44 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับการพัฒนาเพื่อเกษตรกร

ตลอดระยะเวลา 44 ปี ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่ประชาชนทั่วไป ส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ในการรวมกลุ่ม เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรของสมาชิก ที่มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นมาด้วยความสมัครใจภายใต้การปกครองตนเองตามระบบประชาธิปไตย ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นในชีวิต รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมร่วมกัน โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบต่อตนเอง ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เพื่อให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ

ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญต่อระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะนโยบายหลักของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นให้พัฒนาสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพและชีวิต การเข้าถึงแหล่งทุน รายได้สูงขึ้น ส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัวสมาชิกสหกรณ์

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2559 กรมได้แนะนำ ส่งเสริม สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 13,522 แห่ง สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ 5,488,202 ราย ปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น 186,482 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 2.159 ล้านล้านบาท ได้มุ่งทิศทางทั้งในด้านการพัฒนาความเข้มแข็ง เพิ่มความเข้มข้นด้านการกำกับ ตรวจสอบ และส่งเสริม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สามารถยกระดับชั้นสหกรณ์ในภาพรวม ได้ 829 สหกรณ์ พัฒนาจากชั้น 2 เป็น ชั้น 1 จำนวน 594 สหกรณ์ และพัฒนาจาก ชั้น 3 ขึ้นเป็นชั้น 2 จำนวน 235 สหกรณ์ ส่งผลให้มีการบริหารจัดการและควบคุมภายในที่ดีขึ้น มีเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งได้แก้ไขข้อบกพร่องในด้านต่างๆ มากถึง 1,604 สหกรณ์ สามารถแก้ได้แล้ว 962 สหกรณ์

ในส่วนของงานขับเคลื่อนตามนโยบายนั้น ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ได้ส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ของรัฐที่จัดสรรให้มีการตั้งสหกรณ์แล้วทั้ง 7 พื้นที่ เกษตรกรสมัครเป็นสมาชิก 1,068 ราย

การขับเคลื่อนสหกรณ์เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรในเขตชายแดน ดำเนินการใน 5 สหกรณ์ มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนมา 5,090 ตัน มูลค่า 39.228 ล้านบาท นำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศกัมพูชา 3,200 ตัน มูลค่า 22.56 ล้านบาท เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์

ปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร รัฐบาลได้สนับสนุนโดยใช้แหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. กองทุนพัฒนาสหกรณ์ และกองทุนต่างๆ รวม 20,068 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการรวบรวมผลผลิตและรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ

การช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ 18 แปลง ใน 8 จังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเป็นเจ้าภาพด้านการตลาดทั้ง 268 แปลง เชื่อมโยงตลาดสินค้าแล้ว 237 แปลง

ด้านสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุน ระยะแรกได้ให้การสนับสนุนแก่ 20 สหกรณ์ จัดหารถเกี่ยวนวดข้าว และเครื่องสีข้าวโพด ให้บริการสมาชิกได้ 4,800 ราย พื้นที่การเกษตร 72,000 ไร่ ลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวข้าว 150 บาท ต่อไร่ ลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวข้าวโพด 200 บาท ต่อตัน สมาชิก 800 ราย ที่ร่วมโครงการลดต้นทุนได้ถึง 1,047,300 บาท

การแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบจากภัยแล้ง สนับสนุนเงินกองทุนพัฒนา 264 ล้านบาท ใน 19 จังหวัด ลดภาระดอกเบี้ยสมาชิกที่ประสบภัย 6.605 ล้านบาท และให้เงินกู้อีก 118 สหกรณ์ 51.38 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกกู้รวม 2,620 ราย เพื่อขุดสระน้ำ 952 ราย เจาะบ่อบาดาล 1,174 ราย และพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาอีก 494 ราย พร้อมเดินหน้าขอใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 300 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนสร้างระบบน้ำในไร่นา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ได้ถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ มีผู้ได้รับความรู้ 221,300 ราย และอบรมการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กอีก 1,000 คน มีเกษตรกรสนใจในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม 741 กลุ่ม

4

สร้างความร่วมมือระหว่างหอการค้าและสหกรณ์ ภายใต้โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร พัฒนาเพิ่มช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้า พัฒนาแบรนด์ และประสิทธิภาพการผลิต เกิดความร่วมมือแล้วใน 60 จังหวัด

มีการจัดตั้งธนาคารโคนมทดแทน 3 แห่ง จำนวนสมาชิกเข้าร่วม 299 ราย ให้บริการรับฝากโคนม 611 ตัว และธนาคารข้าวใน 10 สหกรณ์ สมาชิกเข้าร่วม 697 ราย มีสมาชิกมาใช้บริการแล้ว 60 ราย มูลค่าปัจจัยการผลิตที่ให้ยืม 166,000 บาท นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแผนที่ Agri-map ในพื้นที่ นิคมสหกรณ์ทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี นิคมสหกรณ์พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ นิคมสหกรณ์สตึก จังหวัดบุรีรัมย์ สมาชิก 140 ราย พื้นที่รวม 1,040 ไร่ เพื่อเปลี่ยนมาเลี้ยงโคขุน ไก่พื้นเมือง และปลูกพืชอาหารสัตว์ซึ่งใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกพืชเดิม

ในการก้าวสู่ปีที่ 45 กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะดำเนินงานตามแนวคิด “Back to Members” โดยดำเนินการภายใต้กรอบ 3 ด้าน คือ การพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และโครงการอื่นๆ สามารถบริการแก่สมาชิกได้มากยิ่งขึ้น มุ่งพัฒนาบุคลากรให้เป็น SMART Officer พัฒนาสหกรณ์ให้เป็น SMART COOP ด้วยการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ SMART Business สู่การพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการสหกรณ์ทั้งระบบ SMART Network เพื่อพัฒนาสมาชิกสหกรณ์เข้มแข็ง SMART Members

เป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาให้สหกรณ์สามารถดูแลและบริการให้สมาชิกมีความกินดี อยู่ดี มีความสุข ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น สินค้าสหกรณ์มีมาตรฐาน “เมื่อสมาชิกเข้มแข็ง สหกรณ์จะเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”