อธิบดีประมงโต้ปมเรือสองสัญชาติ ปัญหาหลัก “IUU”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประมงได้ชี้เเจงต่อประเด็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 เป็นกฎหมายสากลที่เกี่ยวข้องกับทะเลไว้หมด มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 320 ข้อ กับอีก 9 ผนวก โดยครอบคลุมเรื่อง ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เรือ การเดินเรือ และช่องแคบ รัฐหมู่เกาะ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีป ทะเลหลวง การบริหารและอนุรักษ์สิ่งที่มีชีวิตในทะเลหลวง การแสวงประโยชน์ในพื้นที่ก้นทะเลระหว่างประเทศ การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในทะเล และการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับทะเล เป็นต้น และการเข้าเป็นภาคีของรัฐจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติทั้งหมดโดยไม่มีข้อสงวน ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการก่อนหน้าที่จะมีการให้สัตยาบันในหลายส่วน เช่น การประกาศทะเลอาณาเขตออกเป็น 12 ไมล์ทะเล การประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (ปี 2524) และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 โดยรัฐบาลต้องปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามอนุสัญญาดังกล่าวภายใต้อนุสัญญาฯ ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับสัญชาติของเรือที่รัฐต้องดำเนินการ ดังนี้

“รัฐจะกำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติของตนแก่เรือ ในการจดทะเบียนเรือในอาณาเขตของตน และในการใช้สิทธิชักธงของตน เรือย่อมมีสัญชาติของรัฐเจ้าของธง ซึ่งเรือนั้นมีสิทธิชักธงจะต้องมีความเกี่ยวโยงอย่างแท้จริงระหว่างรัฐกับเรือนั้น”

และภายใต้ UNCLOS 1982 ยังได้กำหนดสถานะของเรือ “เดินเรือโดยชักธงของรัฐเดียวเท่านั้น และให้เรืออยู่ภายใต้บังคับในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือในอนุสัญญานี้ เรือมิอาจเปลี่ยนธงของตนในระหว่างการเดินทางหรือในขณะที่แวะยังเมืองท่า” และที่สำคัญคือ “เรือซึ่งออกทะเลโดยชักธงของรัฐสองรัฐหรือกว่านั้นตามสะดวก มิอาจอ้างสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดต่อรัฐอื่นใดได้ และอาจถูกเสมือนเป็นเรือไร้สัญชาติ” ซึ่งการบทบัญญัติดังกล่าวจะครอบคลุมเรือทุกประเภท โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของ “รัฐเจ้าของธง”