เทศบาลตำบลสันทรายงาม จ.เชียงราย ต้นแบบเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของชุมชน

เทศบาลตำบลสันทรายงาม เปิดโลกเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานยกเป็นต้นแบบ พลังงานของชุมชน ในโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะล้นในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มีแผนเปิดโรงงานขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ 25 ปี จ่ายการลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แจงผลสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน เห็นด้วยกับโครงการนี้ด้วยคะแนน 85.4% ประเมินผลประโยชน์ได้รับมีมาก ต่อวิถีชีวิตทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ทำไมต้องมีโรงงานเผาขยะแปรรูปเป็นพลังไฟฟ้า

นายประสิทธิ์ พิลาวุฒิ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันทรายงาม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาขยะมีการขยายตัวต่อเนื่อง เทศบาลสันทรายงามจึงมีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน โครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ดำเนินการเป็นศูนย์บริหารจัดการขยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีกำจัดแบบเผาตรงที่ถูกลักษณะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับปริมาณขยะสูงสุด 500-700 ตันต่อวัน ไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง แก้ปัญหาขยะมูลฝอยในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์ และจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 8 เมกกะวัตต์

โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ลงทุนให้ 100% มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เป็นโรงงานเผาแบบปิดไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์กรส่วนท้องถิ่นใช้ขยะในชุมชนเป็นเชื้อเพลิงและนำขยะเก่าฝังกลบ ขยะขององค์การบริหารต่างๆ เสริมได้ พื้นที่ของโรงงาน 30 ไร่ เป็นบ่อน้ำ 25 ไร่ พื้นที่สีเขียว 10 ไร่ และที่พักคนงานถนนอีก 15 ไร่

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีโรงงานเผาขยะ 

โครงการนี้ติดตั้งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะชุมชน เพิ่มการจ้างงานในชุมชนสร้างรายได้ รองรับการเจริญเติบเติบโตของจังหวัดเชียงรายในอนาคต โครงการนี้มีการคัดเลือกและมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการในรูปแบบ BOO (Build, Own and Operate) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง 100% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ สัญญาเอกชนดำเนินการ 25 ปี เริ่มโครงการตั้งแต่มกราคม 2565-มกราคม 2590

ข้อดีของโครงการที่ประชาชนได้รับ

นายประสิทธิ กล่าวว่า ข้อดีของโครงการ คือ

  1. ใช้ระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยไม่ต้องลงทุน เป็นระยะเวลา 25 ปี

2. ชุมชนสันทรายงามเป็นพื้นที่สะอาด ไม่มีขยะตกค้าง ไม่มีการเผาขยะ ไม่มีกองขยะ ไม่มีการแอบทิ้งขยะ

3. ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของจังหวัดเชียงราย

4. เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ เกิดการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่

5. เทศบาลเก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีที่ดิน ภาษี VAT ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้พัฒนาในตำบลสันทรายงาม

6. มีกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ในตำบลสันทรายงาม ชุมชนสามารถนำเงินกองทุนมาใช้พัฒนาพื้นที่ได้

7. ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร มีหน่วยงานต่างๆ มาศึกษาเรียนรู้ ดูงาน เยี่ยมชม สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลสันทรายงาม

8. สร้างโอกาส สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาให้กับคนสันทรายงามเพิ่มมากขึ้น ในการเรียนรู้ มีสถานที่ฝึกงาน ระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในการจัดการของเสีย ไม่ให้เสียของ

9. ขี้เถ้าหนักของโรงไฟฟ้าขยะ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์ การทำอิฐบล็อกและใช้ทำถนนได้

โรงงานเผาขยะกับการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กรณีผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะเกรงว่าโรงงานเผาขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนนัั้น

“เราได้วางมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคนในพื้นที่และประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด มีการรายงานผลการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมระหว่างการก่อสร้างตามที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชุมชนได้รับทราบ” นายประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีโรงงานเผาขยะมีความทันสมัยควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเผาขยะเป็นระบบปิดป้องกันกลิ่น ระบบเผาสองห้อง ลดการเกิดมลพิษอากาศ นำความร้อนจากการเผาขยะมาผลิตไอน้ำ นำไอน้ำร้อนมาหมุนกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า มีระบบติดตามตรวจสอบมลพิษอากาศอย่างต่อเนื่อง บ่อพักขยะอยู่ในอาคารปิดและมีระบบดูดอากาศเสียเข้าห้องเผาไหม้เพื่อทำลายความเป็นพิษในอากาศ สำหรับการขนถ่ายขยะไปโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้า รถขนถ่ายขยะปิดคลุมผ้ามิดชิด มีระบบกักเก็บน้ำขยะป้องกันการตกเรี่ยราด รถขนขยะมีการชั่งน้ำหนักก่อนเข้าโรงงาน และฉีดล้างรถก่อนออกจากโรงงาน

ชาวบ้านกว่า 80% เห็นด้วยกับการกำจัดขยะ มีพลังงานไฟฟ้าสู่ชุมชน

การดำเนินโครงการในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 9 (1) การสำรวจความคิดเห็นโดย (ก) การสัมภาษณ์รายบุคคล และ (ง) การสนทนากลุ่มย่อย

โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านสันทรายมูล บ้านใหม่สันทราย หมู่ที่ 7 บ้านขวา หมู่ที่ 2 บ้านสันทรายงาม หมู่ที่ 2 บ้านสันทรายทอง หมู่ที่ 6 บ้านหนองบัว หมู่ที่ 5 บ้านหนองสามัคคี หมู่ที่ 4

จากการสำรวจรับฟังความคิดเห็น ประชาชนเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะมีประโยชน์ต่อชุมชนและยินยอมให้ดำเนินการก่อสร้างโรงเผาขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยคะแนน 85.4% ขั้นตอนต่อไป คือการสรุปผลความคิดเห็นของประชาชน และจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

กรณีมีผู้คัดค้านต่อต้านโครงการเพราะห่วงกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ทางคณะกรรมการโครงการวางแผนเชิญแกนนำกลุ่มผู้ต่อต้านมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะร่วมกันในเร็วๆ นี้