มะรุม ผักพื้นบ้าน มีคุณค่า และเป็นสุดยอดยา

ฤดูร้อนเมืองไทย ที่ร้อนแบบได้ใจ คนเรามักหงุดหงิดง่าย เวลาจะหาอะไรมากินสมองมันก็มึนตื้อ คิดไม่ค่อยออก บอกไม่ค่อยได้ จนไม่อยากคิด ไม่อยากหาอะไรมากิน บางวันเจอฝนตก ค่อยลดร้อนลงหน่อย วันส่วนใหญ่จะร้อน ร้อนรุมรุ่มร้อนไม่ใช่แต่กาย ใจก็พลอยร้อนรุ่มตาม อาหารการกินมีให้หาเยอะแยะ แต่เพราะมันร้อน ทำให้มองหาอะไรไม่เจอ นึกไม่ออกบอกไม่ถูก ยามตะวันรอนอ่อนแสง เริ่มแลเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีทรงพุ่มต้นสวยโปร่ง ใบพลิ้วสายลมอ่อนช้อยงดงาม ยอดอ่อนเป็นช่อสวยหวานอวบอิ่ม ฝักกลมยาวตรง ห้อยแกว่งไกว เป็นผักพื้นบ้านที่ยังหลุดรอดยืดอายุ ผ่านมาตั้งแต่ปลายหนาวเป็นที่น่าจดจำ พบเห็นแล้วหายร้อน น่ากินจังเลย

“มะรุม” ผักประเภทไม้ยืนต้นสูง ทรงพุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ เป็นพืชพื้นบ้านที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วไป เมื่อก่อนการจะปลูกต้นมะรุมไว้ที่บ้าน โบราณเขาถือ เชื่อว่าถ้าบ้านใครปลูกไว้ จะก่อปัญหาวุ่นวาย เกิดความยุ่งยากลำบาก มีภัยคุกคามตามมารุมมาตุ้มครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นกุศโลบายคนเก่าแก่ ที่แฝงซ่อนคำบอกเตือนถึงอันตรายของต้นมะรุม เตือนคนในบ้าน ที่ชอบปีนป่ายขึ้นต้นมะรุม มักจะเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต้นมะรุมเป็นไม้ที่กิ่งเปราะหักง่ายมาก เขาจึงให้นำไปปลูกไว้ริมรั้ว ข้างทาง เคยจับขโมยที่ปีนข้ามรั้วเข้าบ้าน จับพวกปีนต้นไม้แอบดูสาวๆ อาบน้ำ กิ่งมะรุมหัก พลัดร่วงสู่ดิน จับได้ก็หลายรายอยู่ แต่ในสมัยนี้เห็นมีปลูกกันในบ้านเยอะแยะ หรือเพราะสังคมมันว้าเหว่วังเวงเกินไป มะรุมจึงกลายเป็นไม้ที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหลแล้ว เดี๋ยวนี้คนทั่วไปรู้คุณค่า คุณประโยชน์ที่มีมากมายของต้นมะรุมกันมากยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

บ้านเราตอนนี้ มีผักพื้นบ้านหลายชนิด ที่ชาวบ้านได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจธรรมชาติของพืชผักต่างๆ อย่างจริงจัง มีการใช้ประโยชน์จากผักมากมายหลายมิติ ทั้งทางนิเวศ และวัฒนธรรม ด้านอาหาร ด้านยารักษาโรค ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านพลังงานทดแทน ด้านประเพณีพิธีกรรมความเชื่อ และด้านเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่มนุษย์ให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่อง อาหารการกิน เรื่องกินเรื่องใหญ่ มนุษย์อยู่รอดทุกวันนี้ เจริญเติบใหญ่ เป็นทรัพยากรของโลกได้ก็เพราะได้กินอาหาร พืชผักถูกใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือกินสดๆ ซึ่งมีมาแต่โบราณ ผู้ชายล่าสัตว์ ผู้หญิงหาผักหาพืชมาทำอาหารเลี้ยงชีวิต เมื่อกินอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะได้ประโยชน์ทางโภชนาการ เป็นยาสมุนไพร ให้เส้นใยอาหาร ให้สารอาหาร ให้ความอร่อย ปลดปล่อยความหิวโหย เกิดเรี่ยวแรงทำงาน สมองแจ่มใส จิตใจเข้มแข็ง มีพลังสู้ชีวิต ซึ่ง “มะรุม” เป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดที่ตอบโจทย์ให้เราได้

ผักพื้นบ้าน หมายถึง พืชผักหรือพรรณไม้พื้นเมืองในท้องถิ่นที่ชาวบ้านนำมาบริโภค หรือประกอบอาหาร ตามวัฒนธรรมการบริโภคของท้องถิ่น มีอยู่ในแหล่งธรรมชาติ ในป่าเขา ม่อนดอย ทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ บนน้ำ ริมน้ำ ริมห้วยหนองคลองบึง ในสวนนาไร่ หรือนำมาปลูกไว้ใกล้บ้าน สวนครัวหลังบ้าน แม้แต่แขวนลอยฟ้า และนำมาประกอบอาหารตามกรรมวิธีเฉพาะของท้องถิ่น และคุณลักษณะพรรณไม้เหล่านั้น ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านยารักษาโรคต่างๆ ด้วย จากการรวบรวม และอนุรักษ์พันธุกรรมพืชผักของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย ปี 2535 สามารถเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชผักในเขตต่างๆ ได้ 1,792 ชนิด ภาคเหนือ 411 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 637 ชนิด ภาคกลาง 636 ชนิด ภาคใต้ 128 ชนิด และการรวบรวมข้อมูลพืชผักที่ใช้บริโภค โดยกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2530 ของภาคเหนือ 120 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 130 ชนิด ภาคใต้ 158 ชนิด นับว่ามีพืชผักมากมายในประเทศเรา

“มะรุม” หรือฝรั่งเรียก Horse Radish Tree แปลตรงตัวคือ ต้นผักกาดม้า หรือ Drumstick Tree (ต้นไม้ตีกลอง) เป็นไม้ในวงศ์ MORINGACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Moringa oleifera lamk. มีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ แตกต่างกันไป ได้แก่ ภาคเหนือ เรียก ผักอีฮึม ผักอีฮูม มะค้อนก้อม หรือ บ่าค้อนก้อม ภาคอีสาน เรียก ผักอีฮูม บักอีฮูม มักรุม ภาคใต้ เรียก รุม มะรุม ภาคกลาง เรียก มะรุม กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ เรียก กาแหนงดิน เขมร เรียก มะรุม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย มีมากที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย เขมร ลาว เวียดนาม จนถึงแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และแอฟริกา เป็นไม้ที่ปลูกง่ายในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำกิ่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดกลมและโปร่ง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ชนิดแตกใบย่อย 3 ชั้น ก้านใบยาว 20-40 เซนติเมตร ออกเรียงสลับใบย่อย ยาว 1-3 เซนติเมตร รูปไข่ ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบแยกกัน ผล เป็นฝักยาว เปลือกสีเขียว มีส่วนคอด และส่วนมนเป็นระยะๆ ตามความยาวของฝัก มองคล้ายเป็นข้อปล้อง ยาว 20-50 เซนติเมตร ฝักอ่อนยังกรอบนุ่ม ฝักแก่แข็งเป็นกิ่งไม้ แบบว่าใช้เป็นอาวุธได้เลย เมล็ดมะรุม เป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกบางหุ้ม 3 ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ดประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่สีน้ำตาลและแตกอ้า เมล็ดสีเทาดำติดเรียงตัวอยู่ภายใน พร้อมที่จะแพร่พันธุ์ต่อไป

ประโยชน์จากการนำเอามะรุมมาเป็นอาหาร ยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อนใช้เป็นผักประกอบอาหาร รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ติดขมเล็กน้อย ออกดอกในช่วงต้นหนาว ถึงกลางหนาว คนไทยทุกภาคนิยมกินมะรุมเป็นผัก ภาคกลางนิยมเอาฝักอ่อนไปแกงส้ม ดอกมะรุมลวกให้สุก หรือดองกินกับน้ำพริก ชาวอีสาน เอายอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอกอ่อน นำไปลวกให้สุก หรือต้มเป็นผักกินร่วมกับป่น แจ่ว ลาบ ก้อย หรือปรุงเป็นแกงอ่อม ฝักอ่อน และฝักที่ไม่แก่เต็มที่นำมาปอกเปลือกหั่นเป็นท่อนปรุงแกงส้ม หรือแกงลาว ชาวเหนือ เรียกใบยอดมะรุมว่า ผักอีฮูม เรียกฝักแก่ว่า มะค้อนก้อม นำฝักอ่อน ดอกอ่อน หรือฝักแก่ที่ยังเขียว ไม่แห้ง เอามาปอกเปลือกออก หั่นเป็นท่อนๆ แกงใส่ปลาช่อน หรือปลาย่าง บางที่เอาฝักอ่อนไปเป็นผักแกล้มส้มตำแทนถั่วฝักยาว คุณค่าทางอาหาร ฝักมะรุม 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี เส้นใย 1.2 กรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 532 IU. วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 262 มิลลิกรัม

มะรุม เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นยาดีมากคุณค่า ดอกมะรุมมีรสหวานมันอมขมเล็กน้อย เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ฝักรสหวาน แก้ไข้ ใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร เด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ช่วยควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในภาวะปกติ ช่วยเพิ่มเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายคนปกติ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ป้องกันโรคมะเร็ง และหยุดการแพร่เชื้อเซลล์มะเร็ง ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของโรคเกาต์ โรคไขข้อกระดูกอักเสบ โรครูมาติซั่ม มะเร็งในกระดูก รักษาโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจอักเสบ หอบหืด บำรุงกระดูกสำหรับคนที่กระดูกเสื่อม และรักษากระดูกหักให้หายเร็ว รักษาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โรคคอหอยพอก และโรคตับ ราก มีรสเผ็ด หวาน ขม สรรพคุณแก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ เปลือกต้น รสร้อน ขับลมลำไส้ ช่วยทำให้ผายลม หรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ แก้ลมอัมพาต ใบมะรุม ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ แก้แผลอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ ฝักมะรุม มีรสหวาน เป็นยาแก้ไข้ ควบคุมความดันโลหิต ดอกมะรุม เป็นยาแก้ไข้หัวลม เป็นยาบำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา เมล็ดสดคั้น จะให้น้ำมัน นำไปปรุงอาหาร หรือทำเครื่องสำอาง ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้บวม แก้ปวดตามข้อ เป็นยาหม่องนวดหัวเข่า ปวดเข่า ปวดข้อ รักษามะเร็งได้

ต้นมะรุมที่นำมาปลูกกันทั่วไป ส่วนใหญ่ก็เสาะหาต้นกล้า หรือเพาะเมล็ดจากต้นที่มีฝักใหญ่ๆ ยาวๆ เอามาปลูก ปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ติด เติบโตเป็นต้นให้ยอดให้ดอก ผล เป็นไม้โตเร็ว ใช้ปลูกเป็นไม้พรางแสงสำหรับต้นพืชอื่น เช่น ผักหวานป่า ได้ดีมาก และเดี๋ยวนี้ยังมีมะรุมพันธุ์เตี้ยมาให้ปลูกกันด้วย คือพันธุ์เกษตร 1 ต้นเตี้ยๆ ง่ายต่อการจะเด็ดยอด ฝักอ่อน มาต้มแกง นำมาจิ้มน้ำพริก สุดอร่อยแบบง่ายสะดวกปาก เป็นยาดีด้วย ส่วนใบมะรุมที่แห้งมีประโยชน์บำรุงดินอย่างดี ใช้เป็นส่วนผสมดินปลูกพืช มีธาตุอาหารมาก โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน มีผู้ประกอบการขายดินถุง ดินปลูก ผลุดขึ้นมากมาย เปลือก ใบ เปลือกฝัก และส่วนอื่นๆ หมักทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นปุ๋ยเป็นยา ใช้ในการเกษตรอินทรีย์ กิจการผลิตภัณฑ์น้ำมะรุมพร้อมดื่ม ชามะรุมก็ไปได้ดี มีผู้รู้แนะนำว่า กินเมล็ดมะรุมแก่ วันละ 1-2 เม็ดก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับดี บำรุงสมอง ปรับธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ของร่างกาย เผาผลาญไขมัน ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอวัยวะภายในของร่างกาย

เสริมสมรรถภาพทางเพศ ตื่นเช้าขับถ่ายได้ดี ราบรื่นสม่ำเสมอ สุขภาพดี มีความสุขสดชื่นแจ่มใส อารมณ์ดี มีหน้าตาก็สดใส อ่อนกว่าวัย เมื่อเราเห็นประโยชน์มากมายอย่างนี้แล้ว น่าจะรีบหามาปลูกกันไว้เลยนะ