“บิ๊กป้อม”กำชับหน้าฝนปีนี้นิคมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบต้องรอด สั่งการทุกหน่วยงานเร่งจัดทำแผนเร่งด่วนและเตรียมพร้อมรับมือก่อนฝนลง

“บิ๊กป้อม” จี้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแผนระยะเร่งด่วนสกัดน้ำท่วมซ้ำนิคมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ ขีดเส้นแล้วเสร็จภายในเมษายนนี้ พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานขับเคลื่อนแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู แบบยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ประชุมร่วมกับ คณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ ครั้งที่ 1/2565 ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ​ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน และ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและตัวแทนองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมด้วย จากนั้นนายสมเกียรติและคณะ ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางแผนการระบายน้ำ ณ สถานีสูบระบายน้ำฝน ซอย 9A ซึ่งหนึ่งในจุดรับน้ำในพื้นที่นิคม ที่จะระบายลงระบบคลองภายนอก และระบายออกสู่ทะเลทางคลองชายทะเลต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้สั่งการ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานต่างๆ เร่งรัดทำแผนเร่งด่วนตามบัญชาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่รอบนอก และผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ ขึ้นมา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนแผนงานทั้งระยะเร่งด่วน และระยะต่างๆ ให้เกิดเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และความชัดเจน รวมทั้งให้สอดรับกับนโยบายมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ ของรัฐบาล ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับจังหวัด/ท้องถิ่น ได้มีการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เร็วยิ่งขึ้น และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ

อาทิ  การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง และกำจัดผักตบชวา เป็นต้น ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ จึงได้เร่งรัดติดตามใน 3 เรื่องคือ 1. แผนการดำเนินการระบายน้ำในบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู 2. แผนงานการขุดลอก การกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวาง เสริมแนวคันที่ลุ่มต่ำ ในบริเวณ คลองลำสลัด คลองหัวลำภู คลองหกส่วน และคลองธรรมชาติอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และ 3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่คลองชายทะเล พร้อมกำชับให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ตามข้อสั่งการของรองนายกฯ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

“ท่าน พลเอก ประวิตร มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง จึงมักมีปัญหาเพื่อฝนตกหนักเกิดการระบายน้ำไม่ทัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยๆ ส่งผลกระทบต่อบุคลากร แรงงาน เครื่องจักรเครื่องมือ และ ยานพาหนะ ซึ่งปัจจุบัน มีแรงงานจำนวนมากทำงานใน 370 โรงงาน จึงสั่งการให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เร่งลงพื้นที่ เพื่อติดตามการจัดแผนเผชิญเหตุและแผนเตรียมความพร้อมเฉพาะหน้าให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อรับมือช่วงฤดูฝนปี 65 ที่จะมาถึง ซึ่งคาดว่าฝนจะมาเร็วกว่าปีปกติ นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้เร่งรัดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้แล้วเสร็จโดยเร็วอีกด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบนิคม และปกป้องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จากผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของประเทศ” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องมีแผนดำเนินงานโครงการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็ว รวมทั้งเร่งรัดแผนงานโครงการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการโดยเร็ว ทั้งการตัดยอดน้ำจากพื้นตอนบนเบนไปทิศทางอื่น ไม่ให้ปริมาณน้ำมากระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจด้านล่าง การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิและอ่าวไทย โดยเฉพาะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ การแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การวางระบบท่อลอดใต้ถนน (pipe jacking) เขื่อนป้องกันตลิ่ง การขุดลอกคลอง เป็นต้น

ด้าน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน​ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ กรมชลประทานได้วางแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปูไว้ 5 ​แนวทาง คือ ​1. จัดหาเครื่องสูบน้ำทดแทนเครื่องเดิมที่มีอายุการใช้งานมากว่า 10 ปี 2. จัดหาเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติของสถานีสูบน้ำทดแทนของเดิม​ 3. ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำและระบบโทรมาตร​ 4. ปรับปรุงประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำเดิมและใหม่​ และ 5. ปรับปรุงคลองชลประทานภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างปี​ 2567

กรมชลประทานได้วางแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยทั้งระยะเร่งด่วน​ ระยะกลาง และระยะยาว​ โดยในระยะเร่งด่วนได้เร่งทำการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำทั้งหมด ส่วนระยะกลางมีแผนปรับปรุงคลอง 7 สาย ตามแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ คลองพระองค์ไชยานุชิตคลองปีกกา คลองสำโรง คลองด่าน คลองประเวศน์บุรีรมย์ คลองอุดมชลขจร และคลองชวดพร้าว-เล้าหมู-บางพลีน้อย

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างบริเวณสะพานน้ำยกระดับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร มีการขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มความจุของบ่อหน่วงน้ำ เพิ่มกำลังการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำเดิม สร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากคลองขายทะเลลงสู่อ่าวไทย รวมทั้งพัฒนาระบบพยากรณ์ฝนและน้ำท่วม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ให้ติดตามสถานการณ์ล่วงหน้า และใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น เตรียมพร่องน้ำในคลองต่างๆ

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำหรือแผนเผชิญเหตุ กรณีปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือไหลมาสมทบมากจนมีระดับความสูงกว่าระดับเฝ้าระวัง จะพร่องน้ำในคลองชายทะเล โดยสถานีสูบน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นแก้มลิงออกสู่ทะเล ควบคุมให้อยู่ในระดับ ๐.๐๐ ม.รทก. มีตามแนวคันพระราชดำริควบคุมอาคารชลประทานไม่ให้น้ำหลากเข้าไปในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนกรณีคลองแสนแสบ คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองสำโรง มีระดับน้ำสูงกว่าระดับเฝ้าระวังจะประสานกับสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อระบายน้ำผ่านแนวคันพระราชดำริ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้เตรียมแผนพร่องน้ำในลำคลองต่างๆ ลงในช่วงที่คาดว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอรับน้ำเพื่อระบายลงสู่ทะเล