต่างประเทศ อย่าง ประเทศญี่ปุ่น จะพบเห็นสาหร่ายชนิดนี้เสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร ลองลิ้มชิมรสต่างติดใจ จะซื้อกลับมาเมืองไทยก็ยุ่งยาก แต่หารู้ไม่ว่าสาหร่ายประเภทนี้ในเมืองไทยก็มี

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา ในตลาดสดมีขาย ในภาคกลางที่จังหวัดเพชรบุรี ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง พัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องหอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเลมา

คณะผู้จัดทำ
คณะผู้จัดทำ

กลุ่มนักเรียนจากวิทยาลัยประมงสมุทรสาคร อาชีวศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมี คุณสิริณทิพย์ ต้นไม้ทอง คุณภานุวัฒน์ สังข์คุ้ม คุณปวีณา เชี่ยงว่อง คุณรานิษฐ์ สุนทรรุจิพันธ์ และ คุณสิทธินัย อถรรกำธร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสาหร่ายพวงองุ่น พร้อมทั้งประดิษฐ์คอนโดสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อทดลองการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ในครั้งนี้มี ครูอุบล ภู่เกิด พร้อมคณะ เป็นครูที่ปรึกษา

ก่อนอื่นได้ให้ความรู้ทั่วๆ ไปว่า สาหร่ายพวงองุ่น เป็นสาหร่ายทะเลสีเขียว มีแขนงที่ตั้งตรงคล้ายพวงองุ่น สีเขียวสด มีคุณค่าทางอาหารสูง จัดเป็นอาหารทะเลที่สำคัญ แพร่กระจายในพื้นที่ร้อนและกึ่งร้อน เจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีสารอาหารบริบูรณ์และมีแสงแดด เจริญเติบโตบนโขดหิน ก้อนกรวด และพื้นทราย

ผลงาน
ผลงาน

การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น สามารถเลี้ยงเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลี้ยงในบ่อพักน้ำแบบธรรมชาติ ระบบการเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อเลี้ยงกุ้ง หรือบ่อเลี้ยงปลา และระบบการเลี้ยงในบ่อคอนกรีต

ถ้าเลี้ยงสาหร่ายในบ่อดิน การปลูกจะมีทั้งแบบหว่านและแบบปักชำ ระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่แสงส่องถึง ขึ้นอยู่กับความโปร่งแสงของน้ำ โดยมากรักษาระดับน้ำให้มีความลึก ประมาณ 60-100 เซนติเมตร แบบปักชำมีข้อดีกว่าแบบหว่าน เนื่องจากสาหร่ายจะมีอัตราความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกันและควบคุมความหนาแน่นได้ ทำให้สาหร่ายที่โตมีแขนงที่ยาวและมีขนาดสม่ำเสมอ นอกจากนี้ สามารถปลูกสาหร่ายบนแผงอวนหรือตาข่ายได้ ทำให้สาหร่ายมีความสะอาดและมีคุณลักษณะดี หลังจากปลูกประมาณ 1-2 เดือน ก็เก็บเกี่ยวสาหร่ายได้ เก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง

แต่ของนักศึกษากลุ่มนี้จะไม่เลี้ยงในบ่อดินและบ่อคอนกรีต แต่จะเลี้ยงในคอนโดที่สร้างขึ้นเอง ลักษณะจะคล้ายตู้ปลาต่อเรียงขั้นบันได แต่ละตู้ๆ 3 ตู้ ซึ่งจะต้องมีการเจาะท่อเดินระบบน้ำไหล วางระบบที่รองรับสาหร่าย จากนั้นนำพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นมาวางลงบนแผงพลาสติก แล้วเย็บสาหร่ายให้ติดกัน นำสาหร่ายที่เย็บแล้วไปลงในตู้ที่จะเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น สิ่งต้องคำนึงคือ เรื่องความเค็มของน้ำ แสงแดดต้องส่องอย่างสม่ำเสมอ และถ้าเลี้ยงในบ่อแบบเปิดบ่อดิน ต้องตรวจสอบความเค็มของน้ำตลอด

สำหรับการคัดเกรดสาหร่ายในการจำหน่ายนั้น อาจจะแบ่งออกเป็นเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งมีความยาว 5 นิ้ว ขึ้นไป เกรด เอ ความยาว 4-4.5 นิ้ว เกรด บี ความยาว 2.5-3.5 นิ้ว

วิธีเตรียมประกอบอาหาร

  1. ล้างสาหร่ายพวงองุ่น ด้วยน้ำเปล่า 1-2 ครั้ง เพื่อทำความสะอาดสาหร่าย แล้วต้องรับประทานสาหร่ายให้หมด เพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้
  2. แช่ในน้ำเย็น 1-2 นาที เพื่อให้สาหร่ายพวงองุ่นพองตัวเต็มที่ เวลารับประทานจะกรอบอร่อย
  3. พักให้สะเด็ดน้ำ จัดใส่จานเตรียมรับประทาน
  4. ข้อพึงระวัง การรับประทานคือให้ตักน้ำจิ้มใส่เป็นคำๆ อย่าราดน้ำจิ้ม หรือคลุกผสมรวมกัน เพราะจะทำให้สาหร่ายฝ่อก่อนที่จะรับประทานหมด หลายคนก็รับประทานกับส้มตำหรือนำมายำ

นอกจากนี้ ห้ามนำสาหร่ายใส่ตู้เย็น จะทำให้ฝ่อลีบ สาหร่ายที่ยังไม่ได้ล้างให้เก็บใส่กล่องไว้ตามเดิม และวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง จะเก็บได้นาน 2-3 วัน

 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 74110 โทร. (034) 471-239