รู้จักวัวนมเมืองร้อน “จิโรล้านโด้”

ที่มา…จิโรล้านโด้ เป็นภาษาโปรตุเกส เขียนตามอักษรโรมันว่า Girolando บ้าง, Gyrholando บ้าง คนไทยเราที่รู้จักก็จะออกเสียงตามชื่อที่เรียกในชื่อบนสุดนั่นแหละ ชื่อของวัวพันธุ์นี้เริ่มรู้จักกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 (หรือ ค.ศ. 1940) เมื่อเทียบกับวัวนมพันธุ์อื่นๆ ในโลก ถือกันว่าวัวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุด

ในช่วงปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) เกษตรกรชาวบราซิลได้ริเริ่มเอาวัวพันธุ์กีร์มาผสมกับวัวพันธุ์นมของชาวฮอลันดา (หรือเนเธอร์แลนด์ปัจจุบันนี่แหละ) วัวนมของเนเธอร์แลนด์กำเนิดในประเทศนี้ ปัจจุบันมีชื่อว่า โฮล์สไตน์ ฟรีเชี่ยน หรือที่คนไทยเราเรียกว่าวัว พันธุ์ ขาว-ดำ เพราะทั้งตัวของมันจะมีสีขาวสลับกับสีดำตลอด บางที (บางตัว) ก็มีสีขาวมาก บางตัวก็มีสีดำมาก ซึ่งเป็นธรรมดาของวัวพันธุ์นี้ ชาวบราซิลเขาผลิตเพื่อให้ได้ตามความต้องการของตลาดวัวนมในขณะนั้น เขาทำขึ้นมาแล้วปรากฏว่าผู้คนนิยมกันมาก เพราะว่าเป็นวัวที่ให้นมมากขึ้น ความสมบูรณ์พันธุ์ (fertility) ก็ดีขึ้นมากด้วย พร้อมทั้งลักษณะอื่นๆ ที่ดีก็ตามมาด้วย จนกระทั่งทางฝ่าย “รัฐ” เห็นความสำคัญ จึงจัดการสร้างแผน สร้างวัว จิโรล้านโด้ (Program Girolando) ขึ้นมา จวบมาถึงปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ทางกระทรวงเกษตร ได้ร่วมมือกับภาคสมาคมที่เกี่ยวกับวัวนี้ ช่วยกันเร่งสร้างแผนการผลิตวัวพันธุ์นี้ให้มีระดับสายเลือด ขาวดำ 5/8 และ กีร์ 3/8 คือมีเลือดโฮล์สไตน์ ฟรีเชี่ยน 62.5% และสายเลือดกีร์ 37.5%

ลักษณะและคุณสมบัติ ของวัวจิโรล้านโด้

หลังจากที่ก่อตั้งวัวพันธุ์นี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ทางฝ่ายบราซิลและฝ่ายฮอลันดา ได้ร่วมกันคิดในการสร้างและพัฒนาวัวขึ้นมาเป็นลำดับ ให้วัวพันธุ์นี้ให้อยู่ได้ดีในบราซิลที่มีอากาศทั้งร้อนและทั้งชื้นอยู่ได้ โดยไม่มีปัญหาคือ (สร้างพันธุ์ขึ้นมาให้มีเลือดวัวขาวดำอยู่ 62.5% เลือดวัวกีร์อยู่ 37.5% (5/8 Holstein + 3/8 Gir) เหมาะสมที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของบราซิลได้ขอจดทะเบียนวัวพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)

คนบราซิลเรียกโครงการนี้ว่า “โครงการจิโรล้านโด้” ทั้งนี้ เป็นการเสริมให้พันธุ์จิโรล้านโด้ มีความมั่นคง และได้รับความเลื่อมใสจากผู้คน ให้เป็นวัวพันธุ์ใหม่ที่มีมาตรฐานได้อีกพันธุ์หนึ่ง

ผิวสีของวัวจะมีลักษณะหลากหลายเป็นสีต่างๆ กัน ตั้งแต่ดำสนิททั้งตัว, ขาว-ดำ อย่างไรก็ตาม สีของมันแตกต่างจากพ่อแม่ของมันอย่างมากมาย บางครั้งก็มีสีน้ำตาลเข้ามาแซม

วัวจิโรล้านโด้ จะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุราว 30 เดือน (2 ปีครึ่ง) อายุขัยยืนยาว หลายตัวให้ลูกติดต่อกันไปได้ถึง 15 ปี

พวกวัวตัวเมียอยู่ได้ดีมากแม้อากาศจะร้อนชื้นสีผิวของวัว, เต้านมของมัน ขนาดของหัวนม รวมถึงการกินอาหารทั้งตัวแม่และลูกๆ ก็อยู่ได้ดีหมดในบราซิล

วัวจิโรล้านโด้ จะให้นมสูงสุดเมื่ออายุ 10 ปี โดยให้นมเฉลี่ย 3,600 กิโลกรัม ต่อระยะให้นม (Lactation period)

ขาของพวกมันแข็งแรง (ไม่เคยมีลักษณะโก่งงอ) กีบก็แข็งแรง เดินได้ดีในถิ่นทุรกันดาร ลูกๆ ของมันก็ได้ลักษณะเหล่านี้จากแม่ของมันด้วย

จิโรล้านโด้ ทนทานต่อโรคหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะโรคในเขตร้อน-ชื้น ซึ่งรวมถึงพวกตัวเบียฬ (parasites) ทั้งหลายที่เราๆ รู้จักกัน

ในช่วงที่ทำขึ้นมาเป็นวัวนมนี้ ตัวของมันเองก็อาจใช้เป็นวัวเนื้อได้ด้วย มีการเจริญเกินถึงประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อวัน มีไขมันคลุมร่างค่อนข้างสูง คนนิยมกินเนื้อเพราะมีไขมันกระจายเกือบจะทุกส่วนของร่างกาย

จิโรล้านโด้ ได้รับการกล่าวขวัญว่า มันเชื่องมาก จูงไปไหนมาไหนได้ง่าย ซึ่งตรงข้ามกับตัวผู้จะฉุดจะจูงควรระวังไว้บ้าง

ในบราซิล น้ำนมที่ผลิตได้ ได้จากวัวจิโรล้านโด้ ถึง 80% ของนมทั้งประเทศ

การสร้างวัวพันธุ์นี้ต่อไป ต้องใช้พ่อพันธุ์จิโรล้านโด้ ที่ผ่านการคัดเลือกสัตว์ตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีผู้กล่าวขวัญและนิยมพันธุ์นี้กันมากมายจนถึงปัจจุบัน

แผนภาพแสดงการสร้างวัวนมพันธุ์จิโรล้านโด้ 

 

 ภาพวัวนมพันธุ์จิโรล้านโด้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว

 

พื้นเพและที่มา ของวัวพันธุ์กีร์ (อินเดีย)

วัวพันธุ์กีร์ มีกำเนิดในประเทศอินเดีย มีชื่อเรียกกันอย่างน้อย 3 ชื่อ เขียนเป็นภาษาอังกฤษคล้ายๆ กัน แต่ออกเสียงต่างกันเล็กน้อย คือ Gir บางประเทศออกเสียงเป็น กีร์ บางประเทศออกเสียงเป็น เกอร์ Gyr บางประเทศออกเสียงเป็น เจียร์

เท่าที่ทราบชัดๆ หน่อยคือ อเมริกันออกเสียงเป็นเจียร์ ในอเมริกาวัวอินเดีย-ปากีสถาน พันธุ์อองโกล (Ongole) ในอเมริกา เรียก เนลลอร์ (Nellore-สีเทา) พันธุ์แครงเกรจ (Kankrej) อเมริกันเรียก กุซเซอราท (Guzerat-สีเทา) พันธุ์กฤษณะแวลเล่ย์ อเมริกันก็เรียก Krishana Valley ส่วนพันธุ์กีร์ (Gir, Gyr) อเมริกันเรียกว่า เจียร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีแดง, แดงจุดขาวสลับที่คอและสีข้าง (Speckle) พันธุ์นี้ในปากีสถาน (ใหม่) แทบจะไม่มี ฉะนั้น วัวนมในปากีสถานปัจจุบัน จึงมีแต่พันธุ์เรดซินดิและซาฮิวาล ซึ่งมีอยู่รอบๆ การาจีและไฮเดอร์ราบัด

คนอเมริกันใช้วัวพันธุ์หลักๆ ของอินเดียไปสร้างเป็นวัวเนื้อพันธุ์หลักขึ้นมา มีสมาคมอเมริกัน บราห์มันเป็นต้น เรื่องเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า American Brahman Breeders Association ที่เมือง Seally. Texas ในปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) เป็นต้นมา วัวทั้งสองพันธุ์มีสีเทา พวกหนึ่งเรียกว่า Gray American Brahmans อันได้แก่ อองโกล, แครงเกรจ, กฤษณะแวลเล่ย์ ทั้งหมดเป็นสีเทา ส่วนอีกพันธุ์หนึ่งที่เข้ามาแซมใน 3 พันธุ์ ที่กล่าวมาก็คือ วัวกีร์ ซึ่งมีสีแดง (ตัวเอกในเรื่องที่เขียนนี้) พวกที่เป็นสีแดงก็เรียกว่า Red American Brahmans บราห์มันจึง 2 สี คือ เทาและแดงทั้ง 2 สาย ถือว่ามีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่ทว่าประชากรของวัวสีเทามีมากว่า ผู้คนทั่วไปจึงนิยมพวกสีเทากันมาก คนเล่นสีก็ว่ากันไปตามใจชอบ ประโยชน์ของเศรษฐกิจให้ผลพอๆ กัน

คราวนี้จะไปต่อเพิ่มเติมเรื่องวัวกีร์ ซึ่งไม่เคยได้ยินการพัฒนาวัวกีร์ในอินเดียนัก “แต่เขามีมาก” ในอินเดียเขาถือว่าวัวกีร์เป็นวัวนมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอินเดีย มีถิ่นอยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศา 5 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 70 องศา และ 72 องศาตะวันออก บนเทือกเขากีร์ มีวัวกีร์อยู่ในแถบนี้ทั้งหมดประมาณ 2 ล้าน 5 แสนตัว หรือประชากรประมาณ 37% ของประชากรวัวในแถบนั้นทั้งหมด เขาว่าวัวของเขามีสัดส่วนโครงร่างที่สวยงาม เต้านมก็ใหญ่ และสวยงาม ยึดติดกับลำตัวได้พอเหมาะพอเจาะ

เมื่ออายุได้ 1 ปี ตัวผู้จะมีน้ำหนักราว 138 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 136 กิโลกรัม

– อายุที่เริ่มเป็นสัดครั้งแรก 1,149 วัน ราว 38 เดือน (เริ่มให้ผลผลิตช้าเกินไป)

– อายุที่คลอดลูกตัวแรก 1,534 วัน ราว 51 เดือน (เริ่มให้ผลผลิตช้าเกินไป)

– ระยะที่แห้งนม 4 เดือน

– ช่วงของการตกลูก ราว 14 เดือน (จากลูกตัวแรกถึงลูกตัวถัดไป)

– ปริมาณน้ำนม 2,063 ลิตร ในเวลา 300 วัน เฉลี่ยทั่วๆ ไปจะได้ประมาณ 1,930 ลิตร

– ข้อที่น่าสังเกตอย่างสำคัญประการหนึ่งก็คือ วัวพันธุ์กีร์ในประเทศอินเดีย สถิติการให้นมครั้งแรกในชีวิต คือ 51-52 เดือน คงยังไม่ได้คัดเลือกพวกที่ Early calving
วัวจิโรล้านโด้ ก็ให้ลูกตัวแรกเร็วกว่า เพราะมีเลือดวัวยุโรปผสมอยู่ด้วย

วัวอเมริกันบราห์มัน ให้ลูกตัวแรก 33-36 เดือน ในขณะที่วัวยุโรปให้ลูกตัวแรก 23-30 เดือน อายุขัยของวัวยุโรป อยู่ระหว่าง 12-13 ปี ส่วนวัวตระกูล ซีบู อายุขัยยาวนานถึง 20-22 ปี (รวมทั้งวัวบราห์มันด้วย)

อีกประการหนึ่งที่น่าสังเกต มีบางคนไม่เข้าใจ ไปคัดเลือกวัวบราห์มันอายุ 13-14 ปี ออกจากฝูง โดยบอกว่า “มันแก่” เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ข้อมูลการรีดนมนี้ไม่ได้ระบุว่า ก่อนรีดนม ต้องใช้ลูกมากระตุ้นดูดนมแม่ก่อนหรือไม่ โดยปกติวัวพวก Bos indicus ถ้าเอามารีดนม จะต้องเอาลูกมากระตุ้นดูดนมแม่สักครู่ก่อน แม่จึงจะปล่อยนม (เอาลูกผูกไว้ข้างๆ ขาหน้าของแม่) แต่ถ้าแม่วัว indicus เหล่านี้ ถูกใช้พ่อวัวยุโรปมาผสมได้ลูกครึ่งออกมา คือ 50% taurus + 50% indicus ที่เป็นตัวเมียเอามารีดนมจะไม่ต้องใช้ลูกมากระตุ้นที่แม่เลย “นี่คือข้อดี”

ข้อมูลการจัดการ การเลี้ยงดูและการคัดเลือกวัวนมตระกูล indicus ท่านจะหาดูรายละเอียดได้จากเรื่อง “เมื่อเขาให้ผมไปคัดเลือกวัวเรดซินดิ, ซาฮิวาล ที่ประเทศปากีสถาน เมื่อ ปี พ.ศ. 2511 จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้

ความเห็นส่งท้ายของการสร้างวัวนมในเมืองไทย

ผู้เขียนขอย้ำว่า “การเลือกสีขาว” โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวนมควรคิดตลอดไปว่า “จงทำสัตว์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่อย่าทำสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับสัตว์”

การทำสัตว์ให้เข้าสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่ผู้เขียนเห็นดีมากที่สุดก็คือ การสร้างวัวพันธุ์จิโรล้านโด้ ของบราซิล ระดับสายเลือด 62.5% เป็นเลือดวัวยุโรป และ 37.5% เป็นวัวเขตร้อนหรือร้อนชื้น ไม่ว่าจะเป็นวัวเนื้อหรือวัวนม ระดับสายเลือดขนาดนี้เหมาะที่สุดคือ

– อยู่รอด

– ให้ผลผลิตในระดับปานกลางที่ค่อนข้างสูง (Optimum production)

– ค่ายา ค่าอาหาร จะต่ำลงไปมาก

– ค่าอาหาร พืชอาหารสัตว์ที่มีอยู่มาก สัตว์ก็มีกินมากด้วย “ถูก”

– ค่าแรงงานก็จะน้อยลงไป

– ความเครียดจะไม่มี

เดี๋ยวนี้มีแต่คนคุยว่า ผมทำเลือดวัวนม ขาว-ดำ ของผมให้สูงได้ถึง 96% แล้ว ผมไม่ดีใจด้วยเลย เพราะโรค แมลง มันโจมตีได้ง่ายๆ สิ้นเปลืองทั้งเงินและจิตใจ ขอแสดงความคิดเห็นเท่านี้ และคิดเสมอว่าเราอาจเห็นมีคนสั่งวัวจิโรล้านโด้ เข้ามาเลี้ยงในเมืองไทยดูบ้าง ซึ่งผมมั่นใจว่าไปได้สวย ไปด้วยลูกผสม

ขอเพิ่มเติมอีกว่า มีวัวอีกพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นวัวนม ฝรั่งเรียกว่า American Brown Swiss เราเคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกัน เมื่อปี 2491 ชุดหนึ่งเอาพ่อบราวน์สวิส ผสมกับแม่วัวพื้นเมือง, แม่วัวบังกาลา, แม่วัวเรดซินดิ ฯลฯ ปรากฏว่าลูกผสมเหล่านี้ล้วนให้น้ำนมดีเกือบทั้งหมด จึงมั่นใจในสิ่งที่เราคนไทย จะทำให้ดีได้ไม่แพ้บราซิล เรื่องนี้เคยคุยกันมาตั้งแต่เริ่มโครงการวัวนมไทย-เดนมาร์ค

“ลองคิดทบทวนงานพัฒนาพันธุ์วัวนม 60 กว่าปีที่ผ่านมา เราได้อะไรบ้าง”