คอลัมน์ สดจากเยาวชน : กล้าน้อยดอยเต่า ตาแหลวพิทักษ์นา

“วสวัณณ์ รองเดช”

ช่วงที่ท้องนาเขียว ข้าวกล้าต้นอ่อนพลิ้ว ลู่ลมเป็นพรมผืนใหญ่ ดูสดชื่นสบายตา

หากโฟกัสมาที่มุมทั้งสี่ของผืนนา จะเห็นไม้ไผ่สานปักไว้ตามมุมนา ถามชาวบ้านดูเขาบอกว่านั่นคือ ตาแหลว

ตอนที่เริ่มเพาะกล้าก็เห็นตาแหลวปัก อยู่ในนา ตอนที่กล้าเขียวตาแหลวก็ยังอยู่ ตอนที่ดำนาก็ปักตาแหลวเอาไว้ ตาแหลวมีความหมายอย่างไรต่อชาวนาและผืนนา

ได้ยินเสียง พ่อน้อยสมบูรณ์ แก้วยะ ชาวบ้านแปลงสอง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เล่าให้ลูกหลานฟังว่า “คนเมืองเรียกสิ่งนี้ว่าตาแหลว เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจหรือป้องกันอันตรายจากสิ่งต่างๆ ที่จะมารบกวนข้าวกล้าที่เราปลูกไว้ และเป็นเครื่องหมายห้ามใคร ไม่ว่าคนหรือสัตว์ลงไปในแปลงนาที่เราเพาะกล้าข้าวไว้ ตาแหลวเป็นสัญลักษณ์ห้ามทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งสิ่งที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ คนโบราณสมัยปู่ย่าตาทวดเล่าสืบต่อกันมาว่ามีผีขนข้าวขนแกลบของเราเข้าไปซ่อนไว้ในถ้ำ ผีอะไรเรา ก็ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่เราก็สานตาแหลว ปักป้องกันเอาไว้ทุกครั้งเมื่อถึงฤดูกาลทำนา”

จากคำบอกเล่าอาจกล่าวได้ว่า คนเมือง ใช้ตาแหลวเป็นเครื่องหมายแสดงอาณาเขตหวงห้ามหรือมีเจ้าของ ช่วยให้พื้นที่นั้นๆ คลาดแคล้วจากภัยอันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ

เด็กๆ สมัยนี้ไม่ค่อยได้ลงนากันบ่อยๆ อาจไม่ทันสังเกตว่าในนามีตาแหลวปักอยู่ คนที่เคยเห็นก็อาจไม่เคยรู้ความหมายของเส้นตอกที่สานไขว้เป็นรูปหกเหลี่ยม

น้องจุ๊บแจง ด.ญ.ณีรนุช อินต๊ะวงศ์ บอกว่า “ที่บ้านปลูกข้าวเหนียว บางทีก็ปลูกข้าวเจ้า แต่ไม่เคยรู้เรื่องตาแหลวว่าจำเป็นอย่างไร แต่หนูรู้ว่าถ้ามีนกมากินข้าวต้องทำหุ่นไล่กา”

ด.ญ.สลิลทิพย์ อินต๊ะก๋อง หรือ น้องยิ้ม พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง เธอบอกว่า “บ้าน หนูก็ทำนา เคยเห็นคนเฒ่าสานตาแหลวดูเหมือนไม่น่ายาก สานไว้สำหรับเอาไว้ปักในนา”

สมัยก่อนทำนายากลำบากกว่านี้มาก ไม่มีเครื่องทุ่นแรง มีแต่แรงคนและแรงวัวควาย ต้องอดทนและขยันถึงจะมีข้าวกิน คนเฒ่าคนแก่จะบอกว่า “มีข้าวไว้ในยุ้ง ยามมีศึกศัตรูเราก็ไม่อดไม่อยาก ไฟฟ้าไม่มีเราก็ไม่เดือดร้อน ทุกวันนี้ทำนาสบายขึ้น แต่คนกลับทำนาน้อยลง” พ่อน้อยสมบูรณ์กล่าว

พ่อน้อยสมบูรณ์เป็นวิทยากรชาวนาที่ศูนย์อยู่บ้านมีงานทำ ศูนย์เรียนรู้นี้เกิดขึ้นจากความคิดของ คุณแบงค์ ศักดิ์ศรัญ ดวงอินทร์ ว่า อยู่บ้านต้องมีความสุข ได้ทำงาน มีเงินใช้ ได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวในพื้นที่ของตนเอง ที่นี่เป็นเหมือนศูนย์เรียนรู้ชีวิต การพึ่งพาตนเอง ลดการใช้ทรัพยากรจากภายนอก

“ศูนย์อยู่บ้าน” เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่ก็ดึงดูดเด็กๆ ในหมู่บ้านให้มาเที่ยวเล่นเป็นประจำ เพราะเป็นบ้านกลางทุ่งนากว้าง บ้านไร้ผนัง เปิดโล่ง ลมพัดผ่าน มีที่กว้างๆ ให้วิ่งเล่นทำกิจกรรม เป็นที่ถูกใจเด็กๆ การลงนาหว่านข้าวเป็นกิจกรรมตามฤดูกาลที่กลายเป็นเรื่องแสนพิเศษสำหรับเด็กไทยยุคไทย 4.0 ไปเสียแล้ว โคลนนุ่มนิ่มเท้า เมล็ดข้าวที่ได้หว่าน ได้เพาะ และเรื่องราวของตาแหลวที่ได้รับฟัง ช่วยให้เด็กๆ รู้จักบ้านของตัวเองทั้งในอดีตที่เคยเป็นมา และอนาคตที่จะเป็นไป

ยังมีเรื่องราวพิเศษอีกหลายอย่างที่ศูนย์เรียนรู้อยู่บ้าน หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ชวนให้เด็กๆ มาเรียนรู้อยู่เสมอ ทุ่งแสงตะวันจะชวน ไปชม เสาร์ที่ 16 กันยายนนี้ เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 และช่อง 33 ในตอน เรียนรู้อยู่บ้าน และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทางยูทูบ Payai TV

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์