ม.พะเยา ขับเคลื่อนโคขุน-เกษตรอินทรีย์ สร้างสินค้าคุณภาพ เพิ่มมูลค่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ (ผศ.น.สพ.) สมชาติ ธนะ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านการวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชน ทำงานศึกษาวิจัยและมีส่วนพัฒนาการผลิตเนื้อโคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา สามารถลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพของเนื้อโคขุนให้มีคุณภาพดีกว่าเนื้อโคต่างประเทศ ปัจจุบัน กำลังผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยริเริ่มจากงานวิจัยสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์อันมีใบรับรองคุณภาพมาตรฐานอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพวางจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้บริโภคคนพะเยา สินค้าผักสลัดหกชนิด สินค้าข้าวอินทรีย์ ข้าวฮางงอกอินทรีย์ และลิ้นจี่อำเภอแม่ใจ อันเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีตรารับรอง กำลังจะวางจำหน่ายตามพื้นที่ขายสินค้าของจังหวัดพะเยา ช่องทางออนไลน์

ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ กับเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่

อาจารย์สมชาติ เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552 เริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอน สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จำได้ตอนนั้นโครงสร้างฟาร์มปศุสัตว์สำหรับการสอนนิสิตสัตวศาสตร์ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ต้องทำเรื่องขอพื้นที่สร้างโรงเรือน หาไก่ แพะ โค เพื่อให้นักศึกษาฝึกเรียนในภาคปฏิบัติ พอทำงานส่วนนั้นเสร็จก็เริ่มทำงานวิจัย ทำงานบริหารวิชาการ จากการศึกษาข้อมูลของจังหวัดพะเยาก็พบว่า พะเยาเป็นเมืองเล็กเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคมาก ครอบครัวของตนเองมีอาชีพทางการเกษตร ทำนา เลี้ยงโค ก็คิดว่าน่าจะมีการผลักดันการเลี้ยงโค เมื่อค้นข้อมูลพบว่า อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา มีศักยภาพ มีเกษตรกรเลี้ยงโคขุนลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์จำหน่ายให้กับสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร

ช่วงนั้นเป็นช่วงหมอกควัน มีการเผาป่าและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ จังหวัดพะเยาก็เป็นจังหวัดที่มีการทำการเกษตรเป็นหลัก และมีผลผลิตส่วนเหลือจากการทำการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด เพื่อลดการเผาจึงได้นำมาทดลองหมักกับเชื้อจุลินทรีย์ที่เกษตรกรหาได้ง่ายในพื้นที่ คือหมักข้าวแป้งหรือแป้งเหล้าบ้านเรา พยายามหาวัตถุดิบที่ชาวบ้านหาได้ หลังจากนั้นทดลองผสมกับกากน้ำตาล ผสมรำข้าว ผลวิเคราะห์พบว่ามีโปรตีนในอาหารสัตว์มากขึ้น สมัยก่อนต้นทุนอาหารโคขุนค่อนข้างแพง เฉลี่ยวันละ 90 บาท ต่อตัว อาหารหลักคือกากเบียร์ซึ่งต้องสั่งจากจังหวัดราชบุรี สระบุรี เพื่อเลียนแบบการเลี้ยงวัวแบบญี่ปุ่น ทาจิมะ (Tajima) สายพันธุ์วากิล (Wagyu) เมื่อเราหมักอาหารด้วยแป้งเหล้า โคก็จะกินอาหารที่มีระดับแอลกอฮอล์เล็กน้อยทำให้ผ่อนคลาย กินอาหารได้เยอะ พักผ่อนมาก ทำให้โคขุนโตไวและได้เนื้อคุณภาพมีไขมันแทรกเยอะ เราสามารถลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์จากวันละ 90 บาท เหลือเพียง 50 บาท ต่อวัน

ร้านโคขุนของสหกรณ์
ผลิตภัณฑ์จากลิ้นจี่ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา

พฤติกรรมการกินเนื้อโคแบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “เนื้ออุ่น” คือเนื้อโคปกติที่กินบ้านเรา เช่น เมนูลาบ เมนูแกง ส่วนเนื้ออีกประเภทคือ “เนื้อเย็น” หลังเข้าโรงเชือดต้องเอาเข้าห้องเย็นอีก 10-14 วัน เพื่อบ่มเนื้อ ทำให้เนื้อมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยทำให้เนื้อนุ่ม มันเป็นวัฒนธรรมการกินในประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น เนื้อโคขุนจึงราคาแพงมากกว่าเนื้อทั่วไปเพราะกระบวนการผลิต เนื้อโคสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า พ่อแม่พันธุ์คือตัวไหน ผสมพันธุ์เมื่อใด เลี้ยงอย่างไร

ศักยภาพเนื้อโคขุนพะเยากับต่างประเทศ เนื้อโคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยามีศักยภาพมาก สามารถผลิตเนื้อไขมันแทรกได้ถึงเกรด 5 อันเป็นเกรดสูงสุดในเนื้อโคขุนพันธุ์ทาจิมะสายพันธุ์วากิว เปรียบเทียบกับสิบปีก่อนเราผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพเฉลี่ยเกรด 2 ตอนนี้ผลิตเนื้อโคขุนเฉลี่ยเกรด 3, 3.5 ถึง 4 สมัยก่อนมีปัญหาต้นทุนการผลิตเรื่องโรงเชือด ต้องส่งโคขุนไปเชือดที่จังหวัดสกลนคร โคขุนเมื่อถูกขนส่งเดินทางน้ำหนักก็ลดลงตัวละ 60-70 กิโลกรัม เมื่อเข้าโรงเชือดเราได้แต่เนื้อ ส่วนเครื่องใน หัว เท้า หาง หนัง โรงเชือดเก็บไว้เพื่อคิดเป็นค่าบริหารจัดการโรงเชือดซึ่งในส่วนนี้จำหน่ายได้ในราคาประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อตัว เราจึงผลักดันให้มีการของบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ผ่านสำนักงานปศุสัตว์พะเยา เพื่อสร้างโรงเชือดที่อำเภอดอกคำใต้สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการได้อีก ทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งยังอยู่ที่พะเยาอีกทางหนึ่ง

 

 

“บ้านเรามีทัศนคติที่ผิดคิดว่าเนื้อโคจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าประเทศไทย เนื้อโคต่างประเทศเขาเลี้ยงปล่อยตามทุ่งหญ้า แต่บ้านเราโคขุนในคอก การเลี้ยงดูโคขุนมีความประณีตละเอียดอ่อนกว่า คุณภาพเนื้อโคต่างประเทศสู้ประเทศไทยไม่ได้ หลายคนสั่งเนื้อโคจากต่างประเทศมาทำลูกชิ้นก็มี แต่ถ้าเป็นเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมจากต่างประเทศตามภัตตาคารก็เป็นเนื้อพรีเมี่ยมอีกเกรด ปัจจุบันต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ส่งคนเข้ามาศึกษาดูงานเลี้ยงโคขุนเพื่อเป็นฐานการผลิต ส่วนจังหวัดพะเยาก็ส่งโคมีชีวิตไปขายต่างประเทศจำนวนมาก ประเทศจีนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ตัว มาเลเซียเดือนละ 600-700 ตัว” อาจารย์สมชาติ กล่าว

ทิศทางการพัฒนาโคขุนพะเยา คือการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิต เชื่อมกับการตลาดโคเนื้อแปรรูปและโคมีชีวิต มีการจัดกระบวนการและแบ่งปันส่วนแบ่งกำไรอย่างเหมาะสม ตลาดน่าจะเติบโตได้อีก แต่เราต้องมีการแปรรูปสินค้า เรามีโคสายพันธุ์ดี มีโรงเชือดที่มีคุณภาพ มีเนื้อคุณภาพดี พะเยาน่าจะมีสินค้าอันเป็นอัตลักษณ์ เป็นสินค้าของฝากหรือเป็นร้านอาหารเมนูสเต๊ก โคขุนมีเนื้อหลายส่วนหลายราคา เนื้อบางส่วนที่มีคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพง 

ลิ้นจี่ในมุ้ง
โรงเลี้ยงโคขุน

ปรับเปลี่ยนสู่การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ใน พ.ศ. 2562 อาจารย์สมชาติได้ทำโครงการวิจัยและบริการวิชาการ ซึ่งจากการได้พูดคุยกับห้างเลมอนฟาร์มพบว่า ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มสูงขึ้น และต้องพัฒนาลิ้นจี่กลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย อำเภอแม่ใจ ให้มีคุณภาพสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และตนเองก็อยากจะพัฒนาปศุสัตว์อินทรีย์ ไข่ไก่อินทรีย์เพื่อส่งจำหน่ายห้างเลมอนฟาร์ม จึงได้ศึกษามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในตอนนั้นพบว่ามาตรฐานที่รับรองเกษตรอินทรีย์มีหลายหน่วยงาน เช่น ออร์แกนิคไทยแลนด์

โดยกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว หรือ PGS ของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นส่วนราชการที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา งบประมาณ และเกษตรกรชาวบ้านเข้าถึงมาตรฐานยาก แต่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS มีกลไกของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน มีชาวบ้านหรือเกษตรกรเป็นจุดศูนย์กลางเป็นผู้เริ่มต้น โดยใช้พื้นที่เป็นที่ตั้ง และสมาพันธ์ถูกตั้งขึ้นในแต่ละจังหวัด มีการอบรมพัฒนาผู้ตรวจแปลง มีการใช้เทคโนโลยี มีการสลับกันตรวจแปลงอินทรีย์ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณ ตอนนี้อาจารย์สมชาติรับเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา การดำเนินงานในปีแรกมีงบประมาณการจัดอบรมจากงบบริการวิชาการที่ตนเองได้รับ แต่เมื่องบประมาณหมดลงก็เลยเชิญส่วนงานอื่นเข้ามาร่วมสนับสนุน

ข้อจำกัดของการออกใบรับรองโดยส่วนราชการคือต้องอยู่ในรอบงบประมาณ ไม่มีความยืดหยุ่น เกษตรกรเห็นว่าพวกเรามีเวลาก็เลยขับเคลื่อนกันเอง สร้างมาตรฐานในการยอมรับร่วมกัน ตอนนี้หลายคนได้รับใบรับรอง สามารถตรวจสอบการปลูกพืชอินทรีย์ สินค้าหลายตัวเมื่อมีใบรับรองก็มียอดขายเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการตลาดได้กว้างขึ้น พวกเราเริ่มต้นจากศูนย์สร้างเป็นเครือข่าย สร้างระบบการตรวจสอบแปลง ระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าสินค้าปลอดภัย ส่วนมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนเครื่องมือการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง

ด้านการตลาดขณะนี้สมาพันธ์กำลังสร้างจุดจำหน่ายสินค้าบริเวณข้างโรงพยาบาลพะเยา เราไม่มีงบประมาณแต่มีการเชื่อมโยงเพื่อขอสนับสนุน ตอนนี้ได้รับงบประมาณการงานวิจัยด้านชุมชนนวัตกรรม เรื่องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยาสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม เพื่อให้ตัวเกษตรกรที่เป็นนักวิจัยร่วม สร้างเขาเป็นนวัตกรชุมชน หรือนักวิจัยชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่เขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการผลิตในแปลงไม่ว่าจะเป็นการจัดการแมลงศัตรูพืช การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าผลผลิต แล้วให้พวกเขาได้ถ่ายทอดให้กับบุคคลที่สนใจ เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กำลังเติบโตมี กลุ่มผักสลัดหกชนิด กลุ่มข้าวที่ได้รับรองแปลงใหญ่ ลิ้นจี่แม่ใจที่เชื่อมตลาดห้างเลมอนฟาร์มมา 3 ปี เป็นลิ้นจี่พรีเมี่ยม มีการบริหารจัดการเรื่องการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูโดยการล่อผีเสื้อตัวแกมมาทำลาย ทำให้ไม่มีวางไข่ที่เป็นหนอนเจาะขั้วผลลิ้นจี่ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแทนการกำจัดด้วยสารเคมี มีการกางมุ้งครอบต้นลิ้นจี่ มีการห่อช่อผล การใช้กับดักกาวเหนียว สามารถขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัว อนาคตสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตแน่นอน เพราะกลุ่มผู้บริโภคมีการศึกษามากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เลือกซื้อสินค้าที่ดีปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่เกษตรกรต้องมีความซื่อสัตย์ในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำกินในครัวเรือน ผลิตเองในแปลง เหลือก็แจกแล้วค่อยขาย หากเราใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมี แล้วบอกไม่ใช้ ความซื่อสัตย์มันไม่มีตั้งแต่แรก

เนื้อโคขุน

 

กลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย ที่ทำงานวิจัยกับอาจารย์

การทำงานเราพยายามรบกวนชาวบ้านให้น้อยที่สุดเพราะคนทำการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ใช่คนร่ำรวย ตอนแรกคิดจะเก็บใบรับรองใบละ 300 บาท เพื่อนำมาจัดอบรม การตรวจแปลงอินทรีย์ แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ห้างท็อป พะเยา ช่วยเรื่องอาหารกลางวัน อาหารว่าง ในการอบรม ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอันใดในการขอใบรับรอง

 ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วน จาก ผ.ศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ และ ร.ต.อ. ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)