สกสว. จับมือภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนระบบ ววน.สนับสนุนการเกษตรไทย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเสวนา เส้นทางสู่ตำแหน่งใหม่ของระบบเกษตรไทยเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูสำคัญจากการโครงการวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูป และปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย (RETA) ต่อผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯลฯ ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาโครงการวิจัยต่อไป โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นคือ เรื่องบทบาทของระบบ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ในภาพใหญ่เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเกษตรไทย

โอกาสนี้ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ หนึ่งในนักวิจัยชุดโครงการดังกล่าว ได้ให้แนวทางและข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลว่า ควรมีการสนับสนุนประเด็น1.การใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่ม โดยในที่นี้แบ่งกลุ่มเกษตรเป็น 3 กลุ่มคือ        

1) เกษตรกรกลุ่มหัวก้าวหน้า ซึ่งพร้อมรับทคโนโลยีได้ ควรต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับเกษตรยุคใหม่ เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีIoT (Internet of Things) หรือ “อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง” เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ทั้งในเรื่องของเครื่องจักรกลเกษตร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ การพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะ ไปจนถึงการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น

2) เกษตรกรกลุ่มที่ยังรีรอและไม่กล้าลงทุน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความรู้ปานกลาง และพร้อมรับเทคโนโลยีบางอย่างได้ อย่างมีข้อจำกัด เกษตรกรกลุ่มนี้มักพึ่งพิงตลาดภายในประเทศ หรือขายส่งเพื่อตลาดส่งออก โดยผ่านพ่อค้าคนกลางรับซื้อทั่วไป ซึ่งเป้าหมายของการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้คือการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตเป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย

เทคโนโลยีที่ต้องการสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้คือ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ขนาดเล็กถึงปานกลาง ที่ต้นทุนไม่สูงเกินไป และไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโน โลยีขั้นสูง โดยหน่วยงานที่จะสามารถสร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) แลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหลัก

3)เกษตรกรระดับฐานรากที่ยังพึ่งพิงมาตรการของภาครัฐและเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ เกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใดๆ และมักใช้กระบวนการตามอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จ ผลผลิตจากเกษตรกรกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มพืชไร่ที่มีปัญหาเรื่องราคา เช่นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น

ดังนั้นเทคโนโลยีที่จะถ่ายทอดไปถึงเกษตรกรกลุ่มนี้ต้องเป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาไม่แพง ดังนั้นหน่วยงานที่เป็นผู้พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก

ประเด็นที่. 2. สนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่ตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกรเฉพาะที่ โดยใช้กลไกของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก

ประเด็นที่. 3. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็ง

ประเด็นที่ 4. ควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก เพื่อทดแทนการนำเข้า และลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักรกลที่เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรระดับกลาง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในเชิงของ การสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลือน

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) คือ ควรกำหนดสัดส่วนการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิจัยประยุกต์ และการวิจัยเชิงทดลองให้มากขึ้น และลดการสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน. ประกอบด้วย             

1) สนับสนุนภาคเอกชนลงทุนหรือร่วมลงทุนวิจัย

2) การเตรียมเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อพร้อมรับการผลิตแบบทันสมัย

3) กำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับยุคใหม่ที่ชัดเจน

4) การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในประเทศเช่น แนวทางการจัดทำผลงานเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของนักวิจัย

5) การวิจัยเพื่อสร้างข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และ

6) ลงทุนการวิจัยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของ ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาโดยรวม (GERD) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)  โดยผ่านกลไกของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)