ตาเสือ  ผู้นำ “ชงปีขาล” ห้าวหาญอย่างเสือ…ใจเชื่อไว้ลาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aphanamixis   polystachya(Wall.) R.parker

ชื่อวงศ์ MELIACEAE

ชื่ออื่นๆ โกล ตาเสือ (ภาคกลาง) เย็นดง (กำแพงเพชร) มะหังก่าน มะอ้า (ภาคเหนือ) เซ่ เชือย (แม่ฮ่องสอน) ขมิ้นดง (ลำปาง) เลาหาง (เชียงใหม่) ตาปู่ (ปราจีนบุรี) ยมหางก่าน (บุรีรัมย์) แดงน้ำ (ภาคใต้) ตุ้มดง (กระบี่)

ข้าได้ชื่อว่า เสือ และเสืออย่างข้าก็ “เก๋า” พอที่มีคนเรียกว่า ตา จึงกลายเป็นตาเสือ แต่ถ้าเอ่ยคำว่า “เสือ” คำเดียวดูเหมือนว่าจะขยายความได้หลายร้อยเรื่อง โดยเฉพาะปีนี้ที่ชื่อว่า “ปีขาล” กล่าวกันว่าเป็นปีชง 2565 ซึ่งที่มาของคำว่า “ขาล” ก็เป็นตำนานปีที่ 3 ของรอบปีนักษัตร

 

สัญลักษณ์เป็นเสือ พุทธศักราชที่ตรงกับปีขาลที่ผ่านมา และในอนาคต เช่น ปี พ.ศ. 2505, 2517, 2529, 2541, 2553 และปีนี้ 2565 ขาลปีต่อไป คือ พ.ศ. 2577 และ พ.ศ. 2589 เนื่องจากวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดรอบปีนักษัตรไม่แน่นอน เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล โดยนับต่างกัน ระหว่างแบบจีนและแบบไทย อ้อ…! ที่พูดนี่ ข้ารู้จาก “วิกิพีเดีย” หรอกนะ

ที่ปีนี้เป็นปีเสือนั้น ก็พูดกันอีกว่า ชาวปีเสือเกิดมาเป็นผู้นำ มีจิตใจห้าวหาญ

จนได้รับความเคารพ เชื่อถือ แม้ศัตรูของตัวเอง สำหรับข้าเองก็ไม่รู้ว่าถ้านับถอยหลังไปจะตรงกับรอบปีนักษัตรรอบปีไหน รู้เพียงตั้งแต่จำความได้ คำว่า “เสือ” นั้นยิ่งใหญ่และน่ากลัวทุกรูปแบบ เช่น เสือคำราม เสือคืนถิ่น แม้แต่ปั๊มน้ำมัน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังโฆษณาว่า “จับเสือใส่ถังพลังสูง” ถ้าปัจจุบันคงจะรู้จัก ชุด “พญาเสือ” กรมอุทยานฯ และชุด “พยัคฆ์ไพร” กรมป่าไม้ แต่ถ้าจะให้เป็นเสือเก๋าระดับเทพฯ สองร้อยกว่าปีแล้ว ต้องน้อมคารวะ “พระยาเสือ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงมี “นักรบ” คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ “วังหน้า” เพราะทรงมีบทบาทสำคัญต่อบ้านเมือง ตั้งแต่แผ่นดินกรุงธนบุรีเชื่อมต่อกรุงรัตนโกสินทร์ อยากรู้รายละเอียด “เสือ” พระองค์นี้ ก็ค้นคว้าในแมกกาซีนศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2551 ได้ จะรู้ได้ว่าเสือไว้ลาย หรือเสือไม่ทิ้งลาย

คงจะเคยได้ยินคำว่า “ป่ารกเพราะเสือยัง” แน่นอนเสือปกป้องป่า แต่ในป่ายังมี “ตาเสือ” ที่เป็นต้นไม้พิเศษ พิษร้ายรอบตัว ระดับเอเชียตะวันออกถึงจีนตอนใต้ เพราะรู้จักกันทั้ง อินเดีย ศรีลังกา สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย  มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไปถึงนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน ส่วนในประเทศไทย มีนิเวศวิทยาในป่าเบญจพรรณ และจากการสำรวจพบที่ป่าสงวนฯ หลายแห่ง เช่น ป่านาซาว ฝั่งซ้าย ถนนแพร่-น่าน เขาสมิง ป่าคลองใหญ่-ป่าเขาไฟไหม้ ลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าน้ำเปื่อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ป่าแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่ธิ แม่ตีบ แม่สาร รวมถึงป่าสงวนแห่งชาติคลองกาโหรดและป่าคลองหิน

ซึ่งการกระจายพันธุ์ทั่วๆ ป่าเบญจพรรณนั้น “ตาเสือ” กระจายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และไม่อยู่ในพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ส่วนการพบต้นตาเสือตามป่าชายเลนนั้น ก็เพราะตรงน้ำกร่อยริมชายฝั่งแม่น้ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลง ของระดับน้ำทะเล จึงมักจะพบต้นตาเสือในแนวต่อเขตนี้ กระจายพันธุ์อยู่เช่นกัน รวมทั้งในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงด้วย

ตาเสือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้กว่า 20 เมตร เปลือกต้นหนา แตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก โดยมีเนื้อไม้ที่แข็งแกร่ง เหนียว ทนทาน เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับใบย่อย 3-7 คู่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อ แยกแขนงยาว ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอก เป็นแบบแยกเพศ ทั้งช่อดอกเพศเมียและเพศผู้ และช่อดอกที่มีทั้งสองเพศ มีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนทรงกลม กลีบเลี้ยงดอกเป็น 3 แฉก สีเขียวมีขน ส่วนกลีบดอก 3 กลีบ มีสีเหลือง

ผลตาเสือ มีลักษณะกลม เมื่อผลแก่จะแห้งและแตกเป็นพู 2-3 ซีก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลดำ และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

ประโยชน์และสรรพคุณของตาเสือ กล่าวกันว่า “มากประโยชน์แต่โทษมหันต์” เปรียบเป็นดั่ง “เสือหิวเหยื่อ” เพราะเป็นพืชที่มีพิษทุกส่วนรอบต้น แต่ก็เป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์สุดยอดเช่นกัน ดังนั้น ถ้าใครอยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ หมายถึงอยากได้ของดีก็ต้องเสี่ยงบ้าง คือสรรพคุณตั้งแต่เนื้อไม้ที่มีรสฝาด แต่เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย เปลือกต้นรสฝาดเมาต้มน้ำดื่ม ปิดธาตุ กล่อมและแก้เสมหะ รวมทั้งเป็นยาสมานแผล แก้บิดมูกเลือด รัดมดลูก ช่วยขับระดู แก้บวมตามข้อต่างๆ ใบรสฝาดเมาแก้บวม แก่นใช้เป็นยาสมานท้องไส้

ผล มีรสฝาดเมาแก้บวมตามข้อ จะเห็นว่าทุกส่วนของต้นตาเสือเป็นสมุนไพรคุณภาพ ถ้ารู้จักนำไปปรุงแปรรูปใช้ จะได้ยาสมุนไพรไทยดีเยี่ยม แต่มีคำเตือนให้ระวัง “เสือต้นนี้” ให้ดี เพราะทุกส่วนของต้นเป็นพิษ มีพิษสูงมากหากกินมากจะมีอันตรายถึงชีวิต แม้แต่เห็ดที่ขึ้นจากขอนไม้ตาเสือนี้ นำมาเป็นอาหารกินก็มีอาการเมาและอาเจียนรุนแรงแก่ชีวิตได้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ตาเสือยอมให้กินโดยดี คือ “นกเงือก” ไม่ยอมแพ้ตาเสือ เพราะผลสุกแก่ของต้นตาเสือเป็นอาหารโปรดของนกเงือก โดยเมล็ดมีเยื่ออ่อนนุ่ม กินแล้วนกเงือก “ไม่เมา”

ต้นตาเสือที่ว่าเนื้อไม้มีพิษนี้ พร้อมไปด้วยความแกร่งเหนียวทนทาน เหมาะอย่างยิ่งที่นำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ หรือจะปลูกเป็นพืชประดับก็ได้

ปีเสือนี้จึงเป็นที่น่าภูมิใจยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามร่วมมือการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ชุดปลูกผักผ่าน “ซองฉลาดจันกะผัก” (จักรพันธ์) ก็ยังมีชื่อเสือมาเกี่ยวด้วยตามปีเสือปีนี้ คือ “จันกะผักส่งรักปีเสือ 2565” เพื่อมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา…เสือไม่สิ้นลายจริงจริ๊ง!!!