เครื่องสูบน้ำบาดาลแบบชักดึง คุณภาพเจ๋ง ฝีมือคนไทย กำลังสูง เหมาะสมกับการดึงน้ำจากบ่อที่มีความลึกมากๆ

การประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2560 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการประดิษฐ์คิดค้นนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นอย่างจริงจัง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และผลักดันผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยให้สามารถนำไปพัฒนาหรือต่อยอดให้สามารถเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการยกระดับผลงานและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย

1.ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (คนที่ 5 จากซ้าย) เป็นประธานเปิดงาน
1. ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (คนที่ 5 จากซ้าย) เป็นประธานเปิดงาน

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2560 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 ว่า วช. ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ ในการพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจและเชิดชูเกียรติให้แก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์

ในงานการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2560 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีผลงานที่เข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 113 ผลงาน ใน 7 สาขา โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล สำนักงาน วช. จะจัดให้มีพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 ร่วมกับพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

จากผลงานต่างๆ ที่ส่งเข้าประกวด “เครื่องสูบน้ำบาดาลแบบชักดึงอย่างมีประสิทธิภาพ” เป็นหนึ่งในตัวอย่างผลงานของนักประดิษฐ์ไทยที่เป็นเกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงที่ได้สร้างสรรค์และนำผลงานเข้าร่วมการประกวดในกลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา

5
กับผลงานเครื่องสูบน้ำบาดาลแบบชักดึงอย่างมีประสิทธิภาพ

นายศิชล ถนอมสวย อยู่บ้านเลขที่ 114/340 หมู่บ้านนีโอซิตี้ ถนนนาวงประชาพัฒนา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โทร. (089) 034-7977 นักประดิษฐ์เจ้าของผลงานเครื่องสูบน้ำบาดาลแบบชักดึงอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวถึงสิ่งที่เป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า สืบเนื่องจากมีความต้องการเครื่องสูบน้ำที่สามารถใช้ได้กับมอเตอร์พลังงานต่ำ และที่สำคัญต้องประหยัดพลังงาน เพื่อนำมาใช้งานในสวนมะม่วงบนพื้นที่ 25 ไร่ ของครอบครัว ซึ่งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

“แต่เครื่องสูบน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาดนั้น ไม่สามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผม” นายศิชลกล่าว

ด้วยมูลเหตุดังกล่าว จึงทำให้เป็นที่มาของการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ โดยเครื่องสูบน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ เป็นการใช้แนวคิดในการสร้างเครื่องสูบน้ำแบบชักดึง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องสูบน้ำแบบใช้แรงเหวี่ยง เพราะมีกำลังในการดึงสูง ซึ่งเหมาะสมกับการดึงน้ำที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง เช่น จากบ่อน้ำที่มีความลึกมากๆ

ลักษณะลายเส้นส่วนต่างๆ ของเครื่องสูบน้ำ
ลักษณะลายเส้นส่วนต่างๆ ของเครื่องสูบน้ำ

หลักการคือ การเปลี่ยนจานหมุนจากการเคลื่อนที่เป็นวงกลมมาเป็นการเคลื่อนที่ในแนวเส้นตรง ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน และสูญเสียพลังงานน้อยกว่า

ทั้งนี้ นายศิชล กล่าวว่า เครื่องสูบน้ำแบบชักดึงจะใช้พลังงานต่ำจากมอเตอร์ขนาด 1/4 แรงม้า โดยให้ความดันที่ 25 บาร์ และสามารถดึงน้ำได้ถึงปริมาณ 1,380 ลิตร ต่อชั่วโมง

“ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการใช้กลไกการทำงานแบบดึงขึ้นช้า แต่ลงเร็ว กล่าวคือ ขณะดึงน้ำขึ้นจะใช้การเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพื่อประหยัดพลังงาน แต่ตอนลงจะเคลื่อนที่ลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้นโดยการปรับขนาดมอเตอร์ที่อยู่ด้านบน”

“เครื่องนี้เป็นเครื่องแรกที่ผมประดิษฐ์ขึ้นมา และตอนนี้ได้ใช้งานในสวน โดยสูบน้ำจากบ่อบาดาลที่มีความลึกประมาณ 25 เมตร ขึ้นมาได้อย่างสบาย โดยผมใช้ไฟที่หม้อไฟ ประมาณ 25 แอมป์ สำหรับต้นทุนในการสร้างเครื่องสูบน้ำดังกล่าวนี้ ใช้เงินเบื้องต้นไป ประมาณ 7,000 บาท” นายศิชล กล่าวทิ้งท้าย