มวลพฤกษานานาพรรณ ประดับพระเมรุมาศ

ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นดั่ง “กษัตริย์เกษตร” ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่ได้ทรงงานมาตลอด 70 ปี   ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีมากกว่า 4,000 โครงการ ที่มุ่งแก้ปัญหาทำกินของเกษตรกรมาโดยตลอด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมศิลปากรได้นำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านการจัดภูมิทัศน์นอกรั้วราชวัติ ทางด้านทิศเหนือในงานพระเมรุมาศ เพื่อให้ประชาชนไทยได้เรียนรู้ผลงานพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน และร่วมสานต่อพระราชปณิธาน

แปลงปลูกพืชในโครงการพระราชดำริ นอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ

ข้าว

แปลงคันนาเลข ๙ สะท้อนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  “ข้าว”  นับเป็นโครงการพระราชดำริลำดับแรก ๆ ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ทรงจัดทำแปลงนาข้าวทดลองส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา และสร้างโรงสีทดลองขนาดเล็ก สำหรับเป็นต้นแบบเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มข้าว เพื่อให้ชาวนาได้เรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง

ปี พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมเป็นงานเดียวกับ พิธีพืชมงคล เพื่อรักษาโบราณราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญแก่เกษตรกรและชาวนาสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันทรงพระราชทานดำริเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น โครงการแก้มลิง ฝายน้ำล้น ฯลฯ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ยางนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นดั่ง “King of the Forest” ทรงส่งเสริมเรื่องการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรม รวมทั้งผืนป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น  บริเวณนอกรั้วราชวัติ ทางด้านทิศเหนือ มีแปลงปลูก “ต้นยางนา” ซึ่งเป็นพันธุ์พืชที่มากคุณประโยชน์ ที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยางนาเป็นไม้อเนกประสงค์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นแหล่งอาหารป่า แหล่งนันทนาการ น้ำมันยางนาใช้เป็นสมุนไพร และเนื้อไม้เหมาะสำหรับใช้สอยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงห่วงในสถานการณ์ของไม้ยางนา ตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ว่า  “ ไม้ยางนาในประเทศไทยได้ถูกตัดไปใช้สอยและทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่าหากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณยางนาก็จะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรจะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนาเพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติ ” พระองค์จึงได้ทดลองปลูกยางนา ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน   เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2504  โดยมีระยะปลูก 2.50 x 2.50 เมตร เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน นับเป็นสวนป่ายางนาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะวนศาสตร์และโครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตรดา ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนาในบริเวณสวนจิตรลดา

ต้นยางนา ปลูกร่วมกับหญ้าแฝก

ปัจจุบันพบว่า ต้นยางนา มีคุณค่าดั่งทองจริงๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่า ใบ ดอก ลูกยางนา น้ำมัน ใบและกิ่งแห้ง ยางนา อายุ 30 ปี จะให้กิ่งแห้ง ใบแห้ง น้ำหนักเฉลี่ย 1 ตัน ต่อปี สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มภายในครัวเรือน หรือแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งทดแทนการใช้ถ่านหิน หรือใช้ผลิตไฟฟ้าในชุมชน ยางนา 30 ปี สามารถเก็บเมล็ดไปเพาะเป็นต้นกล้าได้ปีละ 200 กล้า ผลิตต้นกล้ายางนาออกขายได้ในราคา ต้นละ 10 บาท

ต้นยางนา สามารถแปรรูปเป็นน้ำมันดีเซลชีวภาพ ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ โดยผสมกับน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช ในอัตรา 1 : 1 สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไปได้ นอกจากนี้ สารสกัดจากใบและดอกของต้นยางนาสามารถนำมาผลิตเป็นเวชสำอางเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ดีกว่าสารอัลฟ่าอาร์บูตินและกรดโคจิก ได้ถึง 12 เท่า สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ รักษา สิว ฝ้า กระ และจุดด่างดำได้ดีแล้ว สารสำคัญที่พบในน้ำมันยางนาคือ เทอร์พีนอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา จึงนำไปใช้ในการบำบัด รักษาสิว กลาก เกลื้อน แผลอักเสบได้อีกด้วย

หญ้าแฝก

ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ประกอบการใช้ที่ดินเพาะปลูกกันมานานโดยมิได้มีการดูแลบำรุงรักษา จึงเกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ส่งเสริมปลูก “หญ้าแฝก” เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ชะลอการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นครั้งแรกกับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

“หญ้าแฝก” เป็นพืชที่ระบบรากลักษณะพิเศษโดยรากจะสานพันกันและกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดเป็นลักษณะร่างแหหรือผ้าม่าน หยั่งลึกแนวดิ่งลงในดิน ไม่แผ่ขนาน มีรากแกน รากแขนง โดยเฉพาะมีรากฝอยแนวดิ่งจำนวนมาก เป็นแผงเหมือนกำแพง ลำต้นเป็นกอแน่น ช่วยดักเศษใบไม้และกรองตะกอนดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รากของหญ้าแฝกทำหน้าที่อุ้มน้ำไว้ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดิน ช่วยกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสารเคมีที่เป็นพิษไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำ ลำคลอง หญ้าแฝก นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งเป็นสินค้าหัตถกรรม อาหารสัตว์ ทำหลังคาบ้าน วัสดุเพาะเห็ดฟาง ปุ๋ยหมัก และสิ่งทอ ในบางประเทศยังใช้หญ้าแฝกเป็นรั้วป้องกันไฟ ป้องกันสัตว์บางชนิด และเป็นไม้ประดับ หญ้าแฝกจึงกลายเป็น “หญ้ามหัศจรรย์” ที่มีคุณค่ามหาศาลต่อผืนแผ่นดินไทย

ต้นหญ้าแฝก

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 องค์กร IECA หรือ International Erosion Control Association ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสากล ดำเนินการการสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และป้องกันการพังทลายของดิน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการอนุรักษ์ดินและส่งเสริมสภาพแวดล้อมโดยการใช้หญ้าแฝก

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ผลิตและขยายพันธุ์หญ้าแฝกมาแล้วกว่า 10 สายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ต่างๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทแรกคือ หญ้าแฝกดอน ได้แก่ กลุ่มพันธุ์เลย พันธุ์นครสวรรค์ พันธุ์กำแพงเพชร 1 พันธุ์ร้อยเอ็ด พันธุ์ราชบุรี พันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ ประเภทที่สอง เป็นหญ้าแฝกหอม หรือแฝกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ศรีลังกา พันธุ์กำแพงเพชร 2 พันธุ์สุราษฎร์ธานี พันธุ์สงขลา 3 เป็นต้น

พรรณไม้น้ำในสระอโนดาต

กรมศิลปากรได้กำหนดให้มีการจัดแสดงไม้ดัดกระบวนไทย ในบริเวณสระอโนดาตแล้ว แต่ยังเหลือพื้นที่ว่างอยู่ส่วนหนึ่ง ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จึงมอบให้ คุณไพฑูรย์ น้อยคำมูล เจ้าของ บริษัท คอร์เดีย จำกัด ดูแลจัดหาพรรณไม้น้ำนานาชนิดที่มีโทนสีเขียวและสีเหลืองมาปลูกประดับตกแต่งบริเวณสระอโนดาต ได้แก่

ไม้ดัดกระบวนไทย และพรรณไม้น้ำที่ปลูกรอบสระอโนดาต

“ต้นว่านน้ำ (Sweet flag)” เป็นพืชที่ชอบขึ้นบริเวณโคลนตม ตามริมบ่อ หนอง คลอง บึง ในระดับน้ำตื้น มีเหง้าเหมือนข่าแต่เล็กกว่า มีกลิ่นหอม และมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพร และใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร

“ลานไพลิน” หรือ “ผักแบ้ว” นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ที่มีลักษณะเด่นคือ มีใบหนาสีเขียว ดอกสวยงามเพลินตาและส่งกลิ่นหอมตลอดวันด้วย เติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเหนียวแฉะความชุ่มชื้น แสงแดดจัด

“ดอกบัวไทย” เป็นพืชไม้น้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทย ความเชื่อทางศาสนาและเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ดอกบัวสื่อถึงความบริสุทธิ์ ความเบิกบาน คนไทยนิยมนำดอกบัวมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ในครั้งนี้ได้ใช้บัวไทย เช่น บัวสัตตบงกช จาก “พิพิธภัณฑ์บัว” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาประดับตกแต่งในสระอโนดาต แล้วยังนำประดับตกแต่งภูมิทัศน์พระเมรุมาศอยู่หลายจุด เช่น สระน้ำด้านหน้าพลับพลายก  สระน้ำ 4 จุด รอบลานพระเมรุมาศ

 

ดอกบัวพันธุ์ไทยที่ปลูกรอบพระเมรุมาศ
สระบัวหน้าพลับพลายก

ดอกไอริส ไม้ประดับสีเหลือง

ด้านหลังอาคารพระที่นั่งทรงธรรม ฝั่งถนนพระมหาธาตุ กรมศิลปากร ได้นำดอกไอริสประดับใส่กระถางกระต่ายตรงกับปีเถาะ เป็นเครื่องหมายปีนักษัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาประดับตกแต่งบริเวณทางเข้าอาคารพระที่นั่งทรงธรรม

“ไอริส” จัดอยู่ในกลุ่มไม้ริมน้ำ อายุหลายปี โดยทั่วไปเป็นพืชที่มีหัวใต้ดิน ใบรูปแถบยาว ค่อนข้างบาง ดอกเกิดที่ปลายยอด สีเหลืองสด กลีบเลี้ยงและกลีบบริเวณโคนกลีบถึงกลางกลีบ มีจุดประสีน้ำตาลเข้ม เมื่อบานปลายกลีบมักบิดโค้ง มีดอกตลอดทั้งปี แต่ให้ดอกดกในช่วงฤดูหนาว ขยายพันธุ์โดยแตกต้นอ่อนที่ช่อดอกได้ หรือแยกกอ นิยมปลูกเป็นไม้กระถางได้ดี ถ้าดินแห้งและแดดจัด ปลายใบจะไหม้

ต้นไอริสดอกสีเหลืองที่ปลูกด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม

สานต่อที่พ่อทำ ด้วยหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในอดีต เกษตรกรไทยจำนวนมากคุ้นเคยกับการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ที่เน้นปลูกพืชในเนื้อที่มากๆ เพื่อให้ได้เงินจำนวนมาก ซึ่งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมักประสบปัญหาขาดทุนเพราะแบกรับความเสี่ยงจากต้นทุนผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น บางครั้งเจอปัญหาดินเสื่อมโทรมและภัยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย ได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาการทำเกษตรอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” และ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ช่วยแนะนำให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งขุดสระน้ำสำหรับใช้บริโภคและทำการเกษตร แบ่งที่ดินใช้ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา

แปลงปลูกพืชในโครงการพระราชดำริ นอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ

หลักการทำเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้หลายทาง สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถปลดหนี้ มีเงินออม และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลโซโท ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมในประเทศ ได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่นำหลักแนวคิดดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติแล้วได้ผลดีจริง

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เคยกล่าวถึงผลสำเร็จอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงว่า องค์การสหประชาชาติเห็นด้วยกับแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะใช้แล้วได้ผลดีจริง จึงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ “มาตรวัดคุณภาพชีวิต” ประเมินความเจริญของแต่ละประเทศ แทนอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งกล่าวถึงแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้ บริษัท คอร์เดีย จำกัด จัดทำแปลงปลูกผักสวนครัว ความยาว 40 เมตร นอกรั้วราชวัติ ทางด้านทิศเหนือ ติดกับคันนาเลข ๙ เพื่อปลูกพืชผักสวนครัวประเภท มะระขี้นก ถั่วพู ถั่วฝักยาว พริก ผักขจร ฝักแม้ว รวมทั้งพืชผักบางส่วนจากมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างของการปลูกพืชผักแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนไทยได้ศึกษาเรียนรู้และนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ดำเนินชีวิตตามหลัก   ” ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในอนาคต

แปลงปลูกหญ้าแฝกและพืชผักสวนครัว