ปุ๋ยอินทรีย์บ้านห้วยส้ม สร้างรายได้ คนในเตา

พื้นที่บ้านห้วยส้ม ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง ลางสาด และเงาะ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 4,000 ไร่ ไม้ผลถือเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนอกจากการกรีดยางพารา ซึ่งปัจจุบันมีราคาผันผวนและตกต่ำ อย่างไรก็ตาม การจัดการแปลงไม้ผลเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี มีราคาสูงทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้โครงสร้างดินเสื่อมลง จะส่งผลกระทบทำให้ดินแน่น ทำลายสัตว์หน้าดินและจุลินทรีย์ในดิน

คุณสิทธิชัย ฑีฆะ ประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เล่าว่า กลุ่มเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน โดยชุมชนบ้านห้วยส้ม ดังนั้น เกษตรกรในชุมชนจึงมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักถิ่นบ้านห้วยส้ม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ รวมถึงการผลิตพืชอย่างยั่งยืนให้แก่สมาชิกในชุมชน เอกลักษณ์ที่โดดเด่น วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นวัสดุและมูลสัตว์ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากการขายวัสดุให้แก่กลุ่ม รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ได้รับมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร

สมาชิกกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านห้วยส้ม

ความสำคัญภูมิปัญญาท้องถิ่น สมาชิกกลุ่มมีความชำนาญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพมาใช้ในการผลิต ซึ่งสมาชิกมีการผลิตใช้เองมาเป็นเวลานาน เป็นที่ยอมรับจากเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก

ประธานกลุ่มได้อธิบายถึงความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอินทรีย์หรือวัสดุอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่างๆ อาทิ การสับ การบด การหมัก การร่อน การสกัด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพด้วยย่อยสลายของจุลินทรีย์ก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อพืช

มีมาตรฐานรับรอง

รูปแบบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
1. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยไม่ผ่านการอัดเม็ด
2. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยผ่านการอัดเม็ด

กระบวนการผลิต

ความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงดินและให้แร่ธาตุอาหารแก่พืช เพราะประกอบด้วยอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ ที่จะทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น พร้อมช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยปุ๋ยอินทรีย์มีความสำคัญ ดังนี้

  1. ปุ๋ยอินทรีย์มีแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง รวมถึงจุลชีพที่พอเพียงต่อความต้องการของพืช
  2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะแรกอาจทำให้พืชมีผลผลิตไม่มากนัก แต่หากใช้ในระยะยาว ผลผลิตพืชจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ทำให้คุณสมบัติของดินดีขึ้นเรื่อยๆ
  3. ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างของดินมีความเหมาะสมต่อการเติบโตของพืช และช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น รวมถึงช่วยในการดูดยึดธาตุอาหารไว้ในดินได้มากขึ้น
  4. ช่วยให้อนุภาคของดินจับตัวกันเป็นก้อนหรือเม็ดดินได้ดี เนื้อดินไม่อัดตัวกันแน่น มีความร่วนซุย การถ่ายเทอากาศการอุ้มน้ำและการไหลซึมของน้ำในดินดีขึ้น
  5. ช่วยให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากอินทรียวัตถุสามารถเอื้อประโยชน์และสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
  6. ช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้ดีขึ้นจากปริมาณจุลินทรีย์ในดินที่เพิ่มขึ้น
  7. เป็นปุ๋ยที่สามารถหาได้ง่ายและทำขึ้นได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้มีราคาถูกสามารถใช้วัตถุดิบทั่วไปตามท้องถิ่น
  8. มีวิธีการใส่ไม่ยุ่งยาก และไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงต่อเกษตรกร
  9. ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีโอกาสสูญเสียจากการซึม การไหลบ่าของน้ำ การเสื่อมสภาพ เนื่องจากสารอาหารหรือแร่ธาตุจะเป็นองค์ประกอบในสารอินทรีย์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวทำให้มีข้อเสียพอสมควร ได้แก่
    – การใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากเกินความจำเป็นจะเป็นการเพิ่มแร่ไนโตรเจนมากเกิน ควรทำให้พืชเติบโตเฉพาะในส่วนใบและลำต้น ทำให้ผลผลิตของผลหรือเมล็ดน้อย
    – ปุ๋ยอินทรีย์มีปริมาณธาตุอาหารหลักน้อย หากต้องการผลผลิตมากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีแร่ธาตุอาหารหลักสูงร่วมด้วย
    – การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมากอาจมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ค่าแรง ค่าน้ำมัน มากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียว

คุณสิทธิชัยบอกรายละเอียดและขั้นตอนวิธีทำปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพต้องมีส่วนผสมอะไรบ้าง

บรรจุกระสอบพร้อมจำหน่าย

วัตถุดิบ

  1. มูลไก่ 700 กิโลกรัม
  2. มูลวัว 300 กิโลกรัม
  3. น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร
  4. กากน้ำตาล 5 ลิตร
  5. รำ 2 กิโลกรัม
  6. อื่นๆ 30 กิโลกรัม
มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก

ขั้นตอนการดำเนินการ

  1. นำมูลวัวผสมกับมูลไก่ โดยผสมสลับกันทำเป็น 4 ชั้น
  2. ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วรดด้วยน้ำหมักชีวภาพให้ทั่ว หมักไว้ 3 วัน แล้วใช้เครื่องพรวนดินตีปุ๋ยให้เข้ากัน
  3. กลับกองปุ๋ยทุกๆ 5 วัน จนกว่าปุ๋ยจะมีอุณหภูมิต่ำ
  4. เมื่อปุ๋ยมีอุณหภูมิต่ำ บรรจุปุ๋ยจำหน่าย

ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 8 บาท (กระสอบละ 25 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 200 บาท)