ฟักข้าว ผลสีสวยงาม อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

ชื่อทั่วไป : Gac fruit/Baby jack fruit/ขี้พร้าไฟ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.)

Family : CUCURBITACEAE

ฟักข้าว เป็นไม้เถาเลื้อยเก่าแก่ที่อายุยืนหลายปีของทวีปเอเชียตอนใต้ พบกระจายพันธุ์อยู่ในจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บังกลาเทศ ไปจนถึงอินเดียทางใต้

ลักษณะลำต้น เป็นเถาเลื้อยมีมือจับ (Tendrill) ชอบเลื้อยขึ้นพันต้นไม้ใหญ่เพื่อขึ้นไปหาแสงแดด สมัยก่อนตามสวนฝั่งธนฯ มีปลูกกันมากแทบทุกสวน ปัจจุบันชักหาดูยากซะแล้ว ฟักข้าวนั้นเขาจะแยกต้นเพศผู้กับเพศเมีย ไม่ค่อยจะอยู่รวมกันในต้นเดียว ดังนั้น จึงควรปลูกไว้ทีละ 4-5 ต้น จึงจะได้เห็นผลชัวร์ๆ

ต้นเพศผู้ ใบจะหยักลึก เว้ามากกว่าใบของต้นเพศเมีย ส่วนต้นเพศเมีย ใบจะป้อมๆ ไม่เว้าลึก ไม่หยักมากเหมือนตัวผู้ ผลดิบสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จัดใกล้สุกจะเปลี่ยนเป็นสีแสดส้มอมแดงสวยงามสะดุดตา เมล็ดดิบมีพิษเบื่อเมา แต่เยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มของฟักข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก มีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแครอท 10 เท่า มีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศถึง 12 เท่า ซึ่งนับว่าสูงมากๆ

เนื้อฟักข้าวยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัวที่เป็นประโยชน์ช่วยการชะลอวัย ลดรอยเหี่ยวย่น ช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต บรรเทาอาการผิวหยาบแห้งกร้าน ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันเส้นเลือดฝอยในสมองแตก ใบปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษ เมล็ดบำรุงปอด ตับ ไต ลดอาการท่อน้ำดีอุดตัน วัณโรค

ชาวฟิลิปปินส์นิยมใช้รากฟักข้าวมาตำ บดแช่น้ำพอกศีรษะหมักผมเพื่อกำจัดเหา รังแค คนจีนใช้เมล็ดบดผสมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำส้มสายชู ทาแก้แผลอักเสบ ลดการบวม กลาก เกลื้อน คนเวียดนามนิยมใช้เนื้อผลสุกหุงผสมใส่ลงไปในข้าวเพื่อเพิ่มวิตามินเอ ให้เด็กนักเรียนประถมกิน ได้ผลดีมาก

ส่วนประเทศสารขัณฑ์มัวแต่แจกแท็บเล็ตเลยไม่ค่อยได้สนใจทรัพยากรท้องถิ่นอะไรที่มีประโยชน์กะเขาบ้างเลย หรือจะมีบ้างก็แค่นิดๆ หน่อยๆ ไม่พอกระสายยา

คนญี่ปุ่น พบว่า โปรตีนจากฟักข้าวสามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งในลำไส้หนูทดลอง ออกฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมลูกหมากและกระเพาะอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดลของเราก็ค้นพบว่า โปรตีนจากสารสกัดเมล็ดฟักข้าวนั้นช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV

ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ร่วมกันกำลังปรับปรุงพันธุ์ ฟักข้าวไทยๆ เราอยู่เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานและให้ได้สายพันธุ์มีปริมาณเบต้าแคโรทีนกับไลโคปีนสูงๆ ส่วนทางคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับมหาวิทยาลัยพายัพ ก็ร่วมกันศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามในระดับนาโน ซึ่งได้รับรางวัล IFCC HOST society Award 2011 (งานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011) มาแล้ว นอกจากนั้น ผลอ่อนกับยอดฟักข้าวก็เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกได้รสชาติขมนิดๆ คล้ายมะระ สีสันจากเนื้อหรือเยื่อหุ้มเมล็ดยังสามารถพลิกแพลงเอาไปทำสีใส่ขนม หรือใส่ในหม้อหุงข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสุกที่สีสวยงามน่ารับประทานอีกต่างหาก

ปัจจุบัน ก็เห็นมีกลุ่มแม่บ้านทำน้ำฟักข้าวบรรจุขวด ฟักข้าวสกัดแคปซูลออกมาวางจำหน่ายกันหลายแห่ง สร้างรายได้ให้กลุ่ม ชุมชนประจำหมู่บ้านกันได้อย่างดี ของดีมีประโยชน์มากแบบนี้ จะไม่ลองปลูกไว้ดูเล่นกันสักหน่อยหรือ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560