RSPO ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพผลผลิตต่อไร่สูง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยในบรรดาผู้นำระดับโลกด้านการผลิตน้ำมันปาล์มนั้น ประเทศไทยมีตำแหน่งที่ไม่เหมือนใคร สิ่งที่ทำให้มีความแตกต่างนั้น เกิดจากการที่เกษตรกรรายย่อย มีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งเกษตรกรรายย่อยนับเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ มีผู้ปลูกปาล์มรายย่อยคิดเป็นร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในโลก ที่มีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองจาก RSPO 4 กลุ่ม ในปี 2555 เมื่อมาถึงวันนี้ ในปี 2566 ทั้ง 4 กลุ่ม ได้เติบโตจนมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านการรับรองกว่า 80 กลุ่ม ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง และ ชลบุรี

รศ.ดร สุธัญญา ทองรักษ์ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรกรรายไปสู่มาตรฐาน RSPO ของประเทศไทย มีสมาชิกมากกว่า 400,000 รายทั่วประเทศ เมื่อเข้ามาสู่การรับรองมาตรฐานของ RSPO เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ปาล์มน้ำมันของประเทศไทยจะต้องเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือเผชิญกับราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันก็มีการพัฒนาอยู่เสมอจนได้ผลผลิตที่ดี

“จากการประเมินผลงานวิจัยออกมาค่อนข้างน่าสนใจมาก ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามารวมกลุ่มของ RSPO ออกมาค่อนข้างดี เนื่องจากปัญหาของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากในประเทศไทย มีพื้นที่ต่ำกว่า 50 ไร่ ส่วนใหญ่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ คือเริ่มตั้งแต่ขาดความรู้ ขาดความเชื่อมโยงทางการตลาด ต่างคนต่างทำ เพราะฉะนั้นก็จะลงมือทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อเข้าสู่การรวมกลุ่มและทำมาตรฐาน RSPO เกษตรกรได้ประโยชน์มาก ปัญหาเรื่องความรู้ก็ได้รับการแก้ไข ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวโยงกับอาชีพมากขึ้น เห็นแนวทางปรับปรุงสวนของตนเอง ปัญหาหลายเรื่องก็ถูกแก้ด้วยกระบวนการกลุ่ม ทำให้เกษตรกรนำสิ่งที่กลุ่มหรือทีมวิทยากรแนะนำไปปฏิบัติ” รศ.ดร สุธัญญา กล่าว

ด้าน คุณเกื้อกูล เสี่ยงแทน ผู้จัดการกลุ่มยูนิวานิช-ปลายพระยา กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าร่วมกลุ่มเป็น 1 ใน 4 กลุ่มแรก เมื่อ 11 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เมื่อปี 2555 จากเดิมที่มีการปลูกปาล์มแบบผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการปลูกปาล์มมากนัก ทำให้ผลผลิตต่อไร่ไม่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่เมื่อมีพี่เลี้ยงอย่าง RSPO เข้ามาดูแลในเรื่องของการปลูกที่มีระบบและเป็นแนวทางมากขึ้น จึงทำให้เห็นว่าการทำสวนปาล์มที่ดีควรทำอย่างไร และมองเห็นถึงความยั่งยืนของการสร้างรายได้จากอาชีพนี้มากขึ้น

“เมื่อมีการรวมกลุ่ม RSPO กลุ่มก็นำความรู้ที่ได้มาเสริมความสามารถมากขึ้น เพราะเราได้ทั้งทักษะวิชาการต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่เข้ามาอบรม จากนั้นทางกลุ่มจึงได้ต่อยอดการผลิตได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มยกระดับมากขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งว่าจะทำสวนปาล์มโดยที่มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจมากขึ้น จะขอเชิญชวนสมาชิกที่กำลังเข้าสู่มาตรฐาน RSPO เข้ามารวมกลุ่มกัน เพื่อที่เราจะสร้างมาตรฐานใหม่ เราไม่ต้องทำสวนแบบตัวใครตัวมัน แต่เราสามารถทำสวนปาล์มที่มีมาตรฐานเดียวกันไปสู่ความั่งยืน” คุณเกื้อกูล กล่าว

จากความสำเร็จของ RSPO จึงถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัดเหมือนอย่างเช่น  คุณโสฬส เดชมณี ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากเกษตรกรผู้ที่ปลูกปาล์มน้ำมันแบบไม่มีหลักการมากนัก ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของการผลิตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้นอกจากจะไม่ได้คุณภาพแล้ว ในเรื่องของปริมาณต่อไร่ก็ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

หลังจากที่มีเพื่อนเกษตรกรชักชวนให้เป็นสมาชิกกลุ่ม RSPO ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มยั่งยืนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้หลังจากที่เป็นสมาชิกและผ่านการเข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง คุณโสฬสได้รับองค์ความรู้ในเรื่องของการปลูกปาล์มในทุกด้าน จนมีหลักการผลิตที่ถูกต้องมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนนั้นเป็นยุคแรก ๆ ที่ผมเข้าร่วมของ RSPO ผมได้รับการอบรมต่อเนื่องและบ่อยมาก เพราะ RSPO ให้ความรู้แก่เกษตรกรในทุก ๆ ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนด RSPO ซึ่งในเนื้อหาเหล่านั้น มีเรื่องการจัดการสวนปาล์ม เมื่อเข้าไปอบรม ผมพยายามศึกษาและจับหลักว่าหลักของการผลิตปาล์มให้ได้ผลผลิตดี คืออะไร การที่เราจะนำมาใช้และปรับให้เข้ากับพื้นที่ของเรา มันเป็นเรื่องของหน้างานต่าง ๆ ที่จะต้องปรับ จึงทำให้การผลิตปาล์มของผมมีคุณภาพและปริมาณต่อไร่สูงตามไปด้วย” คุณโสฬส กล่าว

จากความมุ่งมั่นและความตั้งใจของ RSPO ที่ต้องการให้การผลิตปาล์มน้ำมันมีความยั่งยืน และผลผลิตได้คุณภาพและปริมาณต่อไร่สูงนี้เอง จึงทำให้ปัจจุบันการพัฒนาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมกลุ่ม RSPO ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เกษตรกรที่เข้าร่วมกับ RSPO ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่มีจำนวนถึง 84 กลุ่ม โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับมาตรฐาน RSPO จำนวน 21 กลุ่ม 6,814 คน มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรอง 265,377.56 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.36 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย