พนา เพิร์ล แอนด์ เจมส์ ธุรกิจจิวเวลรี่ที่ผ่านวิกฤตโควิดด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

จากภาพรวมของธุรกิจจิวเวลรี่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างซบเซา อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ และผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหยุดชะงักหรือปิดตัวลง แต่สำหรับ พนา เพิร์ล แอนด์ เจมส์ (PANA Pearl & Gems) ร้านค้าส่งเครื่องประดับและจิวเวลรี่ ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 18 ปี กลับยังสามารถยืนหยัดและต่อยอดธุรกิจได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แถมยังคืนกำไรสู่สังคมด้วยการทำกิจกรรม CSR ด้านการศึกษาด้วย

“ออย – ธาวินี พนาเชวง” คนรุ่นใหม่ที่กลับมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว จากร้านจำหน่ายจิวเวลรี่ เป็นร้านค้าส่งจิวเวลรี่ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ประกอบการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดย 90% เป็นลูกค้าในประเทศ และอีก 10% เป็นผู้ซื้อจากต่างชาติที่เข้ามาซื้อสินค้าในไทย

ธาวินี เล่าว่า เธอเรียนจบทางด้านนิเทศศิลป์ และมีความคุ้นเคยกับงานจิวเวลรี่มาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเปิดร้านขายจิวเวลรี่อยู่แล้ว หลังจากเรียนจบและได้ไปทำงานมาระยะหนึ่ง ก็กลับมาทำธุรกิจที่บ้านโดยขยับขยายจากร้านจำหน่ายจิวเวลรี่ มาทำเป็นร้านค้าส่ง พนา เพิร์ล แอนด์ เจมส์ (PANA Pearl & Gems) ตั้งอยู่ที่ถนนตีทอง (ย่านบ้านหม้อ) เขตพระนคร กรุงเทพฯ

เติมความรู้ เสริมความแกร่งธุรกิจจากโครงการพัฒน์

แม้จะมีความคุ้นเคยกับงานจิวเวลรี่ แต่เมื่อต้องเข้ามาทำธุรกิจด้วยตัวเอง ธาวินีก็มองว่าความรู้ที่เธอมีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ จึงได้เข้าไปเรียนในโครงการพัฒน์ (Plus) ภายใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอน ซึ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยการให้การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่จําเป็นต่อการประกอบธุรกิจ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักการสําคัญในการพัฒนา

“ตอนไปเรียนโครงการพัฒน์ เราไม่ได้เห็น mind map ทั้งหมดของโครงการว่าสอนอะไร ก็คิดว่าเราไปเรียนรู้เรื่อง marketing กับ management เพราะว่าเราไม่ได้เรียนจบด้าน MBA เราจบสายอาร์ต แล้วก็ทำธุรกิจมาเรื่อยๆ โดยที่เป็นความรู้ส่วนตัวล้วนๆ แต่พอเรียนไปเราก็มองเห็นว่า สิ่งที่เราอยากจะพาธุรกิจไปคือพาไปสู่จุดที่ยั่งยืน เป็นจุดที่เราสามารถส่งต่อให้หลานหรือให้คนอื่นได้ นี่คือโนว์ฮาวที่เราได้เรียนรู้จากโครงการพัฒน์ ซึ่งโนว์ฮาวในโครงการพัฒน์จะอ้างอิงทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้วยแนวคิดแบบนี้ ด้วยการทำงานแบบนี้”

ธาวินี ยังบอกอีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับทุกธุรกิจและกับทุกคน คือสามารถใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ด้วย หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการเกษตร แต่ด้วยหลักการที่สอนให้ต้องมีเหตุผล มีความรู้ มีภูมิคุ้มกัน สามสิ่งนี้ถือเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจด้วย นั่นคือ ต้องเดินในธุรกิจแบบมีความรู้ ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และมีการวางแผนสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจตัวเอง ซึ่งคนที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวนี้ได้ จึงต้องมีทั้งความรู้คู่คุณธรรม โดยยกตัวอย่างธุรกิจของเธอเองว่า หากเธอกดราคาช่าง ช่างก็อยู่ไม่ได้ เมื่อช่างอยู่ไม่ได้ ธุรกิจของเธอก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

“เพราะฉะนั้นมันต้องไปด้วยกัน จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เรื่องความพอเพียงไม่ได้แปลว่าเราไม่มี แต่เรามีพอ เท่าที่ควรจะมี และเราใช้ได้เท่าที่เราไม่เดือดร้อนและไม่เบียดเบียนใคร ซึ่งในการทำธุรกิจเราต้องพัฒนาคนรอบข้างไปด้วย ไม่ใช่เราดีอยู่คนเดียวแล้วคนอื่นไปกับเราไม่ได้” ธาวินี กล่าว

ผ่านวิกฤตโควิดด้วยการทำธุรกิจที่จริงใจ

ช่วงโควิดถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งธาวินีบอกว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากจิวเวลรี่จัดเป็นของฟุ่มเฟือย ทำให้เป็นสินค้าที่คนจะตัดออกจากรายจ่ายก่อน แต่เธอยังโชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ยังต้องเปิดขายสินค้า แม้ว่าลูกค้าอาจจะน้อย ทำให้สินค้าของเธอยังพอขายได้

ขณะเดียวกัน เธอก็มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้ธุรกิจรอดไปด้วยกัน โดยจะคอยให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับลูกค้าจริงๆ เช่น หากลูกค้าต้องการจะสต๊อกของ แต่สถานการณ์ตลาดยังดูไม่ค่อยดี เธอก็จะคิดเผื่อและแนะนำลูกค้าไม่ให้สต๊อกของ เป็นต้น ซึ่งวิธีการคิดและทำงานแบบนี้อาจจะทำให้ยอดขายในธุรกิจของเธอไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับธุรกิจจิวเวลรี่ทั่วไป แต่นั่นก็ทำให้เธอได้กลุ่มลูกค้าที่เชื่อมั่นและทำธุรกิจกับเธอมาอย่างยาวนาน

“ความยากของธุรกิจนี้คือ การทำงานในหน้าที่ตัวเองให้ดีและยืนระยะให้ได้ยาวๆ เพราะธุรกิจจิวเวลรี่เป็นของฟุ่มเฟือย ถ้าเราทำงานฉาบฉวย เราเป็นธุรกิจ B2B ลูกค้าที่อยู่กับเราก็รู้สึกได้อยู่แล้วว่างานของเราเป็นอย่างไร เพราะนี่เป็นงานฝีมือ ช่างแต่และคนมีมาตรฐานต่างกัน การรักษามาตรฐานงานและยืนระยะในการทำงานที่ตอบโจทย์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจนี้ แนวทางการทำงานของเราจึงใช้วิธีเราเป็นคนดีไซน์งาน และใช้ช่างที่เป็น outsourse ทำงานเป็นพาร์ตเนอร์กัน เวลาเรามีโนว์ฮาวอะไรก็ส่งต่อให้ เพื่อให้คุณภาพงานออกมาดี และถ้าเขาจะใช้โนว์ฮาวนี้ไปรับงานอื่นได้ด้วย เรายินดีค่ะ”

แม้ว่าธุรกิจจิวเวลรี่จะดูเป็นธุรกิจที่หรูหรา แต่ก็มีความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก และนั่นจึงทำให้มีแบรนด์จิวเวลรี่ที่แข็งแกร่งอยู่ในตลาดค่อนข้างน้อย ซึ่งธาวินีเองก็มองเห็นโอกาสในจุดนี้ เธอจึงวางแผนที่จะก้าวต่อไปในธุรกิจคือ การสร้างแบรนด์ PANAMADE ขึ้น และโปรโมตไปให้ถึง end-user หรือผู้บริโภคด้วย โดยเธออธิบายต่อว่า…

“สถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่าการขายของได้ในวันนี้ ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงในอนาคต มันไม่มีหลักประกันอะไรที่เพียงพอ ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไซซ์ S และ XS การจะสร้างแบรนด์ก็ต้องใช้งบจำนวนไม่น้อย เราจึงเกิดแนวคิดในการทำแบรนด์ PANAMADE ขึ้นมา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางธุรกิจให้กับร้านค้า เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงมากขึ้นในเรื่องแบรนด์ โดย PANAMADE จะเป็นการรับประกันมาตรฐานงานจิวเวลรี่ ที่จะทำให้ร้านค้ามั่นใจได้ว่างานที่ขายอยู่นั้นมีมาตรฐานสูง มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าเครื่องประดับส่งออก ลูกค้าและผู้ใช้งานก็มั่นใจได้ว่าเครื่องประดับที่ซื้อ มีคุณภาพไม่ต่างจาก Fine jewelry และมีการรับประกันดูแลตลอดอายุการใช้งานด้วย ซึ่งจะเป็นส่งเสริมการตลาดให้กับร้านค้าพันธมิตร ทุกร้าน”

ทำธุรกิจยั่งยืนและแบ่งปันเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน

การส่งต่อโอกาส หรือการถ่ายทอดความสำเร็จ คืนกำไรให้แก่สังคม ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในโครงการพัฒน์ และเป็นที่มาในการทำโครงการ CSR โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการหลากหลายแบรนด์ ซึ่งหนึ่งในโครงการ CSR ที่ พนา เพิร์ล แอนด์ เจมส์ ได้ร่วมสนับสนุนและจัดทำขึ้นก็คือ โครงการ “ตัดเสื้อน้องแต่พอตัว” ที่มุ่งแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ในเรื่องการขาดแคลนชุดนักเรียน ซึ่งถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของเด็กๆ โดยเริ่มต้นจากเอสเอ็มอี 12 แบรนด์ได้ทำโปรโมชั่น แล้วนำรายได้ก้อนแรกมาเริ่มต้นตัดชุดนักเรียนให้ โดยจะสั่งซื้อชุดนักเรียนจากชุมชนที่มีการผลิตชุดนักเรียนอยู่แล้ว จากนั้นก็มาช่วยสนับสนุนงานสหกรณ์ในโรงเรียน เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนมาใช้ในการซ่อมแซมชุด หรือจัดหาชุดใหม่เพิ่มเติมในปีต่อๆ ไป ซึ่งโรงเรียนแรกที่เข้ามาร่วมโครงการก็คือ โรงเรียนวัดคลองโมง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ มีชุดนักเรียนใส่อย่างเพียงพอและพอดีกับขนาดตัวจากการใช้โมเดลยืมคืนชุดนักเรียนแล้ว กิจกรรมสหกรณ์ยังทำให้เด็กๆ ได้มีทักษะติดตัวจากการเรียนรู้เรื่องการซื้อขาย การจดบัญชีรายรับรายจ่าย อีกด้วย

โรงเรียนขนาดเล็กที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 080-995-4245 และ 081-825-3280 อีเมล [email protected] และหากสนใจธุรกิจจิวเวลรี่ สามารถติดต่อขอคำแนะนำในการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ที่ PANA Pearl & Gems เลขที่ 296 ถนนตีทอง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 080-995-4245


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354