ประเทศไทยประกาศความสำเร็จปักหมุดพื้นที่ต้นแบบการปลูกข้าวหอมมะลิยั่งยืน สร้างรายได้ ขยายโอกาสชาวนาเชื่อมต่อผลผลิตสู่ตลาดโลก

โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) บรรลุเป้าหมายนำร่องการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวยั่งยืน สร้างโอกาสส่งออกข้าว 1.6 แสนตันให้ชาวนานับหมื่นราย เพื่อผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อมปลอดภัย

อุบลราชธานี / 2 กันยายน 2565 – ที่เวทีการประชุมเสวนาทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวที่ยั่งยืน และพิธีปิดโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) (Market-oriented Smallholder Value Chain: MSVC Thailand) จัดขึ้น ณ ห้องประชุม เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กรมการข้าว บริษัท โอแลม อกริ (Olam Agri) และคร็อป ไลฟ์ (Crop Life) ร่วมกันประกาศความสำเร็จ ปักหมุดพื้นที่ต้นแบบการปลูกข้าวหอมมะลิยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมต่อตลาดส่งออกผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยไทย

โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของเยอรมัน (BMZ) และโครงการ develoPPP มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ถึงกันยายน พ.ศ. 2565 ในพื้นที่เป้าหมาย 2 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี และสุรินทร์ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาต้นแบบห่วงโซ่คุณค่าของข้าวยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรายย่อย 19,000 คนในพื้นที่สามารถผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนได้มากถึง 1.6 แสนตัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเทคนิคการทำนาลดโลกร้อนได้ถึง 21%

นอกจากนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการกว่า 8,600 รายยังได้รับการรับรองจากเวทีข้าวยั่งยืน หรือ Sustainable Rice Platform (SRP) องค์กรระดับนานาชาติ ประกาศความพร้อมการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืน ช่วยลดโลกร้อนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ

ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว และอดีตอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนาไทยคือเป้าหมายสูงสุดของกรมการข้าว จึงได้ทำงานร่วมมือกับ GIZ โอแลม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) เพื่อแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้และนำมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืน SRP มาปฏิบัติใช้ เกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SRP จะได้รับเงินพรีเมียมจากโอแลม เป็นประโยชน์กับทั้งชาวนาและกับกรมการข้าว ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ และที่สำคัญที่สุดคือตัวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ให้ความร่วมมือและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาข้าวไทย”

ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) หรือ MSVC Thailand กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการว่า “เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีพื้นที่การทำนาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ไร่ การขาดความรู้และทักษะใหม่ๆ ในการจัดการต้นทุนและรายได้ อีกทั้งความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตและตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่แน่นอน โครงการเล็งเห็นความสำคัญกับแนวทางการตลาดนำการผลิตและต้องการสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นระบบ จึงได้ดำเนินการฝึกอบรมทักษะและแนะนำเทคนิคการทำนารูปแบบใหม่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดโลกร้อน และเพิ่มผลผลิตข้าวที่ยั่งยืนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลลัพธ์ของโครงการสามารถสะท้อนให้เห็นได้อย่างแท้จริงว่า เราสามารถพัฒนาต้นแบบห่วงโซ่ข้าวยั่งยืนได้เป็นผลสำเร็จได้ และเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ เพื่อนำไปต่อยอดการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนเพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสการแข่งขันให้กับเกษตรกรรายย่อยไทยในตลาดส่งข้าวในระดับนานาชาติ”

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เกษตรกรในพื้นที่นำร่องได้นำเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งการใช้ปุ๋ยสั่งตัด การจัดการฟางข้าวและตอซัง การใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวแห้งและการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้วยังสามารถลดใช้สารเคมีในการปลูกข้าว ช่วยฟื้นฟูสภาพดินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคข้าวไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวนราวดี โหมดนุช ผู้จัดการด้านความยั่งยืน บริษัท โอแลม อกริ กล่าวว่า ในฐานะหุ้นส่วนโครงการ บริษัทร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานข้าวในระดับนานาชาติ กระบวนการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การทำงานที่ผ่านมา ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เป้าหมายสามารถผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนที่ได้มาตรฐานสากลมากถึง 1.6 แสนตันข้าวเปลือก ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ

“โครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) ไม่เพียงส่งเสริมและพัฒนาการการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างรายได้ด้วยการเชื่อมต่อเกษตรกรกับตลาดรับซื้อข้าวที่ผลิตตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนนำร่อง 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวทางนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ผลิตคือเกษตรกรรายย่อยและผู้รับซื้อ สะท้อนให้เห็นศักยภาพการเชื่อมโยงการตลาดและการส่งออกข้าวยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและโอกาสส่งออกข้าวหอมมะลิยั่งยืนในตลาดโลก เพราะปัจจุบัน นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องราคา คุณภาพ และความปลอดภัย ผู้บริโภคยุคใหม่ยังได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตข้าวเป็นปัจจัยเพิ่มเติมอีกด้วย” นางสาวนราวดี กล่าว

นางอุดร คำวงสา หนึ่งในเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และผ่านการรับรองมาตรฐาน SRP กล่าวว่า การเข้าร่วมอบรมกิจกรรมที่จัดผ่านโครงการทำให้ตนเองในฐานะเกษตรกรต้นน้ำสามารถเรียนรู้ทักษะและเทคนิคการจัดการนารูปแบบต่างๆ และนำมาปรับใช้กับพื้นที่นาของตนเองในอุบลราชธานี ยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่อื่นๆ ของโครงการ

ในฐานะผู้ผลิตข้าวต้นน้ำ เราต้องการผลิตข้าวและอาหารที่ปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัวและผู้บริโภค จำนวนสมาชิกโครงการที่เพิ่มขึ้นจากเพียงไม่กี่ร้อยรายเมื่อตนเองเข้าร่วมโครงการเป็น 19,000 รายเมื่อสิ้นสุดโครงการ คือเครื่องยืนยันความตั้งใจของเกษตรกรไทยในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการของผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เรากินข้าวที่เราปลูกเอง เราอยากให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศรู้ว่า ข้าวหอมมะลิที่เราปลูกปลอดภัยและสร้างความยั่งยืนต่อชุมชมของเราและสิ่งแวดล้อม อยากให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าข้าวหอมมะลิยั่งยืนของไทยมีคุณภาพดี ปลอดภัยและผลิตตามมาตรฐานที่ยั่งยืน ไม่ว่าข้าวของเราจะส่งออกไปมุมใดของโลก” นางอุดร กล่าว

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมนีที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลกและองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 23,000 คน

โอแลม อกริ คือบริษัทในเครือโอแลม กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำการผลิตอาหาร อาหารสัตว์ และธัญพืชที่มีตลาดและความเติบโตสูง มีฐานการผลิตอยู่ทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา ด้วยประสบการณ์ความชำนาญในกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกตลอดระยะเวลา 30 ปี ตอบโจทย์ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 40 ล้านเมตริกตันต่อปี ผ่านแนวคิดการผลิตที่สร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอแลม อกริ เว็บไซต์ : www.olamagri.com