ใช้ ‘ไมโครเวฟ’ อย่างปลอดภัย

ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทำงานยุคปัจจุบันที่เร่งรีบไปหมดซะทุกเรื่อง ‘ไมโครเวฟ’  จึงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ไมโครเวฟอยู่

เทคโนโลยีไมโครเวฟได้พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสื่อสารในระบบเรดาห์ โดยจอห์น แรนดอล และเอช เอ บู๊ต ส่วนแนวคิดในการนำไมโครเวฟมาใช้ในการให้ความร้อนแก่อาหารนั้นถูกค้นพบโดย เพอร์ซี สเปนเซอร์ ซึ่งทำงานที่บริษัท เรย์ธีออน (Raytheon) ในขณะที่เขากำลังสร้างแมกนีตรอนเพื่อใช้ในระบบเรดาห์น้น เขาสังเกตเห็นว่าแท่งช็อกโกแลตในกระเป๋าเสื้อละลาย โดยทั้งนี้อาหารชนิดแรกที่ถูกอบโดยเตาอบไมโครเวฟคือ ข้าวโพดคั่ว และในปี 1947 เรย์ธีออนก็ผลิตเตาอบไมโครเวฟเครื่องแรกเพื่อการพาณิชย์ ชื่อ Radarange

ในการทำความร้อนแก่อาหารด้วยพลังงานไมโครเวฟ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานที่ประกอบด้วย แหล่งกำเนิดคลื่นไมโครเวฟ (Magnetron), (ช่วงความถี่ระหว่าง 0.3-300 GHz หรือในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 30 cm-0.3 mm) และใช้ท่อนำคลื่น (Wave guide) ส่งคลื่นไปยังอาหาร (Load) ที่อยู่ภายในตู้ (Applicator) ภายในอาหาร ประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำ น้ำมัน อิออน ต่างๆ ที่มีขั้วทางไฟฟ้าจะมีการสั่นและเคลื่อนไหวสลับไปมาหลายล้านครั้ง (ตามความถี่ไมโครเวฟที่ใช้) ทำให้เกิดการขัดสีกันจนก่อให้เกิดความร้อนขึ้นมาในอาหารที่นำมาผ่านกระบวนการ และไม่มีคลื่นไมโครเวฟตกค้างเมื่อสิ้นสุดกระบวนการ

ปัจจุบัน มีการใช้ไมโครเวฟที่มีความถี่สูงกับวัสดุต่างๆ ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การอบแห้งอาหาร สิ่งทอ ไม้และกระดาษ อุตสาหกรรมพลาสติก การทำสเตอริไลซ์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ไมโครเวฟก็เป็นอุปกรณ์ซึ่งมีใช้แทบทุกครัวเรือน ด้วยคุณสมบัติที่ใช้เพื่ออุ่นและปรุงอาหาร หรือละลายน้ำแข็งออกจากบรรจุภัณฑ์ อยางไรก็ตาม ข้อควรระวังในการใช้ไมโครเวฟ มีดังนี้ หากบรรจุภัณฑ์นั้นสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ (Microwaveable package) ให้เจาะรู หรือเผยอฝาเล็กน้อย เพื่อป้องกันการปะทุของอาหาร เนื่องจากความดันที่เพิ่มขึ้นภายใน

ส่วนภาชนะที่สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้ ควรเป็นภาชนะที่มีคุณสมบัติไม่ดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ เช่น แก้ว เซรามิก กระดาษ หรือพลาสติกชนิดที่ระบุว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้ ซึ่งจะปล่อยให้คลื่นผ่านเลยไป ไม่ดูดกลืนคลื่นไว้ ภาชนะที่มีรูปกลม มน ปากกว้าง จะดีกว่าภาชะที่มี่เหลี่ยมมุมซึ่งจะรับคลื่นไมโครเวฟได้น้อย อีกทั้งภาชนะต้องไม่ตกแต่งขอบหรือลดลายด้วยสีทองหรือเงิน หรือเคลือบด้วยสีฉูดฉาด ซึ่งจะมีโลหะหนักละลายออกมาปนกับอาหารภาชนะที่ทำด้วยโลหะไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะจะทำให้เกิดคลื่นสะท้อน อุปกรณ์เสื่อมสภาพได้ง่าย ส่วนกระดาษฟอยล์ โลหะบางๆ รวมถึงโลหะปลายแหลม จะทำให้ร้อนอย่างรวดเร็วในเตาไมโครเวฟ จนอาจทำให้เกิดประกายไฟได้

แล้วอาหารที่อุ่นหรือปรุงจากเตาไมโครเวฟ ปลอดภัยหรือไม่ คุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างไร…อาหารที่อยู่ในเตาไมโครเวฟจะมีความร้อนสูงขึ้นเพราะคลื่นที่ดูดซับโดยอาหารจะถูกแปลงเป็นพลังงานความร้อนภายในอาหารโดยตรง และไม่มีคลื่นตกค้างหรือปนเปื้อนในอาหารในระหว่างกระบวนการเลย เมื่อรับประทานอาหารที่ทำให้สุกด้วยเตาไมโครเวฟจึงไม่เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนคุณค่าทางโภชาการนั้นในทุกวิธีของการปรุงอาหารล้วนสามารถทำลายวิตามินและสารอาหารต่างๆ ได้ทั้งนั้น ขึ้นกับระยะเวลาในการปรุงอาหาร ปริมาณของเหลวที่หายไป และอุณหภูมิในการปรุงอาหาร ซึ่งหากกล่าวถึงการปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟแล้ว พบว่าใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าการปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ดังนั้น วิตามินที่ละลายน้ำได้ เช่น กรดโฟลิก วิตามินบี และวิตามินซี ซึ่งไวต่อการถูกทำลายด้วยความร้อนต จึงมีผลกระทบน้อย

ดังนั้น หากผู้ใช้งานเลือกซื้อเตาไมโครเวฟที่ได้มาตรฐาน มีการรับรองคุณภาพ อ่านคู่มือการใช้งานและใช้งานเตาไมโครเวฟหรือพลังงานจากไมโครเวฟอย่างถูกวิธีแล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะรวดเร็ว สะดวก ประหยัด เหมาะสมกับชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบ อีกทั้งอันตรายจากเตาไมโครเวฟก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)

www.cpfworldwide.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2560